วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

บทความจากพระพิทยา เสวกพันธ์ เสนอ รศ.ดร. สุภัทร ปัญญาทีป


สารนาถ
ความหมาย
สถานที่นี้เดิมชื่อ อิสิปตนมฤคทายวัน หรือ มฤคทายวัน คำว่า อิสิปตนะ แปลว่า ที่ตกแห่งฤษี อิสิ แปลว่า ฤษี ปตนะ แปลว่า เป็นที่ตก หรือที่ประชุม กล่าวคือ ที่นี่เป็นที่ชุมนุมของฤษี มฤคทายวัน หรือ มิคทายวัน แปลว่า ป่าเป็นที่พระราชทานอภัยแก่เนื้อ (สัตว์ชนิดหนึ่ง) ฉะนั้นแปลรวมกันว่า เป็นสถานที่พระราชทานเนื้อ (เขตอภัยทานแก่กวางเนื้อ) และเป็นที่ประชุมของฤษีซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญพรตภาวนาถือศีล
มีความสัมพันธ์กับชื่อปัจจุบันที่เรียกว่า สารนาถ ซึ่งมาจากคำว่า สารังคนาถ สารังคะ แปลว่า เนื้อ (กวางเนื้อ) นาถ แปลว่า ที่พึ่ง แปลรวมกันว่า เป็นสถานที่พึ่งของกวางเนื้อ (ซึ่งมีที่มาปรากฏในชาดกที่ ๑๒ เรื่อง นิโครธมิชาดก1) ถึงเหตุที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัยเนื้อ
เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์อุบัติเป็นเนื้อหัวหน้าฝูง สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเมืองพาราณสีเสวยเนื้อเป็นประจำ พวกเนื้อเลยตกลงกันจัดเรียงลำดับวาระของเนื้อที่ไปสู่เขียง  วันหนึ่งมาถึงวาระของแม่เนื้อมีครรภ์ใกล้จะคลอด พระโพธิสัตว์ทราบเรื่องมีความสงสารก็สละชีวิตของตนแทน เรื่องก็ไปถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงถามถึงเหตุ พญาเนื้อได้แสดงธรรมแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทำให้รู้สึกสลดพระทัยที่พระองค์มีแต่จะเบียดเบียนแต่พญาเนื้อเป็นสัตว์แท้ ๆ แต่จิตใจประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์ยอมสละชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น ในที่สุดก็เลยพระราชทานอภัยเนื้อทั้งหมด เป็นเหตุให้บริเวณนี้เป็นที่อาศัยของเนื้อโดยไม่ถูกเบียดเบียน จึงเรียกกันว่า มิคทายวัน แปลว่า ที่พระราชทานอภัยแก่เนื้อ

เหตุการณ์สำคัญ

ณ สถานที่แห่งนี้เราเรียกว่า ที่กำเนิดพระพุทธศาสนา (Birthplace of Buddhism2)อิสิปตนะมฤคทายวันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเมื่อวันเพ็ญกลางเดือน ๘ ก่อน พ.ศ. ๑ ไป ๔๕ ปี สถานที่แห่งนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกมีดังนี้
๑.     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
๒.     พระอรหันตสาวกเกิดขึ้นครั้งแรก ณ สถานที่แห่งนี้
๓.     พระสงฆ์ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรสรณาคมน์ก็ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ทำให้ครบพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ ณ สถานที่แห่งนี้
๔.     พระพุทธองค์ทรงได้สาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๖๐ รูป เป็นรุ่นแรก และได้ส่งธรรมทูตไปเผยแผ่ธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากที่นี่
๕.     พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาเป็นพรรษาแรกหรือปีแรก
๖.     เกิดอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยคนแรก ณ ที่แห่งนี้

อิสิปตนะมฤคทายวันในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง อิสิปตนะมฤคทายวัน ที่เป็นเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพระพุทธเจ้าโดยตรงกับพุทธสาวกบ้าง กับอนุสัมบันบ้าง หรือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพุทธสาวกกันเองบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดที่พอกล่าวโดยสังเขปดังนี้
ธัมจักกัปปวัตนสูตร1 ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา หลังจากที่ตรัสรู้เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญคือ
๑. ทรงชี้ทางที่ผิดอันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (ทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง) ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
๒. ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยละเอียด
๓. ทรงแสดงว่าทรงรู้ตัวอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทรงรู้หน้าที่อันควรทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และทรงรู้ว่าได้ทรงทำหน้าที่เสร็จแล้ว จึงทรงแน่พระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว (อันแสดงว่าทรงปฏิบัติทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว).
เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระโกญทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม2 และได้ขอบวชก่อน ต่อมา พระวัปปะ กับพระภัททิยะ สดับรับฟังพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรมและได้ขอบวช ต่อมาพระมหานามะกับพระอัสสชิ สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรมและได้ขอบวช เป็นอันได้บวชครบทั้ง ๕ รูป3
อนัตตลักขณสูตร4 ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีใจความสำคัญ คือ                                                                                                              ๑.  รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึกทุกข์ สุขหรือเฉย ๆ)สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความคิดหรือเจตนา) และวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทาง หู ตา เป็นต้น)ไม่ใช่ตน ถ้าเป็นต้นก็จะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะไม่ใช่บังคับบัญชาไม่ได้
๒. ตรัสถามให้ตอบเป็นข้อ ๆ ว่า ขันธ์ ๕ (มีรูป เวทนา เป็นต้น )เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ตอบว่าไม่เที่ยง. สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์หรือสุข ? ตอบว่าเป็นทุกข์. สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ? ตอบว่าไม่ควร
๓. ตรัสตอบสรุปว่าเพราะเหตุนั้น ควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า รูป เวทนา เป็นต้นนั้น ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
๔. ตรัสแสดงผลว่าอริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูปเป็นต้น เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพราะกำหนัดคลายจึงหลุดพ้น เมื่อหลุพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าสิ้นชาติอยู่จบพรหมจรรย์ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ภิกษุปัญจวัคคีย์มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ครั้งนั้นปรากฏพระอรหันต์รวม ๖ องค์ (รวมพระพุทธเจ้า)
แสดงอนุปุพพิกถาโปรดยสกุลบุตรกับครอบครัวพร้อมมิตรสหาย1 ความว่า ยสกุลบุตรเบื่อหน่ายชีวิตครองเรือนกลุ้มใจออกจากบ้านไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวันในเวลาเช้ามืด ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม เศรษฐีผู้เป็นบิดาออกตาม พบพระผู้มีพระภาคเจ้าสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.ในขณะที่นั่งฟังพระธรรมเทศนาที่แสดงแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา ยสกุลบุตรก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ และขอบวช ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลก ๗องค์ รุ่งเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปฉันที่เรือนเศรษฐีบิดา ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภริยาของพระยสะได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสิกาชุดแรกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ครั้นแล้วก็มีเพื่อนของพระยสะ ๔ กับอีก ๕๐ คนตามลำดับ ได้ฟังพระธรรมเทศนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงมีพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๖๑ องค์
จัมมขันธกะ(ห้ามสวมเขียงเท้าใบตาล)2ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้รองเท้าใบตาล มีผู้ติเตียนเพราะไปตัดต้นตาลต้นเล็กทำให้เหี่ยวเฉา พระผู้พระภาคจึงทรงห้ามใช้รองเท้าใบตาลถ้าใช้ต้องอาบัติทุกกฏ
เภสัชขันธกะ (ห้ามฉันเนื้อมนุษย์)3 ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ผู้ฉันต้องอาบัติถุลลัจจัย. ภิกษุจะฉันเนื้อสัตว์ต้องพิจารณาก่อนขืนฉันทั้งไม่พิจารณาต้องอาบัติทุกกฎ (นางสุปปิยา อุบาสิกา เห็นภิกษุอยากฉันเนื้อ หาเนื้อไม่ได้ จึงตัดเนื้อตนเองปรุงอาหารถวาย)
จีวรขันธกะ (พระพุทธานุญาตผ้าปะ)4ภิกษุมีจีวรทะลุกำลังนั่งปะผ้าจีวร พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้มีการปะผ้าเมื่อเกิดการทะลุ
สัจจวิภังคสูตร 5พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องที่ทรงแสดงธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วตรัสให้คบพระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นผู้อนุเคราะห์แก่เพื่อนพรหมจารี ตรัสเปรียบพระสารีบุตรด้วยผู้ให้กำเนิด เปรียบพระโมคคัลลานะด้วยผู้เลี้ยวดู (แม่นม) พระสาริบุตรแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในมรรคสูงยิ่งขึ้นไป และพระสาริบุตรเป็นผู้อาจอธิบายอริยสัจจ์ ๔ โดยพิศดาร เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นเข้าสู่วิหาร. พระสาริบุตรก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อธิบายเรื่องอริยสัจจ์ ๔ โดยพิศดาร
ปฐมปาลสูตรที่ ๔1พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย เรื่องความหลุดพ้น และตรัสแก่มารผู้มีบาปว่าเราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงของมาร  ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็น ของมนุษย์  เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกของมาร  ดูกรมารผู้กระทำซึ่งความพินาศ  ท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว 
ทุติยปาลสูตรที่ ๕2ตรัสเหมือนปฐมปาลสูตร
ปัญจวัคคิยสูตร3พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา
รถการวรรคที่ ๒4ทรงแสดงถึงการที่พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ในเวลาไม่นาน คือ มีตาดี ขยัน ถึงพร้อมด้วยที่อยู่อาศัย (รู้จักคนกว้างขวาง) ทรงแสดงว่าภิกษุมีตาดี คือ รู้อริยสัจจ์ ๔ ขยันคือไม่ทอดในกุศลธรรม ถึงพร้อมด้วยที่อยู่อาศัยคือเข้าไปหาท่านผู้รู้เป็นครั้งคราวเพื่อไต่ถามปัญหา ก็จะถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลย์ในกุศลธรรมฉันนั้น
สูตรทั้งหมดนี้เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงที่อิสิปตนมฤคทายวัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย ๔๕ เล่ม

สารนาถในปัจจุบัน

อิสิปตนมฤคทายวันหรือสารนาถ ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี อันเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาฮินดูภายในแคว้น ยู.พี. คือ อุตรประเทศของรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน
สานาถ มีนิยามคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อจลเจดีย์ กำหนดตามพุทธนิทานว่า เป็นสถานที่อันพระพุทธเจ้าในอดีตเสด็จมาแสดงธรรมครั้งแรก ณ ที่แห่งนี้มาโดยลำดับทุกสมัย
หากกำหนดเส้นทาง ถือเอากรุงพาราณสี (เบนาเรส) มหานครแห่งฮินดูเป็นศูนย์กลาง จากสถานีเบนาเรส จะขึ้นรถไฟสายเล็กสายหนึ่ง คือ สาย OUTH AND TIRHUT RAILWAY  ไปลงสถานีสารนาถก็ได้ เป็นระยะทางเพียง ๑ ไมล์ ห่างจากสถานีนั้น มีรถลางวิ่งรับส่งตรงไปยังมฤคทายวันโดยสะดวกอีกต่อหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันการเดินทางไปสถานที่สำคัญแห่งนี้ สามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวกและใช้เวลาไม่นาน ก็ทำการสักการะบูชาและระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

บรรณานุกรม

คณะศิษยานุศิษย์วันล้ออายุ , อินเดียน้อย. ที .พี.พรินท์ . กรุงเทพ :  2539.

พระธรรมปิฎก, ตามทางพุทธกิจ . ธรรมสภา . กรุงเทพ : 2539.

ทรงวิทย์ แก้วศรี , พุทธสถานในเอเชียใต้. โรงพิมพ์พระจันทร์. กรุงเทพ 2519.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. โรงพิมพ์หาจุฬาลงกรณราชวิทยา. กรุงเทพ : 2539

เสถียร  พันธรังษี, พุทธสถานในชมพูทวีป,พิมพ์ครั้งที่ 8. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณารชวิทยาลัย. กรุงเทพ : 2533

สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน. มหามกุฏราชวิทยาลัย. กรุงเทพ : 2539.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า. มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพ 2539.


1 ขุ. ชา.เอก. ๒๗/๑๒
2 เสถียร พันธรังษี . พุทธสถานในชมพูทวีป .  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๓ หน้า ๑๐๙
1 วิ. มหา. ๔/๑๒ - ๑๘
2 เป็นพระโสดาบัน คือ พระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา
3 อ้างแล้ว ๔/๑๘ - ๑๙
4 อ้างแล้ว ๔/ ๒๐ - ๒๔
1 อ้างแล้ว ๔ / ๒๕ - ๓๑
2 วิ. มหา. ๕/๑๑
3 อ้างแล้ว ๕ / ๕๘ - ๕๙
4 อ้างแล้ว ๕/ ๑๕๒
5 มชฺฌิมฺ.อุ. ๑๔/๖๙๘ - ๗๐๕
1 สํ.ส. ๑๕/๔๒๕ - ๔๒๗
2 อ้างแล้ว ๑๕/๔๒๘ - ๔๓๐
3 สํ.ขนฺธ. ๑๗/๑๒๗ - ๑๓๐
4 องฺ. เอก. ๒๐/๔๕๐ - ๔๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น