วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก


ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
๑. อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า

              "พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น ปูรณะ กัสสป, มักขละ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, สัญชัย เวลัฏฐบุตร, และ นิครนถนาฏบุตร๑ สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"

              เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหากแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอากิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกะพี้, เปลือก, สะเก็ด, กิ่งและใบไม้ เมื่อต้องการแก่นไม้ จึงละเลยแก่นเป็นต้น ตัดเอาแต่กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย"

              "มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้นเช่นเดียวกัน"

              "อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ต้องแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย"

              "ดูก่อนพราหมณ์ ข้ออุปไมยก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้ มีศรัทธาออกบวชไม่ครองเรือน ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ เข้าถึง๒ตัวแล้ว อันความทุกข์เข้าถึงตัวแล้ว มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไฉนหนอการทำที่สุดแห่งทุกข์๓ ทั้งหมดนี้จะปรากฏ ผู้นั้นออกบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ว่าเราเป็นผู้มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นไม่มีใครรู้จักเป็นผู้มีศักดาน้อย คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภ สักการะ และชื่อเสียง ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม"

              "ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือน ผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดเสีย ตัดเอากิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วย ลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสิ่งนั้น ทั้งยังปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสีลสัมปทานั้นว่า เราเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทา ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น กะพี้ และเปลือกเสีย ถากเอาสะเก็ดไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ประพฤติสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ยังไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเป็นต้นเพราะสีลสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทานั้น ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ (ความตั้งมั่นหรือความสงบแห่งจิต) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปปทานั้นว่า เราเป็นผู้ตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า สมาธิสัมปทานั้น ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นและกะพี้เสีย ถากเอาเปลือกไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธินั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสมาธิสัมปทา ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณหรือปัญญา) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสนะนั้น ว่าเราอยู่อย่างรู้เห็น ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ อยู่อย่างไม่รู้เห็น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นเสียถากเอากะพี้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนอออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจแต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ได้ญาณทัสสนะ (หรือปัญญา) ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปราถรนาด้วยญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตน ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสะนั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมอะไรบ้าง ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าปฐมฌาน๔ (ฌานที่ ๑) เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) เข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เข้าอากาสานัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าวิญญาณัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าอากิญจัญญายตนะ (อรูปฌาน กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหน่อย) เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปฌาน ที่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา ก็ไม่ใช่) เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเข้าแล้วทำให้ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาความเสวยอารมณ์สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขได้) อาสวะของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คุณธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไม้ไปฉะนั้น"

              "ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้ มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปิงคลโกจฉพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔

สรุปความ
              ๑. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งไม้ใบไม้
              ๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้
              ๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้
              ๔. ญาณทัสสนะ หรือปัญญา เปรียบเหมือนกะพี้ไม้
              ๕. ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ ซึ่งใช้คำภาษาบาลี "อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ" เปรียบเหมือนแก่นไม้
--------------------------------------------------------------------------------
๑. พราหมณ์ปิงคลโกจฉะถามถึงครูทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าลัทธิมีชื่อเสียงในครั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟังตามที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กว่าการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
๒. คำว่า เข้าถึงตัว แปลจากคำว่า โอติณฺโณ ซึ่งโดยพยัญชนะ แปลว่า ก้าวลง
๓. คำว่า การทำที่สุดแห่งทุกข์ เป็นสำนวนบาลี หมายถึงกำจัดทุกข์ได้หมด สำนวนบาลีนี้พอดีตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า to put an end to suffering
๔. ในการแปลตอนนี้ ได้แปลลัดแต่ใจความของเรื่องว่า เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น เพราะรายละเอียดของแต่ฌานมีแล้วในที่อื่น
………..
ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
  

๒๒๐. การทำตนให้ชุ่มด้วยความสุข
              "ดูก่อนจุนทะ มีฐานะอยู่ ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณศากยบุตร เป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนให้ชุ่มด้วยความสุขอยู่ (สุขัลลิกานุโยค) เมื่อนักบวชเจ้าลัทธิอื่นกล่าวอย่างนี้ ท่านทั้งหลายพึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย สุขัลลิกานุโยคอย่างไหนกัน ? เพราะสุขัลลิกานุโยคมีมากมาย หลายอย่าง มีประการต่าง ๆ ดูก่อนจุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างเหล่านี้ ที่เลว ที่เป็นของชาวบ้าน เป็นของบุถุชน (คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส) ไม่เป็นของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน. สุขัลลิกานุโยค ๔ คือ
              "๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเขลา ฆ่าสัตว์แล้ว ยังตนให้เป็นสุข ให้ชุ่มชื่น นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ ๑."
              "๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้แล้ว ยังตนให้เป็นสุข ให้ชุ่มชื่น. นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ ๒."
              "๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ กล่าวเท็จแล้ว ยังตนให้เป็นสุข ให้ชุ่มชื้น นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ ๓."
              "๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ พรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ). นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ ๔."
              (ครั้นแล้วทรงแสดงการประกอบเนือง ๆ ในการทำตนให้ชุ่มด้วยความสุขที่เป็นฝ่ายดี คือสุขในฌาน ๔ ซึ่งไม่ข้องอยู่ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่นหรือด้วยกาม แล้วทรงแสดงผลของการทำตนให้ชุ่มอยู่ในสุขคือฌานนั้นว่า จะทำให้เป็นพระโสดาบัน ผู้ละสัญโญชน์๑ ได้ ๓ (คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย และสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือมงคลตื่นข่าว หรือติดในลัทธิพิธี) จะทำให้เป็นพระสกทาคามี ผู้ละสัญโญชน์ได้ ๓ (เหมือนพระโสดาบัน) แต่ทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง จะมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ จะทำให้เป็นพระอนาคามี ผู้ละสัญโญชน์เบื้องต่ำได้ ๕ (คือ ๓ ข้ออย่างที่พระโสดาบันละได้ กับเพิ่มอีก ๒ ข้อ คือกามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามและปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิตหรือความขัดใจ) เกิดเป็นอุปปาติกะ๒ แล้วนิพพานในที่นั้น ไม่ต้องมาสู่โลกนี้จากที่นั้นอีก จะทำให้เป็นพระอรหันต์ คือผู้สิ้นกิเลส).

ปาฏิกสูตร ๑๑/๑๔๕


๒๒๑. พราหมณ์เกิดจากปากพรหมแน่หรือ ?               "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย พวกพราหมณ์มิได้นึกถึงความเก่า จึงจะกล่าวกะท่านทั้งหลายว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสุด วรรณะอื่น ๆ เลว, วรรณะพราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่น ๆ ดำ, พราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ย่อมไม่บริสุทธิ์, พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตร เป็นโอรสของพรหม เกิดจากปากพรหม มีพรหมเป็นแดนเกิด เป็นผู้อันพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้. ๓

              "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย คนย่อมเห็นกันทั่วไปว่า นางพราหมณีของพวกพราหมณ์ มีระดูก็มี มีครรภ์ก็มี กำลังคลอดก็มี กำลังให้บุตรดื่มนมก็มี ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้น เกิดจากองค์กำเนิดของมารดา (โยนิชา) แท้ ๆ ยังกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสุด วรรณะอื่นเลว เป็นต้น. พราหมณ์เหล่านั้นย่อมชื่อว่ากล่าวตู่พระพรหม กล่าวคำเท็จ และประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก."

อัคคัญญสูตร ๑๑/๘๘


๒๒๒. วรรณะ ๔ มีทั้งที่ทำชั่วทำดี               "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือกษัตริย์ (นักรบ) พราหมณ์ (นักทำพิธี) แทศย์ (พ่อค้า) และศูทร (กรรมกร).

              "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ที่เป็นกษัตริย์ก็มี เป็นพราหมณ์ก็มี เป็นแพศย์ก็มี เป็นศูทรก็มี ย่อมฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด (ยุให้เขาแตกร้าวกัน) พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ, มักได้ มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด. ธรรมเหล่าใดที่เป็นอกุศล นับเนื่องเข้าในอกุศล มีโทษ นับเนื่องเข้าในสิ่งมีโทษ ไม่ควรส้องเสพ นับเนื่องเข้าในสิ่งไม่ควรส้องเสพ ไม่ควรแก่พระอริยะ นับเนื่องเข้าในสิ่งไม่ควรแก่พระอริยะ เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ อันผู้รู้ติเตียน. ธรรมเหล่านั้น บางข้อปรากฏในกษัตริย์ก็มี ในพราหมณ์ก็มี ในแพศย์ก็มี ในศูทรก็มี.

              "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐและภารัทวาชะทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ที่เป็นกษัตริย์ก็มี พราหมณ์ก็มี แพศย์ก็มี ศูทรก็มี ย่อมเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม, ย่อมเว้นจากการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ, ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความเห็นผิด. ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับเนื่องเข้าในกุศล ไม่มีโทษ นับเนื่องเข้าในสิ่งไม่มีโทษ ควรส้องเสพ นับเนื่องเข้าในสิ่งควรส้องเสพ ควรแก่พระอริยะ นับเนื่องเข้าในสิ่งควรแก่พระอริยะ เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว อันผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านั้น บางข้อปรากฏในกษัตริย์ก็มี ในพราหมณ์ก็มี ในแพศย์ก็มี ในศูทรก็มี.

              "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย เมื่อวรรณะทั้งสี่ยังดาษดื่นทั้งสองทาง ยังประพฤติทั้งในธรรมที่ดำและขาว ที่ผู้รู้ติเตียนและสรรเสริญอยู่อย่างนี้ คำใดที่พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า วรรณะพราหมณ์เท่านันประเสริฐสุด วรรณะอื่น ๆ เลว, วรรณะพราหมณ์เท่านั้นขาว วรรณะอื่น ๆ ดำ, พราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ย่อมไม่บริสุทธิ์, พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตร เป็นโอรสของพรหม เกิดจากปากพรหม มีพรหมเป็นแดนเกิด เป็นผู้อันพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้. วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของพราหมณ์เหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

              "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย เพราะบรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน) แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว วางภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นกิเลสเป็นเหตุมัดสัตว์ไว้ในภพแล้ว พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นย่อมกล่าวได้ว่า เลิศกว่าวรรณะทั้งสี่เหล่านั้นโดยธรรมอย่างแท้จริง มิใช่โดยอธรรม เพราะว่าธรรมเป็นของประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต."

อัคคัญญูสูตร ๑๑/๘๘


๒๒๓. ตรัสเล่าเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลปฏิบัติต่อพระองค์               "ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงทราบว่า พระอนุตตรสมณโคดมออกบวชแล้วจากศากยสกุล. ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย ก็แต่ว่ากษัตริย์ศากยะทั้งหลายย่อมเดินหลังถัดจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมกระทำความเคารพ กราบไหว้ การลุกขึ้นต้อนรับ ย่อมทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม (การกระทำที่เหมาะที่ควรในการให้เกียรติ) ในพระเจ้าปเสนทิโกศล. กษัตริย์ศากยะย่อมกระทำความเคารพ กราบไหว้ เป็นต้นอันใดในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงทำความเคารพ กราบไหว้ เป็นต้นนั้น ในตถาคต มิใช่เพราะทรงคิดว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีชาติดี เรามีชาติเลว, พระสมณโคดมเป็นผู้มีกำลัง เราเป็นผู้ทุรพล, พระสมณโคดมเป็นผู้น่าพอใจ เราเป็นผู้มีผิวพรรณทราม, พระสมณโคดมเป็นผู้มีศักดาใหญ่ เราเป็นผู้มีศักดาน้อย ดังนี้เลย. ที่แท้ทรงสักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรมต่างหาก พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงทำความเคารพ กราบไหว้ การลุกขึ้นต้อนรับ ย่อมทรงทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมในตถาคตอย่างนี้. ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย โดยปริยายนี้แล ท่านทั้งหลายพึงทราบประการที่ธรรมเป็นของประเสริฐสุด ในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต."

อัคคัญญสูตร ๑๑/๙๑

              (หมายเหตุ : พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนพวกพราหมณ์แห่งสกุลวาสิษฐะและภารัทวาชะ ศัพท์เต็มว่า วาเสฏฺฐภารทฺวาชา ซึ่งนับถือศาสาอื่นมาก่อน ภายหลังมาขอบวชในพระพุทธศาสนา จึงมาพักอบรม อยู่กับภิกษุทั้งหลายตามวินัยเรื่องการอยู่ปริวาสของผู้บวชในศาสนาอื่นมาก่อน)


๒๒๔. เรื่องของพราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว               สมัยนั้น พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี พราหมณ์นั้นไม่ไหว้มารดา ไม่ไหว้บิดา ไม่ไหว้อาจารย์ ไม่ไหว้พี่ชาย.

              สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อันบริษัทใหญ่แวดล้อมทรง แสดงธรรมอยู่.

              ขณะนั้นพราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว คิดว่า พระสมณโคดมนี้ อันบริษัทใหญ่แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่ ถ้าอย่างไรเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักพูดกับเรา เราก็จักพูดด้วย ถ้าพระสมณโคดมจักไม่พูดกับเรา เราก็จักไม่พูดด้วย.

              ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว จึงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ขณะนั้นพราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว คิดว่า พระสมณโคดมย่อมไม่รู้อะไร จึงใคร่จะกลับจากที่นั้น.

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้น จึงตรัสกะพราหมณ์ด้วยคาถา (คำกวี) ว่า

              "ดูก่อนพราหมณ์ ความถือตัวมีแก่ใครในโลกนี้ ก็ไม่เป็นของดีเลย. ท่านมาด้วยความต้องการอันใด ก็พึงกล่าวความต้องการนั้นเถิด"

              ลำดับนั้น พราหมณ์นั้น คิดว่า พระสมณโคดมย่อมรู้จิตของเรา จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ณ ที่นั้น แล้วจุมพิตพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยปาก เอามือนวดฟั้น (พระบาท) ประกาศนามของตนว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์คือมานถัทธะ ข้าพระองค์คือ มานถัทธะ (ผู้กระด้างเพราะถือตัว)."

              ลำดับนั้น ที่ประชุมนั้นก็เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า "น่าอัศจรรย์หนอ เรื่องไม่เคยมี มามีขึ้น พราหมณ์ผู้นี้ไม่ไหว้มารดา ไม่ไหว้บิดา ไม่ไหว้อาจารย์ ไม่ไหว้พี่ชาย ก็แต่ว่าพราหมณ์นี้กลับทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในพระสมณโคดม."

              ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

              "ไม่ควรทำความถือตัวในใคร ? ควรมีความเคารพอย่างไร ? ควรนอบน้อมใคร ? ควรบูชาอย่างดีต่อใคร ?"

              พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตพระคาถาตอบว่า

              "ควรมีความเคารพในมารดา ในบิดา ในพี่ชาย ในอาจารย์เป็นที่สี่ ท่านควรนอบน้อมและบูชาอย่างดีในพระอรหันต์ ผู้สงบเย็น ผู้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ผู้ไม่มีกิเลสที่ดองสันดาน. ผู้ละมานะได้ ไม่กระด้างเพราะอนุสัยนั้น๓ เป็นผู้ยอดเยี่ยม."

              (พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว ก็ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต)

มานถัทธสูตร ๑๕/๒๖๑


๒๒๕. อย่าโกรธเมื่อใครติเตียนพระพุทธเจ้า               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นอาจกล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์. ท่านทั้งหลายไม่พึงผูกอาฆาต ขุ่นเคือง ไม่พอใจในบุคคลเหล่านั้น. เพราะถ้าท่านทั้งหลายโกรธเคือง หรือไม่พอใจในบุคคลที่กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์นั้น, อันตรายเพราะความโกรธเคืองนั้น ก็จะพึงเป็นของท่านทั้งหลายเอง. ถ้าท่านทั้งหลายโกรธเคือง หรือไม่พอใจในบุคคลที่กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ จะรู้ได้ละหรือว่า คำกล่าวของคนเหล่าอื่นนั้น เป็นคำกล่าวที่ดี (สุภาษิต) หรือไม่ดี (ทุพภาษิต) ? "ไม่ทราบ พระเจ้าข้า." "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงชี้แจง (คลี่คลาย) เรื่องที่ไม่เป็นจริง ให้เห็นว่าไม่เป็นจริง ในข้อที่คนเหล่าอื่นกล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ ให้เขาเห็นว่าข้อนั้นไม่จริง ข้อนั้นไม่แท้ ข้อนั้นไม่มีในพวกเรา ข้อนั้นไม่ปรากฏในพวกเรา ดังนี้."

พรหมชาลสูตร ๙/๓


๒๒๖. อย่าดีใจตื่นเต้นเมื่อใครชมเชยพระพุทธเจ้า               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าอื่นอาจกล่าวชมเชยเรา ชมเชยพระธรรม หรือชมเชยพระสงฆ์ ท่านทั้งหลายไม่พึงแสดงความชื่นชมโสมนัส หรือความรู้สึกตื่นเต้นในบุคคลเหล่านั้น เพราะถ้าท่านทั้งหลายมีความชื่นชมโสมนัส มีความตื่นเต้นในบุคคลที่กล่าวชมเชยเรา ชมเชยพระธรรม หรือชมเชยพระสงฆื อันตรายเพราะเหตุนั้น ก็จะพึงเป็นของท่านทั้งหลายเอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงรับรองเรื่องที่เป็นจริง ให้เห็นว่าเป็นจริง ในข้อที่คนเหล่าอื่นกล่าวชมเชยเรา ชมเชยพระธรรม หรือชมเชยพระสงฆ์ ให้เขาเห็นว่าข้อนั้นจริง ข้อนั้นแท้ ข้อนั้นมีในพวกเรา ข้อนั้นปรากฏในพวกเรา ดังนี้."

พรหมชาลสูตร ๙/๔

--------------------------------------------------------------------------------
๑. สัญโญชน์ คือกิเลสที่ร้อยรัดสัตว์หรือผูกมัดสัตว์ไว้ในความเวียนว่ายตายเกิด
๒. อ่านว่า อุปะปาติกะ คือเกิดแบบเติบโตขึ้นทันที ที่เกิดของพระอนาคามี คือสุทธาวาส ๕
๓. มานะ คือความถือตัว จัดเป็นอนุสัยคือกิเลสที่ดองสันดานอย่างหนึ่ง
……………
๑๙๙. ปฏิบัติได้แค่ไหน อะไรสงบระงับ๑ ?
              "ดูก่อนภิกษุ ความสงบระงับ ๖ ประการเหล่านี้ คือ

              ๑. วาจาของผู้เข้าสู่ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ย่อมสงบระงับ
              ๒. วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ของผู้เข้าสู่ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ย่อมสงบระงับ
              ๓. ปีติ (ความอิ่มใจ) ของผู้เข้าสู่ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ย่อมสงบระงับ
              ๔. (ลมหายใจเข้าออก) ของผู้เข้าสู่จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ย่อมสงบระงับ
              ๕. สัญญา (ความจำได้หมายรู้) และเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทนยิตนิโรธ (สมาบัติ ที่ดับ สัญญา ความจำ และเวทนา๒ ความเสวยอารมณ์) ย่อมสงบระงับ
              ๖. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมสงบระงับ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๙


๒๐๐. ความดับแห่งเครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น              "ดูก่อนภิกษุ เรากล่าวถึงความดับแห่งอนุบุพพสังขาร (เครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น) ไว้แล้ว คือ

              ๑. วาจาผู้เข้าสู่ฌานที่ ๑ ย่อมดับ
              ๒. ความตรึก (วิตก) ความตรอง (วิจาร) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๒ ย่อมดับ
              ๓. ความอิ่มใจ (ปีติ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๓ ย่อมดับ
              ๔. ลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสะ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๔ ย่อมดับ
              ๕. ความกำหนดหมายในรูป (รูปสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ ย่อมดับ
              ๖. ความกำหนดหมายในอากาสานัญจายตนะ (อากาสานัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับ
              ๗. ความกำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากิญจัญญายตนะ ย่อมดับ
              ๘. ความกำหนดหมายในอากิญจัญญายตนะ (อากิญจัญญายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ย่อมดับ
              ๙. สัญญา (ความจำได้หมายรู้ ; ความกำหนดหมาย) และเวทนา (ความเสวยอารมณ์) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมดับ
              ๑๐. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมดับ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๘

              (หมายเหตุ : ขอแทรกคำอธิบายศัพท์ตั้งแต่ข้อ ๕ มาในที่นี้ เพื่อความเข้าใจ คือตั้งแต่ข้อ ๕ อากาสานัญจายตนะ ถึงข้อ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวม ๔ ข้อ เป็นชื่อของอรูปฌาน หรือฌาน(การเพ่งอารมณ์) ที่มีสิ่งซึ่งมิใช่รูปเป็นจุดประสงค์ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งว่าอากาศหาที่สุดมิได้, วิญญาณัญจายตนะ เพ่งว่าวิญญาณหาที่สุดมิได้, อากิญจัญญายตนะ เพ่งว่าไม่มีอะไรแม้แต่น้อย และเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งว่าสัญญาคือความจำได้ หรือความกำหนดหมายเป็นของไม่ดี เมื่อเพ่งอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้สัญญาหยุดทำหน้าที่ แต่ยังมีอยู่อย่างไม่เป็นข้อเป็นงอ อรูปฌานนี้แม้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาก็บำเพ็ญกันได้ แต่ทางพระพุทธศาสนายังมีชั้นสูงสุดอีกข้อหนึ่งคือสัญญาเวทนยิตนิโรธ แปลว่า ดับสัญญา ความจำ และเวทนา ความเสวยอารมณ์ได้)


๒๐๑. บุถุชนกับอริยสาวกต่างกันอย่างไร ?               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชน (คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส) ผู้มิได้สดับ ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง อริยสาวก (ศิษย์ของพระอริยะ) ผู้ได้สดับ ก็เสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในบุคคลเหล่านั้น ? อะไรเป็นเครื่องทำให้อริยสาวกผู้ได้สดับต่างจากบุถุชนผู้มิได้สดับ ?"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ย่อมตีอกพิไรรำพัน ย่อมมืดมน ย่อมเสวยเวทนา ๒ ทาง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ย่อมไม่ตีอกพิไรรำพัน ย่อมไม่มืดมน ย่อมเสวยเวทนาเพียงทางเดียว คือ ทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต."๓

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๕๗


๒๐๒. สตรีที่บุรุษไม่ชอบใจเลย               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรี (มาตุคาม) ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)               ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                               ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."


๒๐๓. สตรีที่บุรุษชอบใจแท้               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)               ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล                           ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖


๒๐๔. บุรุษที่สตรีไม่ชอบใจเลย               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)               ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                               ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔


๒๐๕. บุรุษที่สตรีชอบใจแท้               "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)
              ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล
              ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖



--------------------------------------------------------------------------------
๑. เรื่องนี้มีประโยชน์ในทางหลักวิชามาก ทำให้เข้าใจในหลักการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี
๒. พึงสังเกตว่า คำว่า เวทนา ได้วงเล็บความหมายไว้ ๒ อย่าง คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่ง เป็นการอธิบายเต็มความหมาย อีกอย่างหนึ่งใช้คำสั้น ๆ ว่า ความเสวยอารมณ์ ซึ่งควรทราบด้วยว่า การใช้คำเต็มความหมายชัดกว่า แต่ถ้าจะต้องใช้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะยืดยาด บางครั้งจึงต้องใช้ว่า เวทนาทับศัพท์หรือคำอธิบายสั้น ๆ
๓. ข้อความที่นำมาแปลนี้ คัดมาเฉพาะที่แสดงความต่างกันของบุคคล ๒ ประเภท มิได้นำข้อความตอนอื่น ๆ มาทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น