วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรื่องที่ควรรู้

เรื่องที่ควรรู้
๑. พระพุทธ

พุทธะ แปลว่า รู้, ตื่น, เบิกบาน หรือหมายถึง ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน ก็ได้ ซึ่งคำว่า รู้ ก็หมายถึงมีความรู้จริงในเรื่องการดับทุกข์ คำว่า ตื่น หมายถึง ตื่นจากความโง่ หรือ จากความไม่รู้, คำว่า เบิกบาน หมายถึง สดชื่นไม่มีทุกข์ ส่วนคำว่า พุทธศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ อันหมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาของพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้รู้สูงสุด ซึ่งอดีตของพระพุทธเจ้าก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ จากวงศ์ศากยะ แห่งนครกบิลพัสดุ ของประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ กว่าปีมาแล้วที่ทรงออกผนวชเพื่อค้นหาความพ้นทุกข์ คือในยุคนั้นเป็นยุคที่กำลังมีการค้นคว้าหาวิธีการดับทุกข์กันอยู่อย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่มีใครค้นพบวิธีการดับทุกข์ที่แท้จริงได้ จนเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงผนวชแล้วได้ทรงค้นพบและประกาศตนว่าทรงเป็นผู้รู้จริง(พุทธะ)ในเรื่องการดับทุกข์และได้ทรงนำวิธีการดับทุกข์นี้มาสอนแก่ผู้ที่สนใจของยุคนั้น จนได้รับความเคารพเชื่อถือจากผู้มีปัญญาของยุคนั้นอย่างแพร่หลาย จนทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา จึงทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นโดยสรุปก็มีเพียงเท่านี้ แต่ต่อมาภายหลังได้ถูกแต่งเติมขึ้นเพื่อเอาใจศาสนาพราหมณ์ เพราะสมัยที่แต่งขึ้นนั้นพุทธศาสนากำลังเสื่อมโทรมเต็มที่ส่วนศาสนาพราหมณ์กำลังมีอำนาจมาก ใครสอนผิดไปจากเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับและจะถูกทำร้ายได้ จึงทำให้มีเรื่องราวที่ว่าพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาบ้าง กับพระพรหมบ้าง รวมทั้งเรื่องที่พระพุทธเจ้าในอดีตได้บำเพ็ญบารมีมาเป็นแสนๆชาติ อย่างที่เราเคยได้รู้กันมาก่อน ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อส่งเสริมคำสอนระดับศีลธรรมเท่านั้น .
๒. พระธรรม
คำว่า ธรรมะ โดยทั่วไปจะหมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสรุปอยู่ที่สอนให้ละเว้นความชั่ว แล้วทำแต่ความดี และทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส ซึ่งสามารถแยกออกได้ ๒ ระดับ คือ
๑. ระดับศีลธรรม หรือ ระดับธรรมดา ที่เป็นคำสอนเรื่องการใช้ชีวิตในการครองเรือน ซึ่งก็สรุปอยู่ที่การสอนให้เป็นคนดีไม่ทำชั่ว ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น รักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และสอนให้มีความขยันอดทนในการทำหน้าที่การงาน เป็นต้น ซึ่งคำสอนระดับนี้จะเอาไว้สอนผู้ที่มีความรู้น้อย เช่นชาวบ้านทั่วๆไป ซึ่งผลที่จะได้รับก็คือความเป็นอยู่ที่ปกติสุข และสังคมสงบสุข รวมทั้งโลกก็มีสันติภาพ
๒. ระดับสูง หรือ ระดับลึกซึ้งสูงสุด ที่เป็นคำสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์โดยตรง โดยเอาไว้สอนผู้ที่มีความรู้ขึ้นมาหน่อย เช่นนักวิทยาศาสตร์หรือนักคิดนักเขียนทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่สนใจ ซึ่งผลที่จะได้รับก็คือความทุกข์ลดลงหรือไม่มีทุกข์เลย
คำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนานี้ได้ปะปนอยู่กับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มาช้านานแล้ว ซึ่งความเชื่อต่างๆเช่นเรื่องนรกใต้ดิน, สวรรค์บนฟ้า, ผี, เทวดา,นางฟ้า เป็นต้นชนิดที่เป็นตัวตนบุคคลนั้น ก็เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น ซึ่งก็ยากที่จะแยกออกจากกัน เพราะผู้คนระดับชาวบ้านนั้นได้ยึดถือกันมาเช่นนี้นมนานแล้ว ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็นับว่ามีส่วนดีตรงที่ช่วยให้ผู้คนที่มีปัญญาน้อยมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจะได้ไม่ทำความชั่ว และหันมาทำแต่ความดี อันจะทำให้สังคมสงบสุขได้ในระดับหนึ่ง
คำสอนระดับศีลธรรมนั้นศาสนาไหนๆเขาก็มีสอนกันอยู่แล้ว ดังนั้นศีลธรรมจึงไม่ใช่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา สิ่งสำคัญหรือจุดเด่นของพุทธศาสนาจะอยู่ที่คำสอนเรื่องการดับทุกข์ที่สมบูรณ์แบบ ที่ไม่มีสอนอยู่ในศาสนาใดๆ.
๓. พระสงฆ์
คำว่า สงฆ์ หรือ พระสงฆ์ นี้ ความหมายโดยรวมจะหมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม หรือปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าจะจำแนกให้ลึกซึ้งแล้วจะแบ่งพระสงฆ์นี้ออกได้ ๒ ประเภท คือ
๑. พระสงฆ์ตามที่สมมติ อันได้แก่นักบวชในพุทธศาสนาที่เป็นชายที่โกนหัวห่มผ้าเหลือง ที่รักษาศีล ๒๒๗ ข้อที่เรียกว่า ภิกษุหรือภิกขุ (ในอดีตเคยมีนักบวชที่เป็นหญิง) ที่รวมกลุ่มกันอยู่ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป(คำว่าสงฆ์แปลว่า หมู่ ถ้าไม่ครบ ๔ จะยังไม่เรียกว่าเป็นสงฆ์) ซึ่งการเป็นพระสงฆ์ชนิดนี้ยังเป็นเพียงรูปแบบภายนอกที่ผู้คนทั้งหลายจะสามารถพบเห็นได้เท่านั้นยังไม่ใช่พระสงฆ์แท้จริง
๒. พระสงฆ์ที่ประเสริฐหรือแท้จริง คือการเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงนั้นจะเป็นกันที่จิตใจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือผู้ครองเรือนก็สามารถเป็นพระสงฆ์ที่ประเสริฐนี้ได้ถ้ามีคุณสมบัติเพียงพอ ซึ่งแม้มีพระสงฆ์ผู้ประเสริฐนี้เพียงท่านเดียวก็เรียกว่าเป็นสงฆ์ได้
พระสงฆ์ผู้ประเสริฐนี้จะมีการบัญญัติเอาไว้ ๔ ประเภท โดยใช้การพิจารณาจากการที่ความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสต่างๆขึ้นมานั้นหายไปและมีผลเป็นความลดลงของความทุกข์ด้วย ซึ่งพระสงฆ์ผู้ประเสริฐทั้ง ๔ ประเภทนี้จะมีลำดับไปเป็นขั้นๆดังนี้
๑. โสดาบัน คือผู้ที่มีความเข้าใจอนัตตาแล้ว และเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว ไม่มีความลังเลสงสัยอีกต่อไปแล้ว จะไม่ทำความชั่วอีกต่อไปแล้ว และความทุกข์ที่รุนแรงมากก็จะไม่มี
๒. สกิทาคามี คือพระโสดาบันที่ปฏิบัติมรรคมากขึ้นจนความทุกข์ที่รุนแรงน้อยจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งในระดับนี้บางท่านก็อาจจะยังมีการครองเรือนอยู่ก็ได้
๓. อนาคามี คือผู้ที่ไม่ติดใจในกามารมณ์อีกต่อไป ไม่มีความโกรธแค้นขุ่นเคืองใครอีกแล้ว จะเหลือความทุกข์เพียงบางเบานิดหน่อยเท่านั้น หรือเกือบจะไม่มีความทุกข์แล้ว ซึ่งในระดับนี้จะไม่มีการครองเรือนแล้ว
๔. อรหันต์ หมายถึงผู้ที่บริสุทธิ์ หรือไม่มีกิเลสแล้วอย่างสิ้นเชิง คือเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากความรู้สึกว่ามีตนเอง(ที่เป็นรากเหง้าฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของจิต)แล้วอย่างสิ้นเชิงหรือถาวร และจะไม่มีความทุกข์ทางจิตใจอย่างถาวรด้วย หรือเรียกว่าบรรลุนิพพานอย่างถาวร
การดูว่าใครจะเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงหรือไม่นั้น คนอื่นจะไม่สามารถจะไปล่วงรู้ได้เลยว่าใครเป็นหรือไม่เป็นได้เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะทางจิตใจที่ลึกซึ้งและสูงส่งเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วๆไปจะใช้เหตุผลหรือการคาดคะเนโดยดูจากอาการภายนอกให้รู้จริงได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเฉพาะที่ผู้ที่บรรลุเองแล้วเท่านั้นจะรู้จริงด้วยตนเอง ที่ไม่สามารถบอกคนอื่นให้รู้ได้ (ถ้าบอกไปคนฟังอาจจะมองว่าบ้า หรือคิดว่าเป็นคนโกหกหลอกลวงได้) เรื่องความเป็นสงฆ์ผู้ประเสริฐนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีการนำมาโอ้อวดกัน เพราะผู้ที่บรรลุจริงๆก็จะมองเห็นว่าไม่มีตัวเองหรือใครๆจึงไม่รู้ว่าจะโอ้อวดไปเพื่ออะไร ส่วนผู้ที่นำมาโอ้อวดนั้นแน่นอนว่าถ้าไม่ใช่คนบ้าหรือเข้าใจผิดก็จะเป็นพวกที่โกหกหลอกลวงเพื่อหวังผลให้คนมาเคารพนับถือโดยมีผลประโยชน์เป็นชื่อเสียงเงินทองตอบแทน.
๔. นิกาย
นิกาย หมายถึง พวก ซึ่งการที่ศาสนาเกิดการแบ่งแยกออกเป็นนิกายขึ้นมานั้นก็เพราะการตีความหลักธรรมของศาสนาแตกต่างกันไปและยึดถือการตีความของพวกตนว่าถูกต้อง ซึ่งก็ทำให้มองการตีความของพวกอื่นว่าไม่ถูกต้องตามไปด้วย จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกการปฏิบัติในศาสนาแตกต่างกันไปในที่สุด
พุทธศาสนาในอดีตได้มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายมาแล้วมากมาย ซึ่งต่อมาก็ได้สาบสูญไปมากมายเหมือนกัน จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๒ นิกายใหญ่ๆ คือ
๑. มหายาน ที่มีการเอาคำสอนที่ผสมแล้วกับศาสนาพราหมณ์มาดัดแปลงคำสอนให้เหมาะกับพื้นเพของผู้ที่นับถือ ซึ่งมีผู้นับถือมากทางประเทศ จีน, เวียดนาม ,ไต้หวัน เป็นต้น (มีนิกายของทางมหายานที่น่าสนใจนิกายหนึ่งที่สอนให้มีการเห็นแจ้งธรรมะด้วยการเพ่งพิจารณาปริศนาธรรมคือนิกาย เซ็น ที่กำเนิดขึ้นมาทางประเทศจีนและไปเจริญรุ่งเรื่องอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน).
๒. หีนยาน ที่ไม่มีการดัดแปลงคำสอน คือยึดคำสอนเดิมที่ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาแล้วจากประเทศอินเดียมาศึกษาและปฏิบัติ ซึ่งมีผู้คนนับถือมากทางประเทศ ไทย ลาว พม่า เป็นต้น (ซึ่งในส่วนของเถรวาทนี้ก็ยังคงมีเนื้อหาของหลักคำสอนที่แท้จริงซ่อนอยู่มากด้วยเหมือนกัน จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้ค้นพบและนำเอามาเผยแพร่อีกทีหนึ่ง)
๕. กรรม
ก่อนอื่นเราต้องแยกกันให้ออกว่าเรื่องกรรมอย่างศีลธรรมที่มีอยู่ในพุทธศาสนาปัจจุบันนั้นเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่าเมื่อเราทำกรรมใดไว้ในชาตินี้ จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นในชาติหน้า ซึ่งเรื่องกรรมอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องกรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนา
คำว่า กรรม ของพุทธศาสนาจะหมายถึง การกระทำด้วยเจตนา ซึ่งเจตนาในที่นี้ก็คือกิเลส คือทุกครั้งที่เราทำอะไรลงไปด้วยกิเลสจะเรียกว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น และจะมีผลเรียกว่า วิบาก
โดยกรรมนี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
๑. กรรมชั่ว คือการกระทำชั่ว ที่อาจเกิดขึ้นทางกาย หรือวาจา หรือใจก็ได้ ซึ่งได้แก่การเบียดเบียนชีวิต, ทรัพย์สินของ, และกามารมณ์ของผู้อื่น, การพูดโกหก, พูดคำหยาบ, พูดส่อเสียด, พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ, ความคิดโลภ, ความคิดโกรธ, และการมีความเห็นผิด(เช่นเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วกลับได้ดี เป็นต้น)
๒. กรรมดี คือการกระทำดี ที่อาจเกิดขึ้นได้ทางกาย หรือวาจา หรือใจก็ได้ อย่างเช่นการมีศีล, การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุขด้วยการให้ทรัพย์หรือสิ่งของบ้าง ให้ความรู้บ้าง ให้ธรรมะบ้าง ให้โอกาสบ้าง ให้อภัยบ้าง, รวมทั้งการเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์, การเลี้ยงดูบิดามารดาให้เป็นสุข, การทำหน้าที่การงานที่สุจริต, และการปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างถูกต้อง เป็นต้น
วิบาก หมายถึง ผลของกรรม คือทุกครั้งที่เกิดกรรมย่อมที่จะมีวิบากตามมาด้วยเสมอ ซึ่งวิบากนี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภทตามชนิดของกรรม อันได้แก่
๑. วิบากชั่ว คือความรู้สึกที่ไม่ดีทั้งหลาย เช่น ทุกข์ใจ ร้อนใจ เสียใจ ไม่สบายใจ เศร้าหมองใจ เป็นต้น คือจะเป็นไปตามกรรรมชั่วว่าทำมากน้อยเพียงใด
๒. วิบากดี คือ ความรู้สึกที่ดีทั้งหลาย เช่น สุขใจ อิ่มเอมใจ ดีใจ สบายใจ เป็นต้น คือจะเป็นไปตามกรรมดีว่าจะทำมากน้อยเพียงใด
วิบากกรรมนี้จะมากเท่าไรและจะตั้งอยู่นานเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำกรรมชนิดใดและมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งวิบากนี้จะมีช่วงเวลาให้ผลอยู่ ๓ ช่วงคือ
๑. ทันทีที่ทำกรรมอยู่ คือเมื่อทำกรรมใดอยู่ก็จะได้รับผลในขณะที่กำลังทำอยู่
๒. เมื่อทำกรรมเสร็จแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็จะได้รับผลหลังจากทำกรรมนั้นเสร็จแล้ว
๓. ต่อจากนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็จะได้รับในเวลาต่อมาอีกก็ได้
เรื่องกรรมของพุทธศาสนานี้ก็คือการสอนเรื่องของจิตใต้สำนึกธรรมดานี่เอง คือเมื่อเราทำอะไรลงไปด้วยเจตนาแล้ว จิตสำนึกมันก็จะรู้และจะเกิดความรู้สึกไปตามเจตนาที่ทำนั้นทันทีโดยไม่สามารถบังคับได้ คือถ้ามีเจตนาดีมันก็เป็นสุข ถ้ามีเจตนาชั่วมันก็เป็นทุกข์.
ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนาไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่เรียกว่ากิริยา และมีผลเป็นปฏิกิริยา อย่างเช่นถ้าเราเดินไปเหยียบสัตว์เล็กๆตายโดยไม่เจตนาก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่เป็นกิริยาและมีผลเป็นปฏิกิริยา คือสัตว์เล็กๆนั้นตายเท่านั้น แต่ถ้าเราเจตนาที่จะเหยียบจึงจะเรียกว่าเป็นกรรมชั่วและมีผลเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัวของจิตใจ เป็นต้น
เรื่องกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรในพุทธศาสนาเลย เพราะเป็นเรื่องที่ยังจมอยู่ในความทุกข์ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรสนใจ เพราะมันอาจจะให้ผลไม่ชัดเจน อย่างเช่นขณะนี้เราทำกรรมดีอยู่ แต่อาจจะยังไม่ได้รับผลเป็นความสุขใจในขณะนี้ก็ได้เพราะเราได้ทำกรรมชั่วที่รุนแรงกว่ามาก่อนหน้านี้ ดังนั้นผลของกรรมดีจึงถูกผลของกรรมชั่วหักล้างไปหมดเสียก่อนเราจึงไม่ได้รับผลดีจากการทำดีนี้ก็ได้ เป็นต้น.


๖. บาป-บุญ
คำว่า บาป หมายถึง สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งก็หมายถึงการทำชั่วและได้รับผลไม่ดีนั่นเอง แต่คำว่าบาปจะมีความหมายกว้างไปอีกหน่อย คือจะหมายถึงความซวย หรือล่มจม หรือสภาพที่ไม่ดีของชีวิตที่ทำให้เกิดความทุกข์ในชีวิต เพราะเป็นผลโดยอ้อมมาจากการที่เคยทำกรรมชั่วเอาไว้ อย่างเช่นคนที่คดโกงคนอื่นมาชีวิตก็อาจจะไม่เจริญได้ หรือคนที่เคยทำร้ายผู้อื่นมาก็อาจจะถูกทำร้ายตอบได้ เป็นต้น
คำว่า บุญ หมายถึง สิ่งที่พึงประสงค์ ซึ่งก็หมายถึงการทำดีและได้รับผลดีนั่นเอง แต่คำว่าบุญจะมีความหมายกว้างไปอีกหน่อย คือจะหมายถึงความมีโชคดี หรือความเจริญรุ่งเรื่อง หรือสภาพที่ดีขึ้นของชีวิตที่ทำให้มีความสุขในชีวิต เพราะเป็นผลโดยอ้อมมาจากการที่เคยทำกรรมดีเอาไว้ อย่างเช่นคนที่ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากก็อาจจะได้รับรางวัลและมีคนยกย่องนับถือ หรือคนที่ประกอบอาชีพสุจริตด้วยความขยันอดทนและประหยัดก็อาจจะร่ำรวยได้ เป็นต้น
เรื่องบาปและบุญนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนเพราะบางทีคนทำความชั่วแต่ปกปิดเอาไว้ได้ก็ไม่มีใครรู้และไม่ถูกลงโทษ กลับร่ำรวยขึ้น ส่วนคนทำความดีแต่ไม่มีใครรู้ก็ไม่ได้รับรางวัลหรือคำชมได้ เป็นต้น นี่เองที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วกลับได้ดีคือความจริงแล้วนี่เป็นผลโดยอ้อมที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเหตุหรือสภาพภายนอก เช่น บุคคล ค่านิยม สถานที่ เป็นต้น แต่ผลที่แน่นอนโดยตรงก็คือผลกรรมที่เกิดขึ้นแก่จิตใจโดยตรง คือคนทำชั่วแม้จะร่ำรวยและมีเกียรติ แต่จิตใจของเขาย่อมจะถูกจิตใต้สำนึกที่ชั่วของเขาตามกัดกินจิตใจของเขาทำให้รู้สึกไม่สบายใจอยู่เสมอๆ ส่วนคนทำดีแม้จะยากจนต่ำต้อยและไม่มีใครรู้จัก แต่เขาก็ย่อมมีความสุขใจอิ่มใจของเขาได้โดยไม่ต้องมีใครมายกย่องหรือให้รางวัล ซึ่งนี่ก็คือการทำดีแล้วมีผลดี และทำชั่วแล้วมีผลชั่วที่แท้จริง.
๗. แนวทางต่างๆของมรรค
โดยสรุปแล้วการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ก็มีแนวทางเดียวคือ ให้มองเห็นทุกสิ่งว่าเป็นอนัตตาและเมื่อเห็นอนัตตาอยู่ ก็จะเห็นอนิจจังและทุกข์อยู่ด้วยในตัว ซึ่งการมองเห็นนี้ก็ต้องใช้สมาธิมาช่วย ซึ่งหลักในการฝึกสมาธินี้ก็มีอยู่หลายวิธี แต่ที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คืออานาปานสติ
แต่ในการปฏิบัติแนวทางเดียวนี้ก็ยังสามารถแยกได้ ๒ อย่าง คือ
๑. อย่างเป็นระบบ คือเป็นการปฏิบัติอย่างมีระบบ ที่เรียกว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน โดยจะมีการปฏิบัติไปตั้งแต่เริ่มฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติจนเกิดสมาธิขั้นสูงขึ้นมาและใช้สมาธินี้มาเป็นพื้นฐานพิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็นความไม่เที่ยงจนจิตเกิดความหลุดพ้นอย่างถาวรขึ้นมาได้
ซึ่งอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นตอนนี้มีใจความโดยสรุปดังนี้
ขั้นที่ ๑ ให้กำหนดลมหายใจยาวอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๒ ให้กำหนดลมหายใจสั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๓ ให้เรียนรู้ลมหายใจทั้งสั้นและยาวอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๔ ให้ทำลมหายใจให้ระงับดับลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๕ ให้เรียนรู้ปีติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๖ ให้เรียนรู้ความสุขสงบอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๗ ให้เรียนรู้ความสุขในลักษณะที่เป็นสิ่งกระตุ้นจิตอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๘ ให้ทำความสุขสงบให้ระงับดับลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๙ ให้เรียนรู้จิตที่บริสุทธิ์จากการปรุงแต่งของความสุขอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๐ ให้ทำจิตให้ร่าเริงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๑ ให้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๒ ให้ทำจิตให้ปล่อยวางอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๓ ให้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๔ ให้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๕ ให้ตามเห็นความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ขั้นที่ ๑๖ ให้ตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
๒. อย่างไม่เป็นระบบ คือเป็นการปฏิบัตินอกเหนือจากหลักของอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน ซึ่งก็มีหลายวิธี แต่ก็สรุปอยู่ที่การมีสมาธิใช้งานและพิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวรบ้าง, ให้เห็นถึงความเป็นทุกข์บ้าง,ให้เห็นถึงความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงบ้าง, และให้เห็นถึงความสงบเย็นหรือนิพพานบ้างอยู่เป็นประจำนั่นเอง ซึ่งสามารถแยกแยะออกไปเป็นการปฏิบัติได้มากมาย เช่น การพิจาณาถึงความแก่และความตายที่จะมีแก่เรา, หรือการพิจารณาร่างกายว่าเป็นของสกปรกน่าเกลียด, หรือการพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆแล้วน้อมเข้ามาว่าร่างกายเราก็ต้องเป็นอย่างนี้, หรือการพิจารณาถึงว่าร่างกายนี้อาจเกิดโรคร้ายต่างๆได้มากมาย , หรือการพิจารณาถึงว่าโลกนี้ว่างจากตัวตนที่แท้จริงบ้าง เป็นต้น
สรุปว่าการปฏิบัติทั้งอย่างเป็นระบบและไม่เป็นระบบนั้นก็แล้วแต่ความสามารถของใครจะปฏิบัติอย่างไหนได้ แต่ผลที่ได้รับคือความหลุดพ้นนั้นจะเหมือนกัน จะต่างกันบ้างก็ตรงที่ผลพลอยได้ คือการปฏิบัติอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอนนั้นปฏิบัติยาก แต่ถ้าปฏิบัติได้แล้วจะมีความสามารถพิเศษเป็นของแถม เช่น มีอำนาจจิตสูง หรือ สอนคนอื่นได้ เป็นต้น ส่วนการปฏิบัติอย่างไม่เป็นระบบนั้นปฏิบัติได้ง่ายกว่าแต่ว่าจะไม่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้เป็นของแถม.
๘. ชีวิตคืออะไร?
ชีวิตคืออะไร? ทำไมจึงเกิดมา? เกิดมาเพื่ออะไร? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรจะได้ และจะได้โดยวิธีใด? ซึ่งนี่เป็นคำถามที่มนุษย์ควรที่จะถามตัวเอง และพยายามแสวงหาคำตอบให้แก่ตัวเอง ถ้าเรายังไม่รู้คำตอบเหล่านี้แจ้งชัดด้วยตัวเองก็เรียกได้ว่าเรายังโง่ หรือยังมืดบอดอยู่ และเมื่อเรายังไม่รู้จักชีวิตอย่างถูกต้อง แล้วเราจะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ได้อย่างไร?
ปัจจุบันมนุษย์มีความรู้ในเรื่องทางวัตถุอย่างละเอียดลึกซึ้งมากมาย และรู้แม้กระทั่งเรื่องที่ไกลออกไปนอกโลก อีกทั้งมนุษย์ยังรู้แม้กระทั่งเรื่องในอดีตสมัยเมื่อมนุษย์ยังไม่เกิดขึ้นมาในโลกเสียด้วยซ้ำ แต่มนุษย์กลับไม่รู้จักว่าตนเองคืออะไร? หรือเกิดมาเพื่ออะไร?อย่างแท้จริง
ความรู้ทางโลกทั้งหลายนั้น จะมีประโยชน์อะไรแก่ชีวิตของเราอย่างแท้จริงบ้าง? มันสามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์หรืออย่างน้อยช่วยให้โลกมีสันติภาพขึ้นมาบ้างได้หรือไม่? เปล่าเลย มีแต่จะทำให้เรามีทุกข์เพิ่มขึ้นและโลกมีแต่วิกฤติการณ์ แล้วทำไมเราไม่ลองหันมาศึกษาตัวเองกันดูบ้าง บางทีเราอาจจะพบกับความจริงของชีวิตขึ้นมาบ้างก็ได้
ผู้คนโดยมากคิดว่าชีวิตเกิดมาเพื่อดิ้นรนแสวงหาความสุข และความสุขคือสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิต ซึ่งนี่ดูจะเป็นสามัญสำนึกของจิตใจมนุษย์ทุกคน ซึ่งความสุขของโลกก็มีเพียงความสุขจากเรื่องเพศ, เรื่องสิ่งของฟุ่มเฟือย, และเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงเท่านั้น มนุษย์ทั้งหลายแสวงหาและแย่งชิงรวมทั้งเบียดเบียนกันก็เพื่อความสุขจากสิ่งเหล่านี้ แม้การที่มนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างมากมายก็เพราะความสุขจากสิ่งเหล่านี้ แม้สงครามทุกรูปแบบก็มีสาเหตุมาจากความสุขจากสิ่งเหล่านี้ และแม้โลกก็จะพินาศเพราะความสุขจากสิ่งเหล่านี้
จริงอยู่ความสุขนั้นมันน่ายินดี น่าหลงใหล น่าติดใจอย่างยิ่ง แต่ในเมื่อมันสร้างปัญหาให้แก่ชีวิตและแม้แก่สังคมมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไปโดยไม่ต้องสร้างมันขึ้นมา แล้วอย่างนี้เรายังคิดว่าความสุขนี้จะเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตกันอยู่อีกหรือ?
เมื่อมองคำถามเหล่านี้ในมุมมองของพุทธศาสนาแล้ว เราอาจจะได้คำตอบที่แปลกไปจากมุมมองอื่น อันได้แก่
ชีวิตคืออะไร? คำตอบก็คือชีวิตก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นมารับรู้สิ่งต่างๆแล้วก็ดิ้นรนแสวงหาความสุขพร้อมกับวิ่งหนีความทุกข์
ทำไมชีวิตจึงเกิดขึ้นมา? คำตอบก็คือเพราะพ่อแม่ทำให้เราเกิด โดยมีธรรมชาติผลักดันมา
ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร? คือตอบก็คือเพื่อทำหน้าที่ โดยเริ่มตั้งแต่หน้าที่ดูแลรักษาร่างกายให้ดำรงอยู่อย่างเป็นสุข สูงขึ้นไปก็คือหน้าที่ดูแลรักษาครอบครัว,สังคม, ประเทศชาติ,และโลกให้ดำรงอยู่อย่างสงบสุขมีสันติภาพ และสูงสุดก็คือหน้าที่ดูแลจิตใจตัวเองให้ดำรงอยู่โดยมีทุกข์น้อยที่สุดหรือไม่มีทุกข์เลย
อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรจะได้? คำตอบก็คือความไม่มีทุกข์ใดๆเลยตลอดชีวิต(นิพพาน)
และจะได้โดยวิธีใด? คำตอบก็คือจะได้มาด้วยการทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องสมบูรณ์
ความไม่มีทุกข์หรือนิพพานก็คือความสงบเย็นของจิตใจ ซึ่งจะตรงข้ามกับความสุขที่ทำให้จิตใจไม่สงบเย็น และสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง ยิ่งสุขมากก็จะยิ่งมีทุกข์มากตามมาเสมอ ส่วนความสงบเย็นมีแต่จะลดปัญหา ตลอดจนถ้าสงบเย็นย่างสูงสุดแล้วก็จะไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นนิพพานหรือความสงบเย็นของจิตจึงจัดเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน.

ปัญญาในพุทธศาสนา
๑. ปัญญาที่แท้จริงในพุทธศาสนา
จากการศึกษาทั้งหมดที่ผ่านมาก็พอจะทำให้มองเห็นแนวทางได้ว่า หลักอริยสัจ ๔ นี้น่าจะพอมีทางเป็นไปได้ คือถ้าทำให้จิตว่างจากความยึดมั่นว่ามีตัวเราได้ ความทุกข์ก็น่าจะไม่มีได้เหมือนกัน ดังนั้นต่อไปก็เหลืออยู่แต่ว่าจะทำให้จิตว่างจากความยึดมั่นว่ามีตัวเราได้อย่างไร?
การที่จะทำให้เกิดจิตว่างได้นั้น จะต้องใช้สมาธิกับปัญญามาช่วย โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ดังนั้นก่อนอื่นเราก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของเราให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง (คือมีศีลธรรม)เสียก่อน แล้วก็ต้องขยันฝึกฝนสมาธิให้มาก ซึ่งเรื่องสมาธินี้เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจหลักการแล้วก็สามารถไปฝึกฝนเอาเองได้
ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่เรื่องปัญญา ที่จะมาช่วยเสริมสมาธิเพื่อทำให้จิตคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลงได้ ดังนั้นจุดสำคัญที่สุดก็อยู่ตรงนี้ คือตรงที่ว่า ความรู้ใดที่จะมาช่วยให้จิตคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลงได้ ความรู้นั้นก็ควรเรียกว่าเป็นปัญญาที่แท้จริงของพุทธศาสนา
๒. อนัตตา - ความไม่ใช่ตัวเรา
ความรู้ที่จะมาช่วยให้จิตคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลงได้นั้น ก็ได้แก่ความรู้ในเรื่อง อนัตตา ที่แปลว่า ความไม่ใช่ตนเอง หรือความไม่ใช่ตัวเรา นั่นเอง เพราะถ้าเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่ามันไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวเราได้จริง จิตมันก็ย่อมที่จะยอมรับความจริงและจะค่อยๆคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลงได้ แต่ถ้าไม่มีความรู้เรื่องอนัตตานี้ ถึงจะทำอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้จิตคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลงได้จริง เพราะเท่ากับเป็นการโกหกตัวเองทั้งๆที่ตัวเองก็รู้อยู่ จิตมันจึงไม่ยอมรับ
ดังนั้นจากนี้ไปเราจะมาศึกษาถึงกฎธรรมชาติที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจได้อย่างถูกต้องแจ้งชัดว่าแท้จริงทุกสิ่งเป็นอนัตตาเพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าแท้จริงมันไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆได้เลย .
๓. กฎอิทัปปัจจยตา
กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องของการอาศัยเหตุแล้วเกิดขึ้นมา ซึ่งกฎนี้เป็นกฎสูงสุดของเอกภพที่ครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ไม่มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ ซึ่งกฎนี้ก็มีลักษณะเหมือนพระเจ้าของศาสนาคริสต์และอิสลามนั่นเอง ซึ่งกฎนี้มีใจความโดยสรุปว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุมาทำให้เกิดขึ้น
กฎนี้ถ้ามองอย่างผิวเผินก็ดูจะเป็นของธรรมดาที่ใครๆก็อาจจะรู้กันอยู่แล้ว แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งเราก็จะพบกับความจริงอีกหลายประการ อันได้แก่
๑. สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นย่อมจะมีหลายๆเหตุมาร่วมกันทำหรือสร้างหรือปรุงแต่งขึ้น
๒. ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ
๓. เมื่อสิ่งใดจะดับหายไป ก็เป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งของมันได้ดับหายไปก่อน
๔. ทุกสิ่งที่เป็นเหตุก็ย่อมเป็นผลมาจากเหตุอื่นด้วยเหมือนกัน
กฎนี้จะบอกเราว่า เมื่อมีเหตุเท่านั้นจึงจะมีผล, เมื่อมีผล มันก็ต้องมีเหตุมาก่อน, เมื่อไม่มีเหตุ ก็จะไม่มีผล,ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือธรรมชาติไปได้, และสิ่งต่างๆจะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ทั้งสิ้นไม่มากก็น้อยไม่โดยตรงก็โดยอ้อม   ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เมื่อเราจุดเทียนขึ้นและเกิดมีแสงสว่างขึ้นมา ซึ่งแสงสว่างนั้นก็มีเหตุมาจากเปลวไฟของเทียน, ถ้าเทียนดับ แสงสว่างนั้นก็จะดับหายไปด้วยทันที, นี่แสดงว่าไม่มีแสงสว่างใดที่จะเกิดขึ้นมาได้โดยไม่อาศัยเหตุ, และแม้เปลวไฟนั้นก็เกิดมาจากหลายๆเหตุมาร่วมกันสร้างขึ้น คือ จากออกซิเจน จากไส้เทียน จากเนื้อเทียน และจากอุณหภูมิที่สูง ซึ่งแม้ออกซิเจน,ไส้เทียน, เนื้อเทียน, และอุณหภูมิที่สูงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดมาจากเหตุอื่นๆอีกเหมือนกัน เป็นต้น
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกและในเอกภพนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎสูงสุดนี้ทั้งสิ้น คือเมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมา มันก็จะเป็นเหตุผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิดอีกหลายๆสิ่งตามมา และสิ่งหลายๆสิ่งนั้นก็จะเป็นเหตุผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิดอีกหลายๆสิ่งตามมาอีกมากมาย คือเรียกว่าทุกอณูของทุกสิ่งและทุกความรู้สึกของจิตใจจะมีกฎสูงสุดนี้ครอบงำอยู่ทั้งสิ้น เพราะกฎนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเป็นนิรันดร เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นมามันจึงต้องตกอยู่ภายใต้กฎนี้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง.
๔. ธาตุพื้นฐานโลก
คำว่า ธาตุ หมายถึง สิ่งที่ย่อยเล็กที่สุด คือเมื่อเราเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาย่อยให้เหลือเล็กที่สุดแล้ว สิ่งที่ย่อยเล็กที่สุดนี้จะเรียกว่า ธาตุ โดยธาตุแต่ละชนิดย่อมที่จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของมันในการที่จะมาสร้างหรือประกอบให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมา ดังนั้นจึงพูดได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกหรือในเอกภพนี้จะเกิดขึ้นมาจากการที่ธาตุต่างๆมาประกอบหรือสร้างขึ้นมาตามกฏอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้แม้จะมีมากมายหลายชนิด แต่ในทางพุทธศาสนาจะสรุปว่าทุกสิ่งเกิดมาจากธาตุหรือคุณสมบัติที่เป็นพื้นฐานเพียง ๖ อย่างเท่านั้น ซึ่งคุณสมบัติทั้ง ๖ นี้เรียกว่า ธาตุพื้นฐานของโลก อันได้แก่
๑. ธาตุดิน อันได้แก่คุณสมบัติที่ค่อนแข็งที่ทำให้เกิดของแข็ง
๒. ธาตุน้ำ อันได้แก่คุณสมบัติที่เหลวที่ทำให้เกิดของเหลว
๓. ธาตุไฟ อันได้แก่คุณสมบัติที่ร้อนที่ทำให้เกิดความร้อน
๔. ธาตุลม อันได้แก่คุณสมบัติที่เบาบาง แผ่กระจายที่ทำให้เกิดก๊าซ
๕. ธาตุว่าง อันได้แก่คุณสมบัติที่ว่างไม่มีอะไรเลยที่ทำให้เกิดที่ว่าง(สุญญากาศ)
๖. ธาตุรู้ อันได้แก่คุณสมบัติที่รับสิ่งต่างๆรู้ได้ที่ทำให้เกิดการรับรู้(วิญญาณ)
ธาตุพื้นฐานหรือสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้เกิดสิ่งต่างๆทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตขึ้นมาในโลกนี้ก็มีเพียง ๖ ธาตุนั้นเท่านั้น คือวัตถุทั้งหลายก็เกิดมาจากธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมสร้างหรือปรุงแต่งขึ้นมาในลักษณะที่แตกต่างกันและอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ส่วนจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็เกิดมาจากธาตุรู้เป็นพื้นฐานสร้างหรือปรุงแต่งขึ้นมา
การศึกษาเรื่องธาตุนี้เพื่อทำให้เกิดความรู้ว่าทุกสิ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นตัวตนชนิดที่จะไม่สามารถแตกแยกออกได้หรือไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งจะเป็นการปูพื้นฐานให้รู้ว่าทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งหรือสร้างหรือประกอบขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งนี่จะเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องอนัตตา ที่จะเป็นความรู้สำหรับนำไปใช้ในการดับทุกข์.
๕. ธาตุรู้
คำว่า วิญญาณ ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง การรับรู้ ซึ่งเป็นกิริยาเมื่อเกิดการรับรู้สิ่งต่างๆขึ้น ซึ่งวิญญาณนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนเหมือนวัตถุมีลักษณะคล้ายไฟฟ้า โดยมันต้องอาศัยวัตถุที่เหมาะเพื่อเกิดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เหมือนไฟฟ้าที่ต้องอาศัยแบตเตอร์รี่หรือไดนาโมทำให้เกิดขึ้นมา
วิญญาณนี้จะต้องอาศัยเนื้อเยื่อของระบบประสาทที่เหมาะสมเพื่อเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รับรู้สิ่งที่มากระทบ โดยการที่วิญญาณนี้จะเกิดขึ้นมาได้จะต้องอาศัยสิ่งภายนอกมากระทบกับเนื้อเยื่อของระบบประสาทต่างๆของร่างกายที่ยังไม่ตายจึงจะทำให้วิญญาณเกิดขึ้นมาได้ เหมือนกับการที่เราใช้ไม้แห้งมาถูกันเพื่อให้เกิดความร้อนขึ้นมาในเนื้อไม้นั้นนั่นเอง
เมื่อจำแนกวิญญาณไปตามระบบประสาทต่างๆของร่างกายแล้วก็แยกได้ ๖ จุดคือ
๑. เมื่อมีภาพมากระทบลูกตาก็จะทำให้เกิดการเห็นภาพขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางตา
๒. เมื่อมีเสียงมากระทบแก้วหูก็จะทำให้เกิดการได้ยินเสียงขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางหู
๓. เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูกก็จะทำให้เกิดการได้กลิ่นขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางจมูก
๔. เมื่อมีรสมากระทบลิ้นก็จะทำให้เกิดการได้รู้รสขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางลิ้น
๕. เมื่อมี วัตถุของกาย”(เช่น เย็น,ร้อน,อ่อน,แข็ง)มากระทบกายก็จะทำให้เกิดการได้รู้ วัตถุของกายขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางกาย
๖. เมื่อมี สิ่งที่เกิดขึ้นทางใจ” (เช่น ความคิด, ความรู้สึก, ความจำ, และการรับรู้ภาพ, เสียง, กลิ่น เป็นต้นต่อจากตา, หู, จมูก เป็นต้นด้วย)มากระทบใจ(ที่สมอง)ก็จะทำให้เกิดได้รู้ สิ่งเกิดขึ้นทางใจขึ้นมาที่เรียกว่าวิญญาณทางใจ
ธาตุรู้นี้เป็นธาตุตามธรรมชาติเหมือนกับธาตุทั่วๆไป จึงไม่มีธาตุรู้หรือวิญญาณเฉพาะของใครๆ ซึ่งแม้ในพืชที่ยังมีชีวิตก็มีธาตุรู้นี้อยู่ด้วย อย่างเช่นต้นไมยราพที่เวลาเราไปถูกต้นหรือใบของมันแรงๆ มันก็จะหุบกิ่งหุบใบของมันทันที ซึ่งนี่แสดงถึงการรับรู้หรือมีวิญญาณของพืชนั่นเอง เป็นต้น ซึ่งธาตุรู้นี้เองที่ทำให้เกิดมีสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมาในโลกและพัฒนาตัวเองไปเป็นพืช, สัตว์, และมนุษย์ชนิดต่างๆขึ้นมาในโลกอย่างมากมายและน่าอัศจรรย์ทั้งๆที่มันก็เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น.
๖. ร่างกายและจิตใจ
ชีวิตของมนุษย์เรานี้สามารถแยกเป็นส่วนๆเพื่อศึกษาได้ ๕ ส่วน อันได้แก่
๑. ร่างกาย คือส่วนที่เป็นอวัยวะทั้งหลาย
๒. การรับรู้ คือส่วนที่เป็นวิญญาณทั้ง ๖ จุด
๓. ความรู้สึก คือส่วนที่เป็นความรู้สึกสุข,ทุกข์,และจืดๆ(ไม่สุขไม่ทุกข์)
๔. ความจำ คือส่วนที่เป็นการจำสิ่งต่างๆได้
๕. ความคิด คือส่วนที่เป็นการคิด
เมื่อมีสิ่งมากระทบกับระบบประสาทต่างๆของร่างกายก็จะทำให้เกิดวิญญาณหรือการรับรู้ขึ้นที่ระบบประสาทนั้น และพร้อมกันนั้นมันก็จะต้องกระทบกับใจอยู่เสมอด้วย เมื่อใจรับรู้มันก็จำสิ่งที่รับรู้นั้นได้และเกิดความรู้สึกขึ้นมาด้วยพร้อมๆกัน และพร้อมกันนั้นใจก็จะมีการปรุงแต่งหรือคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับรู้นั้นด้วย ซึ่งนี่ก็คือระบบการทำงานของจิตหรือใจของมนุษย์เรา
ชีวิตของมนุษย์เรานี้จะประกอบด้วยร่างกายและจิตใจที่จะต้องทำงานร่วมกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าแยกกัน มันก็จะแตก(ใช้กับร่างกาย)ดับ(ใช้กับจิตใจ)และหายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที โดยร่างกายก็เกิดมาจากธาตุดิน, ธาตุน้ำ,ธาตุไฟ, ธาตุลมสร้างขึ้นมา ส่วนจิตใจประกอบด้วยวิญญาณ, ความรู้สึก,ความจำ,และความคิด ซึ่งนี่คือสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในเอกภพ ที่เกิดมาจากการสร้างสรรค์ขึ้นมาของธาตุตามธรรมชาติ ภายใต้กฎสูงสุดของเอกภพ.


๗. กฎไตรลักษณ์
กฎไตรลักษณ์ เป็นกฎธรรมชาติอีกกฎหนึ่งที่ครอบงำหรือมีประจำอยู่ในทุกๆสิ่งคู่กับกฎอิทัปปัจจยตาของเอกภพ โดยคำว่า ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการ อันได้แก่
๑. อนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้ถาวร
๒. ทุกขังหรือทุกข์ คือทน(ไม่สบาย,ทรมาน)
๓. อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
ก่อนอื่นเราจะต้องรู้จักกับคำว่า เกิดขึ้นและ ดับลงเสียก่อน คือคำว่าเกิดขึ้นนี้ก็หมายถึง จากไม่มีมาก่อน แล้วถูกปรุงแต่งหรือสร้างให้มีขึ้นมาในภายหลังส่วนคำว่าดับลงก็หมายถึง จากมีอยู่ก่อนแล้วถูกทำลายให้หายไป หรือเสื่อมสลายหายไปเองในภายหลังส่วนคำว่า ทุกสิ่งก็หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นสิ่งใด ซึ่งก็หมายถึงทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ(พวกจิต)
อนิจจังก็หมายถึงว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ และในที่สุดไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ อันได้แก่ความรู้สึก, ความจำ, เป็นต้น ที่เป็นพวกจิตใจ) อย่างแน่นอน
ทุกข์ก็หมายถึงว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนต้องทนต่อความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันต้องทนอยู่ ดังนั้นมันจึงมีความรู้สึกไม่สุขสบายอยู่ตลอดเวลา หรือจะเรียกว่ามันเป็นความรู้สึกที่หนัก เหนื่อย หรือทรมานก็ได้ ซึ่งสำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ไม่มีปัญหาเพราะมันไม่มีจิตมารับรู้ทุกข์ของมัน แต่สำหรับสิ่งที่มีชีวิต มันก็จะมีจิตมารับรู้ทุกข์นี้อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งถ้าทุกข์มีนี้มีน้อย ก็เรียกเสียใหม่ว่า สุข ที่หมายถึงความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือ สบาย แต่ถ้ามีมาก ก็เรียกตรงๆว่า ทุกข์ ที่หมายถึงความรู้สึกที่ ทนได้ยาก หรือ ทรมาน
ก่อนที่จะรู้จักคำว่า อนัตตาเราจะต้องมารู้จักคำว่าอัตตาที่เป็นคำตรงข้ามกันเสียก่อน คือคำว่า อัตตา แปลว่า ตัวตน หรือ ตนเอง หรือ ตัวเรา ที่หมายถึงตัวตนที่แท้จริง ที่เที่ยงแท้ถาวร หรือเป็นอมตะนิรันดรที่ไม่มีวันดับสลาย ดังนั้นอัตตาจึงไม่มีลักษณะของอนิจจังและทุกข์ ซึ่งหลักอัตตานี้ไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่า จิต หรือวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นอัตตาที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ได้เรื่อยๆ อันทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน,สวรรค์บนฟ้า ,ผี, เทวดา, และเรื่องชาติก่อน, ชาติหน้า รวมทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ได้เข้ามาปะปนอยู่กับพุทธศาสนามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยหลังพุทธกาลและสืบมาจนถึงปัจจุบัน
คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา ซึ่งหมายถึงไม่ใช่ตัวตน หรือไม่ใช่ตนเอง หรือไม่ใช่ตัวเรา คือ เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งใดที่จะมาเป็นอัตตาได้ ซึ่งเรื่องอนัตตานี้จัดเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพราะเป็นต้นตอของปัญญาของพุทธศาสนา เมื่อเข้าใจหลักอนัตตาแล้วก็จะทำให้เข้าใจเรื่องอื่นๆของพุทธศาสนาได้อีกอย่างมากมายจนรู้จักพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้ายังไม่เข้าใจหลักอนัตตาก็จะยังไม่เข้าใจพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง หรือเรียกได้ว่ายังไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างแท้จริง.
๘. ทุกสิ่งเป็นอนัตตา
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นมาทั้งหมด ล้วนไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ในส่วนอนัตตาทรงสอนว่า ทุกสิ่ง (ไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย) ล้วนเป็นอนัตตา
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นมาของธาตุทั้งหลายนั้นไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้อย่างชั่วนิรันดร ซ้ำขณะที่ยังตั้งอยู่ก็ยังต้องมีทุกข์อีก แล้วอย่างนี้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้นจะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆได้อย่างไร? มันจะเป็นได้ก็เพียงตัวตนชั่วคราวหรือ ตัวตนมายา เท่านั้น
ส่วน สิ่งที่ ไม่เกิดขึ้นคือไม่มีการสร้างให้เกิดขึ้นมาอันได้แก่นิพพานนี้ จะเป็นตัวตนของใครๆไปไม่ได้เลย เพราะสภาวะของนิพพานนั้นจะเป็นสภาวะที่ว่างจากการมีตัวตน ดังนั้นถึงแม้จะมีใครบรรลุนิพพานสักเท่าใดก็ตาม ก็เท่ากับว่าไม่มีตัวตนของใครที่เป็นผู้นิพพาน มีแต่จิตที่ว่างจากความมั่นว่ามีตัวตนเท่านั้นที่นิพพาน.

๙. แท้จริงมันไม่มีเรา
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนมากที่สุดก็คือให้เรานำเอาร่างกายและจิตใจ ทั้งของเราและของผู้อื่นมาพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น และพิจารณาถึงลักษณะที่ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, รวมทั้งไม่ใช่ตัวเราหรือตัวตนของใครๆอย่างละเอียดในทุกแง่มุมจนเข้าใจและซาบซึ้งอยู่เสมอ เพื่อให้มันฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกและไปทำลาย สัญชาติญาณว่ามีตนเองที่เป็นสาเหตุต้นขั้วของความทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
หลักการคิดก็ต้องคิดอย่างวิทยาศาสตร์ โดยเอาของจริงมาคิด คือร่างกายก็เกิดมากจากเชื้ออสุจิของพ่อมาผสมกับไข่ของแม่ แล้วมันก็พัฒนาตัวเองโดยอาศัยคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของมัน จนเกิดมาเป็นอวัยวะต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา(คำว่า เราหรือ ของเราในที่นี้เป็นเพียงการสมมติเรียกเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะยึดถือว่ามีจริง)
ลักษณะที่ไม่เที่ยงของร่างกายก็คือตั้งแต่เริ่มผสมกันขึ้นมาเป็นร่างกายมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนคลอดออกมาและค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มเป็นสาวจนกระทั่งแก่เฒ่า และสุดท้ายก็ต้องตายไป คือสุดท้ายธาตุต่างๆก็แตกแยกกันไปไม่สามารถเกาะกุมตัวกันประกอบให้คงเป็นร่างกายอยู่ไปชั่วนิรันดรได้
ส่วนความเป็นทุกข์ของร่างกายก็คือขณะที่ยังไม่ตายก็มีแต่ทุกข์มากมายทั้งจากความร้อน, ความหนาว,ความกดดัน, ความหิว,ความกระหาย,โรคร้ายต่างๆ, และอุบัติภัยต่างๆมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับร่างกาย เป็นต้น ที่ทำให้ร่างกายต้องเหน็ดเหนื่อย,เจ็บปวด,ทุกข์ทรมาน, พิกลพิการหรือมีความไม่สบายกายอยู่เสมอๆ ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ของร่างกายทั้งหลายนั่นเอง แต่ถ้าขณะใดร่างกายมีทุกข์น้อยก็มาเรียกกันเสียใหม่ว่าสุขกาย
ส่วนความเป็นอนัตตาก็คือ เราไม่สามารถจะยึดมั่นเอาร่างกายนี้ว่าเป็นร่างกายเรา หรือของเราอย่างแท้จริงได้ เพราะร่างกายเป็นเพียงสิ่งที่ธาตุต่างๆสร้างหรือประกอบขึ้นมาเท่านั้น เมื่อสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นแปรปรวนหรือแตกแยกไป ร่างกายก็ย่อมที่จะแปรปรวนหรือแตกแยกตามไปด้วย
ส่วนวิญญาณ หรือการรับรู้นี้ก็มีการเกิดขึ้นมาและดับหายไปตามระบบประสาทของอวัยวะตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ(สมอง)อยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อรับรู้รูป, เสียง, กลิ่น, รส เป็นต้น ถ้าร่างกายตาย วิญญาณก็ต้องดับหายตามไปด้วย
ส่วนความรู้สึกก็ต้องเกิดและดับตามการรับรู้เสมอ เพราะเป็นของคู่กัน คือเมื่อมีการรับรู้ ก็ต้องมีความรู้สึกต่อสิ่งที่มันรับรู้นั้นอยู่ด้วยเสมอ
ส่วนความจำก็ต้องอาศัยการรับรู้กับความรู้สึกมาบันทึกเอาไว้ โดยอาศัยเนื้อสมองที่ยังดีอยู่เป็นที่เก็บความจำเอาไว้ ถ้าสมองเสีย เช่นถูกทำลายหรือเพราะขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง ความจำทั้งหมดก็จะสูญหายตามไปด้วย
ส่วนความคิดก็ต้องอาศัยความจำมาใช้ในการคิด ถ้าความจำเสียหายไป ความคิดก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้
ส่วนทั้ง ๔ นี้จะทำงานร่วมกันและเรียกว่า จิต ที่แปลว่า สิ่งวิจิตรสวยงาม ซึ่งก็หมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ ซึ่งถ้าเราจะสังเกตให้ดีเราก็จะพบว่าจิตก็มีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คือบางทีก็เกิดไปเกิดที่ตาเพื่อรับรู้รูป แล้วก็มาเกิดที่ใจเพื่อคิดเรื่องรูปนั้น แล้วก็มาเกิดที่หูเพื่อรับรู้เสียงอีก เป็นต้น คือมันจะมีการเกิดและดับสืบต่อกันเอาไว้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนกับว่ามันเกิดนิ่งๆอยู่ตลอดเวลาจนทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดคิดว่ามีจิตที่เป็นอัตตาขึ้นมา ส่วนเวลาหลับจิตก็จะดับลงชั่วคราว และถ้าร่างกายตายจิตก็จะดับลงอย่างถาวรซึ่งนี่เรียกว่าเป็นลักษณะที่ไม่เที่ยงของจิตใจ
ส่วนลักษณะที่เป็นทุกข์ของจิตก็คือ ถ้ามีการคิดไปในทางยึดมั่นว่ามีตัวเราขึ้นมา จิตนี้ก็จะรู้สึกทรมานหรือเป็นทุกข์ทันทีมากบ้างน้อยบ้างตามความยึดมั่น แต่ถ้าไม่มีการคิดไปในทางยึดมั่นว่ามีตัวเราขึ้นมา ความทุกข์ของจิตนี้ก็จะลดน้อยลงจนแทบไม่รู้สึกและไม่เป็นปัญหา (จิตเป็นสิ่งถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นมันจึงยังต้องมีลักษณะของทุกข์อยู่ด้วยเสมอไม่มากก็น้อย) ที่เรียกว่า ที่สุดแห่งทุกข์คือทุกข์ได้ลดลงจนถึงที่สุดเท่าที่มันจะลดลงได้แล้ว ซึ่งที่สุดแห่งทุกข์นี้เองที่เรียกว่า นิพพาน.
ส่วนความเป็นอนัตตาของจิตก็คือ จิตต้องอาศัยวิญญาณเป็นพื้นฐาน และวิญญาณก็ต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้นมา เมื่อร่างกายตาย จิตก็ย่อมที่จะต้องดับหายตามไปด้วยเสมอ และเมื่อจิตไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ชั่วนิรันดร แล้วเราจะมายึดมั่นว่าจิตนี้เป็นเรา หรือเป็นของเราหรือเป็นของใครๆได้อย่างไร?
ถ้ามีคนถามว่า คนเราตายแล้วจิตหรือวิญญาณไปไหน? ” ถ้าเราเข้าใจแล้วว่าจิตหรือวิญญาณคืออะไรแล้ว เราก็คงไม่รู้จะตอบคนที่ถามเช่นนั้นว่าอย่างไร เพราะแท้จริงจิตก็เป็นเพียงธาตุที่มาประชุมกันขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวแล้วก็ดับหายไปเท่านั้น หรือถ้าจะตอบก็ต้องตอบว่า มันไม่มีเราตาย เพราะมันไม่มีเรามาเกิด และแม้ชีวิตที่มีอยู่นี้ก็ยังไม่มีเราอยู่จริงด้วยเหมือนกัน แล้วจะเอาอะไรไปเกิดใหม่ได้?”
ร่างกายและจิตใจของมนุษย์เรานี้ก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ชั้นเยี่ยมที่มีความสามารถในการจำและคิดได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถึงแม้มันจะดีเลิศสักเท่าใดก็ตาม มันก็ยังเป็นเพียงเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น หาได้มีตัวตนเป็นของตนเองอย่างแท้จริงไม่.
๑๐. การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔
การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ก็คือการได้แจ้งประจักษ์ด้วยจิตของเราเองว่าหลักอริยสัจ ๔ นี้ดับทุกข์ได้จริงเพราะเราได้ทำให้ทุกข์ดับลงจริงและนิพพานก็ปรากฏจริงแล้ว(แม้ชั่วคราว)
การทำให้ทุกข์ดับลงและนิพพานปรากฏขึ้นจริงนั้นเราจะต้องนำเอาความรู้เรื่องอนัตตานี้มาเพ่งพิจารณาเข้าไปใจร่างกายและจิตใจของเราเองด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง(ด้วยสมาธิ) จนกระทั่งจิตมันยอมรับความจริง แล้วจิตก็จะคลายความยึดมั่นว่ามีตัวเราลง(แม้ชั่วคราว) และเมื่อจิตว่างจากความยึดมั่นว่ามีตัวเรา นิพพานก็จะปรากฏ คือจิตจะผ่อนคลาย, สงบ, เย็น, เบา, ปลอดโปร่ง, แจ่มใส, และสบายใจอย่างยิ่งทันที เพราะไม่ต้องยึดมั่นหรือแบกหามของหนักเอาไว้ในจิตให้มันหนัก, เหนื่อย, ทรมาน, หรือเป็นทุกข์ไปเปล่าๆด้วยความโง่ของจิตเอง
เมื่อนิพพานปรากฏพร้อมกับเกิดความรู้ขึ้นมาว่า นี่คือการดับทุกข์ที่ถูกต้องแล้ว เพราะทุกข์ได้ดับลงจริงแล้ว เหตุของทุกข์ก็ได้ดับลงแล้ว นิพพานก็ปรากฏแล้ว การปฏิบัตินี้ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้วก็เรียกว่ามีการเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ด้วยตนเองแล้วอย่างแท้จริง แต่ถ้ายังไม่เกิดความรู้นี้ขึ้นมา ก็เรียกว่ายังไม่เกิดการเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ จริง.
๑๑. การนำอริยสัจ ๔ มาใช้ในชีวิตประจำวัน
เมื่อเราเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว ต่อไปก็เป็นการนำเอาอริยสัจ ๔ นี้มาใช้จริง ซึ่งการปฏิบัติโดยสรุปก็คือ ให้มองเห็นทุกสิ่งว่าเป็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรอยู่โดยจุดสำคัญก็คือพยายามมีสติระลึกถึงตัวเราอยู่เสมอว่า นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนี้เองเป็นพื้นฐาน
เมื่อมีเวลาว่างเราก็ต้องหมั่นฝึกฝนสมาธิขั้นสูง เพื่อให้จิตเข้มแข็งและอบรมปัญญาเพื่อให้แหลมคมอยู่เสมอจนชำนาญอย่างยิ่ง เพื่อเอาไว้ระวังไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น หรือเมื่อเผลอให้ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็จะได้ดับมันได้ตามต้องการ
เวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์เมื่อต้องพบปะผู้คนหรือเมื่อต้องทำหน้าที่การงานก็ให้มีสติดึงเอาปัญญากับสมาธิออกมาคอยระวังอยู่เสมอเป็นพื้นฐาน แล้วความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเผลอสติจนความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อรู้ตัวก็ให้ดึงเอาปัญญากับสมาธิมาระงับหรือดับทุกข์ที่เกิดขึ้นทันที ถ้ายังทำไม่ได้เพราะยังฝึกสมาธิมาไม่พอ หรือปัญญายังไม่แหลมคมพอ ก็ต้องกลับไปฝึกฝนอบรมสมาธิและปัญญามาใหม่
สรุปได้ว่าหลักอริยสัจ ๔ นี้เราทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ไม่ว่าภายนอกเราจะเป็นคนชาติใดหรือนับถือศาสนาใดก็ตาม หรือแม้เราจะทำหน้าที่การงานหรือทำกิจวัตรใดๆอยู่ก็ตาม โดยให้เรามองเห็นความว่างจากตัวตนอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลา เรียกว่าทำไปด้วยจิตว่าง หรือทำไปตามหน้าที่ เพื่อหน้าที่ ไม่ทำเพื่อใคร และมีผลเป็นนิพพานคือมีจิตที่สงบเย็นอยู่ตลอดเวลา.
๑๒. ความเห็นที่ถูกต้อง
จากการศึกษาบทที่ ๔ มาทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลมาพิจารณาเท่านั้น โดยมีความจริงที่เราจะสามารถรับรู้ได้จริงเป็นเครื่องยืนยัน ส่วนว่าใครจะยอมรับเหตุผลและความจริงเหล่านี้หรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องส่วนตัวบังคับกันไม่ได้ ถ้าใครยังไม่ยอมรับก็ไม่ต้องสนใจที่จะศึกษาให้ยิ่งขึ้นรวมทั้งไม่ต้องนำเอาปฏิบัติ เพียงรับเอาไว้เป็นความรู้ประดับสมองเท่านั้นก็พอแล้ว สักวันถ้าถูกความทุกข์คุกคามขึ้นมาแล้วยังหาทางดับมันไม่ได้ ก็ยังอาจจะนำเอาหลักการของอริยสัจ ๔ นี้มาใช้ดับทุกข์นั้นได้ทันที
ส่วนผู้ที่ยอมรับก็อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ (ตามหลักกาลามสูตร) ให้นำหลักการนี้ไปทดลองปฏิบัติดูก่อนถ้าปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเต็มความสามารถแล้วความทุกข์ไม่ดับลงจริงตามที่ศึกษามาก็ให้เลิกสนใจได้ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดความเห็นแจ้งหรือเห็นจริงด้วยจิตของตนเองว่าหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าดับทุกข์ได้จริงจึงค่อยปลงใจเชื่อ และนำเอาหลักอริยสัจ ๔ นี้ไปปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป และถ้าเห็นว่าหลักอริยสัจ ๔ นี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์บ้างก็ให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไป.
..................................


http://www.dra.go.th/dra_new/religion_buddha/buddha_2.asp

ระบอบการเมืองการปกครองไทยที่ผิดพลาดมาแล้ว 17 ครั้ง ในช่วงเวลา 75 ปี ประเทศตกอยู่ระบอบเผด็จการ 2 ขั้วสลับกันระหว่างเผด็จการรัฐประหาร กับเผด็จการโดยลัทธิรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ประเทศไทยล้าหลัง ตกต่ำอย่างรอบด้านในทุกสถาบัน ซึ่งเป็นความอัปยศอดสูใจยิ่งนัก ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองไทย คณะพรรคการเมืองที่มีอำนาจขาดการรู้สัจธรรม ไม่สนใจไยดีในธรรม แต่กลับชวนกันพากันหลงใหล มัวเมาประชาชน ให้โง่งมงายในวัตถุเครื่องรางของขลังอันไร้แก่นสาร ทั้งๆ ที่น่าจะรู้ว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ถ้ายอมรับว่าเป็นมิจฉาทิฐิมาแล้ว 75 ปี จะแก้ปัญหาได้
       ห่วงใยในชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่งแทนปวงชนทุกคนในประเทศ และแนะนำด้วยสัจธรรมและความเมตตาอันสูงสุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนดีมากๆ คนหนึ่ง แต่ท่านยังไม่ได้มีนโยบาย (Policy) ยกระดับเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง ยังเดินตามรอยแนวทางนรก คือ ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยเช่นเดิม ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นแนวทางสู่นรก ผิดไปจากคลองธรรม ผิดพลาดมาแล้วอย่างซ้ำซาก แต่ก็ยังทำเหมือนเดิมอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หรือจะเป็นเวรกรรมของประเทศ ดุจถูกต้องคำสาปแช่งฉะนั้นหรือไร ธรรมะเท่านั้นจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้
        แม้ว่าคณะผู้ยกร่าง จะยกร่างให้หมวด และมาตรานั้นๆ อ่านแล้วดูดี สวย เริดหรูเพียงไรก็ตาม แต่ก็จะต้องล้มเหลวเช่นเดิม ทั้งนี้เพราะเป็นการจัดความสัมพันธ์ที่ผิดไปจากกฎแห่งธรรม
        ท่านนายกฯ ลองพิจารณากฎอิทัปปัจจยตานี้ดู เผื่อว่าจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้คิดใหม่ทำใหม่ให้ถูกต้องโดยธรรมเสียที กฎนี้เป็นหลักหรือเป็นตัวตั้งหรือเป็นกฎทั่วไป (General Law) หมายความว่ากฎนี้ครองคลุมเหตุปัจจัยอื่นทั้งหมดทั้งปวงที่เกี่ยวพันสัมพันธ์กันทั้งหมด อิทัปปัจจยตา มาจากคำว่า อิทะแปลว่า นี้, “ปัจจยตาแปลว่า ความเป็นปัจจัย, ความที่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น
         มีคำที่จะต้องทำความเข้าใจได้แก่ คำว่าเหตุ (Cause) สิ่งที่ให้เกิดผล (effect) โดยตรง หรือ หมายถึงต้นเหตุโดยตรงของสิ่งนั้น (ผล) เช่น ชายผู้หนึ่งต้องการจะได้รถยนต์ เหตุโดยตรงก็คือความต้องการของชายผู้นั้น
        และถ้าเป็นเหตุโดยอ้อม หรือมีตัวแปรหลายๆ ตัวมาประชุมกัน เรียกว่า ปัจจัย” factor แปลว่า เครื่องก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ออกมา หรือสะสมขึ้นมาอย่างครบถ้วน, ปะจะยะ เรียกว่า ปัจจัย แปลว่า สะสมขึ้นมาอย่างครบถ้วนเพื่อเกิดสิ่งใหม่ ได้แก่การปรุงแต่ง, นี้เรียกว่าปัจจัยมันปรุงแต่ง เช่น เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ขบวนการผลิต สี ฯลฯ ประกอบกันขึ้น แล้วก็เกิดเป็นสิ่งใหม่เป็นรถยนต์ นี่เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัย
        กฎอิทัปปัจยตานี้ เป็นกฎที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดำรงอยู่อย่างธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง ไม่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น พระองค์ทรงตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น ง่ายต่อการเข้าใจ มีแสดงในพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ข้อที่ 865 มีใจความว่า
               อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี
               อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น
               อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
               อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ
       พระพุทธเจ้าตรัสรู้ กฎอิทัปปัจจยตา และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู และทรงบัญญัติคำสอนทั้งหมดเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ และเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของมนุษย์ก็ตาม ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากกฎอิทัปปัจจยตานี้ไม่
        กฎอิทัปปัจจยตา คือลักษณะความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยระหว่างเหตุและผล ในลักษณะ 4 มิติ 3 ลักษณะ คือ ลักษณะกุศล ก้าวหน้า ลักษณะเป็นกลางๆ และลักษณะอกุศล เสื่อม มีลักษณะคล้ายกับฟันเฟืองเครื่องจักร หรือเหมือนกับแม่สี 3 สีผสมกันเรื่อยไปอย่างไม่รู้จบสิ้น ถ้าปัจจัยเหตุดี ปัจจัยผลก็จะดี แต่ถ้าปัจจัยเหตุเลว ปัจจัยผลก็จะเลว ซึ่งต่างก็รู้กันโดยทั่วไปว่า กฎแห่งกรรมแสดงให้เห็นดังนี้
               (1) เมื่อมีปัจจัยเหตุ ก็มีปัจจัยผล หรือเมื่อมีปัจจัยเหตุ เป็นปัจจัยให้มีปัจจัยผล
               ปัจจัยเหตุ ปัจจัยผล (Cause factor & result factor)
               (2) เพราะมีปัจจัยเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยผลก็เกิดขึ้น (ถ้าเหตุดีเกิดขึ้น ผลดีก็ย่อมเกิดขึ้น)
               ปัจจัยเหตุ ปัจจัยผล (Cause factor & result factor)
               (3) เมื่อปัจจัยเหตุไม่มี ปัจจัยผลก็ไม่มี
               (4) เพราะปัจจัยเหตุดับ ปัจจัยผลก็ดับ
        เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายเหตุปัจจัยทางจิตของมนุษย์ พระองค์ทรงเรียกว่า กฎปฏิจจะสมุปบาท (ปฏิจจะ แปลว่า อาศัย สมุปบาท แปลว่า เกิดขึ้นครบถ้วน) พระพุทธเจ้าตรัสว่า กล่าวคือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมี วิญญาณ ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้นอกจากนี้ เช่น อริยสัจ 4, มรรคมีองค์ 8 ฯลฯ ก็ไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายบวกเช่นกัน และถ้านำมาอธิบายแนวทางระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิหรือล้าหลังในปัจจุบัน จะได้ว่า
                  (1) เมื่อมีระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิเป็นเหตุ เป็นผลให้รัฐบาลมิจฉาทิฐิเกิดขึ้น
               (2) เพราะระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิเกิดขึ้น รัฐบาลมิจฉาทิฐิก็เกิดขึ้น
               (3) เมื่อระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิไม่มี รัฐบาลมิจฉาทิฐิก็ไม่มี
               (4) เมื่อระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิดับ รัฐบาลมิจฉาทิฐิก็ดับ
      อีกนัยหนึ่งเป็นแนวทางสัมมาทิฐิหรือก้าวหน้า ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิก็จะตรงกันข้าม
               (1) เมื่อมีระบอบการเมืองสัมมาทิฐิเป็นเหตุ เป็นผลให้รัฐบาลสัมมาทิฐิเกิดขึ้น
               (2) เพราะระบอบการเมืองสัมมาทิฐิเกิดขึ้น รัฐบาลสัมมาทิฐิก็เกิดขึ้น
               (3) เมื่อระบอบการเมืองสัมมาทิฐิไม่มี รัฐบาลสัมมาทิฐิก็ไม่มี
               (4) เมื่อระบอบการเมืองสัมมาทิฐิดับ รัฐบาลสัมมาทิฐิก็ดับ
               อีกนัยหนึ่งเป็นแนวทางสัมมาทิฐิหรือก้าวหน้า ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิก็จะตรงกันข้าม
               ถ้าท่านนายกฯ มีปัญญาโดยธรรมเกิดขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยให้สร้างระบอบฯ อย่างถูกต้อง
               การมีระบอบการเมืองที่ถูกต้อง ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการปกครองถูกต้อง
               การมีการปกครองที่ถูกต้อง ย่อมเป็นปัจจัยให้มีระบบเศรษฐกิจถูกต้อง
               การมีระบบเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ย่อมเป็นปัจจัยให้สังคม ฯลฯ ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดขับเคลื่อนไปในแนวทางที่ถูกต้องด้วยอย่างเป็นไปเอง
               อีกนัยหนึ่งเป็นแนวทางสัมมาทิฐิหรือก้าวหน้า ถ้าเป็นแนวทางมิจฉาทิฐิก็จะตรงกันข้าม
               ระบอบการเมืองที่ถูกต้องโดยธรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้รัฐบาลถูกต้อง
               รัฐบาลถูกต้อง ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว บุคคล หรือส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดดำเนินไป ขับเคลื่อนไปในแนวทางที่ถูกต้องด้วยอย่างเป็นไปเอง
               ขอยืนยันว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดหลุดพ้นไปจากกฎธรรมชาติ นี้ได้ เพียงแต่เราจะเลือกให้ดำเนินไปในทางกุศล อันทางที่ดำเนินไปอย่างเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า หรือนำจะปล่อยให้ดำเนินไปในทางอกุศล อันเป็นแนวทางจะทำให้ประเทศไทยเสื่อมถอย เกิดโกลาหล ตกอยู่ในความอัปยศอดสูมาอย่างยาวนานร่วม 75 ปีแล้วต่อไปอีกเช่นนั้นหรือ
               เราขอย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ปัจจุบัน ยังเป็นแนวทางมิจฉาทิฐิ คือการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตย เป็นการหลงทางนรกซ้ำรอยเดิมมา 17 ครั้งแล้ว คิดไตร่ตรองให้จงหนัก
               สิ่งที่รัฐบาลจะทำให้ถูกโดยวิถีธรรม เป็นแนวทางสัมมาทิฐิ คือ การสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 (อธิบายให้ทราบหลายตอนแล้ว) ก็คือการสร้างระบอบโดยธรรมขึ้นมาก่อนนั่นเอง จึงไปดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักการปกครอง เพียงเท่านี้ ก็จะเป็นการสร้างระบอบการเมืองการปกครองโดยธรรมอย่างสัมมาทิฐิ ถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังสามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามที่แนะนำนี้ รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นผู้เปลี่ยนจากแนวทางนรก ตกเหว ไปเป็นแนวทางสัมมาทิฐิที่สร้างสรรค์และก้าวหน้า มั่นคง ยิ่งกว่าประเทศอื่นใดในโลก
               นอกจากนี้หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ยังมีมีลักษณะพิเศษซ้อนอยู่หลายมิติ คือ
               1. เป็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด
               2. เป็นหลักการปกครองโดยธรรม
               3. เป็นระบอบการเมืองที่ชัดเจนไม่ลวงประชาชน ดังที่เคยทำมาแล้ว
               4. เป็นรากฐานของหลักนิติธรรมอย่างสมบูรณ์ที่สุด
               5. ประยุกต์มาจากกฎธรรมชาติเข้ากับลักษณะพิเศษของประเทศไทย ฯลฯ
               จึงขอแนะนำย้ำสอนท่านนายกฯ ให้พิจารณาอย่างแยบคาย เปลี่ยนมาเป็นการสร้างหรือสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม นั่นก็คือการสร้างระบอบโดยธรรมขึ้นมาก่อนเป็นรูปธรรมให้ประชาชนสัมผัสได้และได้ประจักษ์ใจในคุณค่าของระบอบโดยธรรม จากนั้นจึงไปยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่แนะนำนี้แล้วไซร้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็เตรียมใจกันได้เลยว่าประเทศไทยจะมีแต่ความปั่นป่วนตลอดไป และเป็นที่เสียดาย เสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่คนดีๆ อย่างท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีโอกาสแล้ว มีอำนาจแล้ว ก็ยังนำพาประชาชนลงนรกเช่นเดิมอีกกระนั้นหรือ จึงมั่นใจว่าขอเพียงท่านนายกฯ รู้แจ้งใจเพียงคนเดียวก็เกินพอ ประเทศชาติจะมั่นคง ดำรงอยู่ได้นับ 1,000 ปี
........................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น