วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิชา พระไตรปิฎกวิเคราะห์ บรรยายโดย อ.สิทธิโชค


อ่านเพื่อประมวลคำตอบหลากหลายในประเด็นเดียวกัน
.......
บางกรณีคำตอบอาจมาจากหลายที่มา เช่น
            1. มาจากพระไตรปิฎกอันเป็นพุทธวจนะโดยตรง หรือคำอธิบายของพระเถระสำคัญอื่น ๆ
2. มาจากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
3. มาจากมติของเกจิอาจารย์ หรือบุรพาจารย์อื่นๆ
ตัวอย่าง เหตุการณ์ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
- ทันทีที่ประสูติ มีเทวดามารับ นำน้ำเย็นน้ำร้อนมาชำระพระวรกาย
- พระกุมารทรงยืน ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ชูพระดรรชนีขึ้นฟ้า ประกาศอาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐในโลก เป็นใหญ่ในโลก นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป"
- เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว (อรรถกถาเติมว่า ขณะเสด็จดำเนินมีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาทด้วย)
- เกิดปรากฏเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่างๆ อีกมากมาย (จะตอบว่าอย่างไร)
หน้าที่ของผู้ศึกษาก็คือ
1. สำรวจว่าเหตุการณ์นี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่
- ถ้ามี มีทุกเรื่องหรือไม่
- บางเรื่องเติมภายหลัง ถ้าอ่านพระไตรปิฎกก็ทราบว่า มีบันทึกในพระไตรปิฎก ในรูปแห่งพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าด้วย มิใช่อรรถกถาแต่งขึ้น เพียงแต่บางอย่างเติมเข้ามา เช่น ดอกบัวผุดรองรับพระบาทไม่มีในพระดำรัสตรัสเล่า
            2. เมื่อทราบแล้ว ก็ดูต่อไปว่า ท่านอธิบายอย่างไร คือแปลความหมายไปกี่อย่าง ก็ทราบดังต่อไปนี้
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง หากเป็น "สัญลักษณ์" หรือ "บุพนิมิต" ดังทรงอธิบายว่า การที่เทวดามารับ แสดงว่า พระกุมารจะได้รับการยอมรับจากเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียง เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส
- การที่เสด็จดำเนินไปทางทิศเหนือ แสดงว่า จะทรงอยู่เหนือ หรือเอาชนะความเห็นผิดต่างๆ ที่มีในยุคนั้น
- การที่ทรงชี้พระดรรชนีแล้วเปล่งอาสภิวาจา แสดงว่าจะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้แก่โลก
- การที่เสด็จดำเนินได้ 7 ก้าว แสดงว่า จะทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในแว่นแคว้นทั้ง 7 (ซึ่งนับจริงๆ เกิน 7 พระองค์จึงจับคู่ นับสองแว่นแคว้นเป็นหนึ่ง เป็นต้น)
- เมื่อตรวจอรรถกถา และพระไตรปิฎก มีคำอธิบายคล้ายกัน คือ ท่านกล่าวว่า เหตุการณ์มหัศจรรย์ต่างๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นเป็น "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์" มิใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์ หรือ อิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
เรื่องพระโพธิสัตว์ มี 2 ชนิดคือ
    1. อนิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่บารมียังไม่สมบูรณ์ยังไม่แน่นอนว่าจะตรัสรู้เมื่อใด
 2. นิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมจะตรัสรู้ในไม่ช้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทที่ 2 เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระโพธิสัตว์ เป็นปรากฏการณ์โดยธรรมชาติ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด
- พูดอีกนัยหนึ่ง การพูดได้ เดินได้ ทันทีหลังจากประสูติ เป็นของธรรมดาสำหรับพระโพธิสัตว์ เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้จริง ไม่ผิดปกติและไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่อย่างใด
- เช่นเดียวกับการที่นกบินได้ หรือการที่ปลาอยู่ในน้ำได้ทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจและไม่ขาดใจตาย เป็น "ธรรมดา" ของนกและปลา มิใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด
ยังมีอีกหลายเรื่อง หลายประเด็น ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกแล้ว พยายามหาความหมายระหว่างบรรทัดจะได้รับความรู้และได้คำตอบที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น