วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิชา พระไตรปิฎกวิเคราะห์ บรรยายโดย อ.สิทธิโชค ๑

อ่านเพื่อหาความหมายระหว่างบรรทัด...อ่านอย่างไร
จากกรณีศึกษา (พระพุทธองค์พบอุปกาชีวก)
1. อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่... ถ้าเชื่อ.. ทำไมไม่ทรงแสดงธรรมโปรด ในประเด็นนี้ คำตอบควรจะเป็นอย่างไร
- ถ้าพิจารณาจากวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าแน่นอน การที่เขาสั่นศีรษะ แสดงว่าเชื่อถือพระพุทธองค์ (ชาวอินเดียสั่นศีรษะ หมายถึงยอมรับ)
- คำโต้ตอบที่อุปกาชีวกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส = ดูก่อนท่านผู้มีอายุ คำที่ท่านพูดนั้น พึงเป็นไปได้ ก็ยืนยันเหตุผลนี้
- ถามว่า ถ้าเชื่อแล้ว เพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงธรรมให้ฟัง และถ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังอุปกาชีวกคงได้บรรลุธรรม
-  ถ้าเช่นนั้นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะพลิกโฉมหน้าไปจากที่รับทราบกันหรือไม่
- คำตอบก็น่าจะเป็นว่า เหตุที่ไม่ทรงแสดงธรรมโปรดอุปกาชีวก ก็คงเพราะต้องการโปรดปัญจวัคคีย์ก่อนใครอื่น
- ปัญจวัคคีย์เป็นศิษย์เก่า ปฏิเสธพระพุทธองค์ว่าการที่ทรงเลิกทุกรกิริยาไม่มีทางตรัสรู้แน่นอน เมื่อตรัสรู้แล้ว จึงทรงต้องการแก้ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ จึงไม่สนพระทัยแสดงธรรมให้คนอื่น แม้ว่าถ้าทรงแสดง เขาอาจบรรลุธรรมได้ แต่ไม่ทรงประสงค์
- การที่ปัญจวัคคีย์ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ จะช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความราบรื่น และรวดเร็ว
-  เพราะถ้าไม่โปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วไปแสดงธรรมแก่คนอื่น คนที่เขารู้ความเป็นมาก็จะตำหนิได้ว่า พระสมณะโคดมนั้น แม้ศิษย์ยังตีตัวออกห่าง ธรรมที่อ้างว่าได้ตรัสรู้นั้นจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร
- หรือไม่ปัญจวัคคีย์นั้นเอง ถ้ารู้ว่าพระพุทธองค์ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะ "ดิสเครดิต" พระองค์ได้ว่า อย่าไปเชื่อท่านผู้นี้ พวกเราอยู่ใกล้ชิดมาก่อน ย่อมรู้จักดี เขามิได้ตรัสรู้แต่ประการใด อย่างนี้เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ คือ เหตุผล ที่ผู้อ่านอาจจะได้จากการพินิจพิจารณาจากบริบท ในพระไตรปิฎกตอนนี้ (แน่นอน คำตอบที่ได้ อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง และวิธีคิดของผู้อ่านแต่ละคน แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไรก็ตาม ถ้ามีเหตุมีผลพอฟังได้ ก็สมควรรับฟัง)
……………..
2. อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่พระพุทธเจ้าทันทีที่ทอดพระเนตรเห็น อุปติสสะมาณพ กับ โกลิตะมาณพ เดินเข้าพระเวฬุวันมา พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปแล้วตรัสบอกภิกษุสงฆ์ ที่เฝ้าอยู่ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"
- ถามว่าเพราะเหตุไร สองคนนั้นยังไม่ได้บวชเลย พระองค์จึงจะทรงแต่งตั้งเป็นอัครสาวก ครั้นท่านทั้งสองบวชได้เพียง 2 สัปดาห์ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเลย ทรงละเลยพระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ เช่น พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะไปหมด มิเป็นการเห็นแก่หน้าหรือ
คำตอบก็น่าจะหาได้จากความหมายระหว่างบรรทัด เช่น
- ระยะนี้เป็นเวลาที่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนา จะต้องเสนอแนวคิดใหม่ที่แตกต่างไปจากความเชื่อถือดั้งเดิม การจะทำงานประสบความสำเร็จ พระองค์จะต้องมี "มือ" สำคัญในการเผยแพร่คำสอน
- บุคคลที่จะเป็น "มือ" ทำงานได้สำเร็จ จะต้องเป็นผู้ที่รู้คำสอนดั้งเดิมของพวกพราหมณ์ดี และมีวาทศิลป์ในการโต้แย้ง หักล้างพวกพราหมณ์ได้ หาไม่จะไม่มีทางกลับใจพวกพราหมณ์ให้มานับถือพระพุทธศาสนาได้
- พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะนั้น...เป็นพราหมณ์ผู้เรียนจบไตรเพทมาก่อน
- ย่อมมีความรู้ความสามารถที่จะโต้เถียงหักล้างพวกพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี เหมาะสมกว่าพระเถระผู้เฒ่าเช่นพระมหากัสสปะ และพระอัญญาโกณฑัญญะ (ผู้ซึ่งชอบชีวิตสงบ ถือธุดงควัตรมากกว่า) การที่ทรงแต่งตั้งพระหนุ่ม พรรษาน้อย เพื่อผลทางการทำงานการเผยแผ่พระศาสนา มากกว่าอย่างอื่น หาใช่ทรงเห็นแก่หน้าบุคคลไม่

นี่คือ ลักษณะของการอ่านหาความหมายระหว่างบรรทัด
 
พระพุทธเจ้า : ผู้ทรงเป็นพระศาสดาเอกของโลก

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส,
เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส,
เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส,
อยมนฺติมา เม ชาติ, นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.
เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
 ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา การเกิดจะไม่มีอีกต่อไป
(ที.ม.๑๐/๒๖ หรือ ม.อุ.๑๔/๓๗๗)
อาสภิวาจา ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้เปล่งออกมาเพื่อยืนยันถึงความเป็นเลิศ ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น