วิเคราะห์ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก
ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฏก
หลังจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ชาวพุทธจึงได้ยึดพระธรรมคำสั่งสอนเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ พระอรหันต์สาวกได้รวบรวมพระธรรมคำสอน ที่เรียกว่า “พระไตรปิฎก” สืบทอดกันมาด้วยวิธีการบอกเล่าแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) จนต่อมามีการจดจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และได้แพร่กระจายสู่ดินแดนต่าง ๆ ที่มีพุทธศาสนิกชนเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการชำระพระไตรปิฎกมีการกระทำกันเป็นช่วง ๆ เรียกว่า “สังคายนา” พระไตรปิฎกถือเป็นองค์ความรู้สำคัญที่เป็นรูปธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่รวมพุทธวจนะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ คือ
1. พระวินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมพระวินัย ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์กติกาสำหรับรักษาภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ไว้
2. พระสุตตันตปิฎก เป็นที่รวบรวมพระสูตรทั้งหลาย คือธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นแต่ละเรื่อง ๆ ไป
3. พระอภิธรรมปิฎก เป็นที่รวบรวมคำอธิบายหลักคำสอนที่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นหลักการแท้ ๆ หรือเป็นวิชาการล้วน ๆ
ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก สามารถแยกออกได้ดังนี้
1. เป็นศาสดาของชาวพุทธ เนื่องจากพระไตรปิฎก ก็คือที่รวบรวมพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า นี่คือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษาแล้วเล่าเรียน และปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎก
2. เป็นเกณฑ์มาตรฐานว่าเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า “เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่” ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้รวบรวมประมวลสังคายนาและรักษาสืบต่อไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนจากนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกก็ถือว่าเป็นพระพุทธศาสนา
3. เป็นองค์ประกอบพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกถือว่าเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด ๆ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งแต่ละหมวดก็มีคุณค่าอย่างมากมายเช่น พระวินัยปิฎก มีคุณค่าอยู่ 5 ประการ คือ (พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. 2542 : 79-80)
ประการที่ 1 พระวินัยคืออายุของพระพุทธศาสนา ตราบใดที่เรายังปฏิบัติตามพระวินัย ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่
ประการที่ 2 พระวินัยเป็นด้ายร้อยเรียงลักษณะนิสัย/พฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน
ประการที่ 3 ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ก็คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงามของสังคมสงฆ์ และเพื่อความสบายใจของสังคมคฤหัสถ์
ประการที่ 4 พระวินัยสร้างหลักประกันให้บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน และเมื่อตายไปก็ตายอย่างมีสติ และย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ประการที่ 5 ความเป็นกฎเกณฑ์และความมีคุณค่าทางสังคมของพระวินัยเห็นจาก การรักษาวินัยก็คือ การรักษาศีล ซึ่งศีลมีลักษณะที่มีผลต่อสังคม 4 ประเด็นคือ
ประเด็นที่ 1 สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่มีรากฐานแข็งแกร่ง
ประเด็นที่ 2 สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่ไร้ทุกข์โทษ
ประเด็นที่ 3 สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมสะอาด
ประเด็นที่ 4 สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมแห่งความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว
4. เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการประพฤติตนเป็นคนดี มีศีลธรรมตามหลักของพระวินัย การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนในการดำเนินวิถีชีวิตในแต่ละวันให้มีความสุข ตามหลักของพระสุตตันตปิฎก และเป็นแนวทางการเข้าใจถึงกฎของธรรมชาติ เข้าใจถึงไตรลักษณ์เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต ตามหลักของพระอภิธรรมปิฎก
-
วิเคราะห์พระไตรปิฎก (ทหรสูตร)
โดย...สนฺตจิตฺโต
ทหรสูตร
1. ชื่อพระสูตร
ทหรสูตร ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย อยู่ใน โกสลสังยุต ปฐมวรรค หมวดที่ ๑ ก่อนนั้นขอกล่าวถึงสังยุตตนิกายอยู่ในพระสูตรมีทั้งหมด ๗๗๖๒ พระสูตรทั้งยาวสั้นจัดเป็นพิเศษแบ่งเป็น ๕ วรรคคือ สถาถวรรค นิทานวรรค ขันธวรรค สฬายตนวรรค และมหาวรรค แต่ละวรรคแบ่งเป็น ๕๖ หมวดเรียกว่าสังยุต หัวข้อเป็นกลุ่มกัน สังยุตมีชื่อตามที่หัวข้อ เช่น โพฌชงค์สังยุต เรื่ององค์การตรัสรู้ ๘ ประการหรือตามบุคคลเช่น เช่นพระสารีบุตร พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือท้าวสักกะ โกศลสังยุตต์เป็นพระสูตรเกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศลและเทวดาสังยุตต์เรื่องเทวดาเช่น ท้าวสักกะ พระอินทระ พรหมเป็นต้น แต่ละสังยุตต์ยังแบ่งเพิ่มเป็นวรรคประกอบพระสูตร ดังนั้นธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นพระสูตรแรกในวรรคที่ ๒ สัจจสังยุตต์อยู่ในมหาวรรคสังยุตต์นิกาย มีพระสูตรน้อยแสดงเป็นหมวดสำคัญ สคาถวรรค สังยุตต์มี ๑๑ สังยุตต์มีพระสูตรที่จัดรวมไว้ตามลักษณะที่ปรากฏ เทพเจ้า เทวดา พรหม มาร พระเจ้าโกศล ภิกษุและภิกษุณี ชื่อวรรค สคาถวรรคมาจากบุคคลิกที่สนทนาเป็นคาถาร้อยกรอง
2. ความเป็นมา
พระสูตรนี้เป็นการเข้าเฝ้าครั้งแรกของพระเจ้าปเสนทิโกศลในโกสลสังยุตต์มีพระสูตรที่น่าสนใจแสดงถึงการพบปะเป็นประจำของพระเจ้าโกศลกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทราบกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้าจากมเหสีมัลลิกาแต่ยังไม่พบพระองค์ แต่เมื่อพระองค์พบพระพุทธเจ้าในทหรสูตรนี้ พระองค์ตรัสถามว่าพระพุทธเจ้าอ้างว่าบรรลุตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า มีศาสดาเช่น ปูรณกัสสปะ มักขลิโกสล นิครถนาฏบุตร สัญชัยปริพพาชก ปกุทธกัจจายนะ และอชิตกัมพละ พร้อมสาวกตน และแก่กว่าพระพุทธเจ้าและเป็นพระอรหันต์ แต่ครูเหล่านี้ไม่ได้อ้างว่าเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่าถูกต้อง และพระพุทธเจ้าตรัสว่า มีอยู่ ๔ สิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่นเพราะยังเล็กอยู่ คือ พระมหากษัตริย์หนุ่มน้อย งูพิษ ไฟ และภิกษุ เจ้าชายหนุ่มไม่ควรดูหมิ่นพระองค์อาจเป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือสร้างความเสียหายได้ งูพิษเลื้อยเร็วอาจกัดคนที่ ประมาทได้ ไฟเล็กถ้าประมาทอาจสร้างความเสียหายได้ ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
3. เนื้อหาพระสูตร
โดยย่อ
พระสูตรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่ประทับพระพุทธเจ้าและพระเจ้าปเสนทิไปเฝ้าสนทนาปราศรัยพอพระทัยและตั้งคำถาม เรื่องผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงเข้าเนื้อหาที่คล้องจ้องกับสิ่งที่สนทนาเบื้องต้นสิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย และตรัสภาษิตและคาถาพันธ์ที่เกี่ยวกับเรื่อง ๔อย่างไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย โดยตรัสเหตุผลและท้ายพระสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตรัสชมภาษิตและแสดงตนถึงไตรสรณคมน์เป็นอุบาสกตลอดชีวิต
4. การประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากพระสูตรนี้
ด้านบุคคล ประเด็นแรก คือ เน้นที่การกระทำ สามารถนำไปใช้ได้โดยเฉพาะตัวคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเน้น ดังมีคำที่กล่าวไว้ว่า ไม่สำคัญว่าเป็นใคร แต่สำคัญอยู่ที่ว่าทำอะไร การเป็นใครที่เป็นตัวสถานภาพอาจติดตัวมาแต่เกิดหรือได้มาภายหลังนั้นในระดับสังคมที่ถือยังสำคัญอยู่บ้างแต่จะสำคัญยิ่งกว่าถ้าการกระทำตามสถานภาพนั้น เพราะพระพุทธศาสนาเน้นที่การกระทำไม่ได้เน้นที่ตัวสังคม การกระทำจึงเป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นอย่างไร พระสูตรนี้อธิบายได้เป็นอย่างดีให้บุคคลไม่ว่าจะเล็กหรือหนุ่มน้อยหรือสถานภาพชาติกำเนิดหรืออายุอย่างไร ให้ดูไปนานนาน และประเด็นที่ ๒ คือเรื่องการดูหมิ่นดูถูกคนพระสูตรนี้บอกไว้ชัดเจนไม่ให้ดูหมิ่นแต่ให้ให้โอกาสมากกว่า ด้านสังคม ประเด็นแรกคือ การให้การนับถือตามชาติชั้น และอายุ บ่งบอกถึงสังคมในสมัยนั้นที่ให้ความสำคัญว่า คนแก่จะต้องรอบรู้เสมอไปและคนหนุ่มจะต้องรู้น้อยเสมอไป เพราะความซื่อของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลถามฟังคล้ายๆกับจะดูหมิ่นพระพุทธเจ้าออกสักหน่อย โดยถามว่า นี่อะไรกันพระสมณโคดม โดยกำเนิดก็ยังเป็นเด็กเล็กกว่า โดยการบวชเล่าก็ยังใหม่ เป็นหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าทรงพระชนมายุอ่อนกว่าครูทั้ง ๖ อีกประเด็นการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนับเป็น Talk of the Town ของคนในสมัยนั้นแม้กระทั่งพระราชาเองยังทรงให้ความสนพระทัยมีคนอื่นๆที่ปฏิญาญาณตนว่า ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาก่อน ดังคำถามของพระเจ้าปเสนทิโกศลมักลงท้ายด้วยหรือ แม้กระทั่งครูทั้ง ๖ เองก็อ้างว่าตนเองเป็นพุทธะด้วย แต่ก็ยังเรียนวิชา จินดามณีเป็นต้น ยังมีคนนับถือเป็นจำนวนมาก จนพระเจ้าโกศลรับสั่งให้เข้าเฝ้า แต่เมื่ออาราธนาให้นั่งบนอาสนะกลับไม่กล้านั่ง ทำให้พระองค์ทรงทราบว่าท่านทั้งหลายไม่มีธรรมที่เป็นแก่นสารอะไรเลย กลับอ้างว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เข้าใจพุทธวิสัย พระราชาจะทรงกริ้งเอาได้ จะเกิดบาปแก่พระองค์เพราะสงสารพระราชาจึงตอบว่าไม่ได้เป็นทั้งที่จริงตัวท่านเหล่านั้นเป็นพุทธะจริงๆ คำตอบนี้ทำให้ลูกศิษย์ยังนับถือเลื่อมใสในตัวท่านเหมือนเดิม
ด้านการศึกษาประเด็นด้านการศึกษามีหลายด้านจากพระสูตรนี้ทำให้ทราบประวัติศาสตร์พระพุทธ-
ศาสนาในแคว้นโกศลนับเป็นแคว้นที่ใหญ่และฐานที่มั่นพระพุทธศาสนาครึ่งพุทธกาลหลัง ทำให้ทราบปรัชญาศาสนาอินเดียที่มีมานานและความใจกว้างทางศาสนาที่ควรจะนำมาเป็นแบบอย่างบ่งบอกถึงความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก และทำให้ทราบถึงการประยุกต์ใช้ศิลปะศาสตร์ของพระพุทธเจ้าเพื่อการเผยแพร่พระธรรม โดยพระสูตรนี้พระองค์ใช้ ศาสตร์ที่ ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖. เกตุ วิชาพูด ในบรรดา ๑๘ ศาสตร์[1]ประยุกต์สอนได้อย่างได้ผล
ด้านการเผยแพร่การที่จะเผยแพร่ถ้าทำให้ผู้นำนับถือผู้ตามก็จะคล้อยตามประเด็นนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำหรือเป็นหัวหน้าแม้พระองค์จะทำให้มหาเศรษฐีสุทัตตะเลื่อมใสได้แต่ก็ยังเป็นคฤหบดีมีอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีอำนาจด้านการเมืองการปกครองนี้นับเป็นประโยชน์มหาศาล ซึ่งประเด็นนี้พระพุทธองค์เคยใช้กับอุรุเวลกัสสปะและพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ คือการเผยแพร่ให้ผู้นำ
5. รูปแบบและวิธีการเผยแพร่ของพระพุทธเจ้า
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า ในการสอนนั้นการเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมากอย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจและนำเข้าสู่เนื้อหาได้ พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่ทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้าด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดีหรือสนใจอยู่ ดังนั้นในทหรสูตรนี้ พระองค์เริ่มต้นด้วยการตรัสสิ่งที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรู้ดี ในประเด็นเรื่องการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในสมัยนั้นเพราะมีศาสดาหลายท่านที่อ้างตนว่าเป็นศาสนดาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เข้าสู่เนื้อหาโดยตรัสถึงสิ่ง ๔ อย่างที่ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย ได้แก่ ๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์ ๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก ๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อยและ ๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม ซึ่งประเด็นนี้คนในสมัยนั้นจะให้ความให้เกียรติคนที่มีอายุมากเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี ซึ่งในสมัยนั้นร่วมสมัยพระพุทธเจ้าก็คือครูทั้ง ๖ เอง แต่พระพุทธเจ้ายังทรงหนุ่มกว่าท่านเหล่านั้น
เป้าประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมี ๓ อย่าง คือ
๑. ทรงสั่งสอนเพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์ โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ
ในทหรสูตรนี้พระองค์ทรงเน้น ที่อุปมาอุปไมยให้เหมาะกับจริตหรือนิสัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลง่ายและไม่ยาก อุปมาสิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น ๔ ประเภทนั้นเป็นตัวอย่างธรรมดาเนื่องจากพระเจ้าโกศลเป็นพระมหากษัตริย์ที่พึ่งอภิเษกใหม่แทนพระเจ้าโกศล พระองค์ยังหนุ่มรุ่นเดียวพระพุทธเจ้าแต่พระองค์ทรงซื่อ ไม่ฉลาดนัก และพระธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงมีเหตุผลคือสิ่งที่รู้อยู่เป็นบุคคลาธิฏฐานชัดเจน และนี้เองทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล สามารถน้อมรับและนำไปปฏิบัติแสดงตนถึงพระรัตนตรัย และประกาศตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต เป็นคำสอนพระองค์จึงอัศจรรย์ผู้ปฏิบัติตามแล้ว จะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัตินั้นเอง
วิธีการเผยแพร่
ตัวบุคคลผู้สอนเองสำหรับตัวผู้เผยแพร่พระพุทธเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งนับเป็นจริยธรรมของคนที่จะแสดงธรรมเองพระพุทธเจ้าทรงวางคุณธรรมสำหรับคนที่แสดงธรรมโดยตรัสพระอานนท์ ไว้ดังนี้:-
“อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในใจ คือ
๑. เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ
๒. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ
๓. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา
๔. เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส
๕. เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น”[2]
กลวิธีลีลาในการสอน
นับเป็นลีลาในการแสดงธรรม ๔ อย่างคือแจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริงหรือชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน[3] การที่พระองค์อธิบายให้เห็นกับตาเป็นรูปธรรมหรือบุคคลาธิฐานชัดเจนแจ่มแจ้ง แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลนับเป็นสันทัสสนา จนพระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นจริงคล้อยตามนับเป็นสมาทปนา และจากนั้นก็ปลุกให้พระเจ้าปเสนทิโกศลแกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ จนกล่าวว่า พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด นับเป็นสมุตเตชนา และท้ายพระสูตรพระองค์ยอมรับเป็นอุบาสกเกิดความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อเปี่ยมด้วยความหวัง ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไปนับเป็น สัมปหังสนา
รูปแบบวิธีการสอน
รูปแบบวิธีการสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายวิธี ด้วยกัน แบบสากัจฉาหรือสนทนา แบบบรรยาย แบบตอบปัญหาแบบวางกฎข้อบังคับ วิธีการสอนที่ใช้ในทหรสูตรทรงใช้แบบสนทนาและตอบปัญหา
กลวิธีและอุบายประกอบการสอน
การยกอุทาหรณ์และการเล่านิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา การใช้อุปกรณ์การสอน
การทำเป็นตัวอย่าง การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ อุบายเลือกคนและการปฏิบัติรายบุคคล การรู้จักจังหวะและโอกาส ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ การลงโทษและให้รางวัล กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับกลวิธีและอุบายประกอบการสอนที่ใช้ในทหรสูตร ทรงยกข้ออุปมาทรงเปรียบเทียบสิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น ๔ ประการชัดเจน การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ ด้วยทรงใช้คำ เวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์นับเป็นความไพเราะทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเสนาะหู อุบายเลือกคนและการปฏิบัติรายบุคคล พระองค์รู้ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ใหม่ และซื่อ และนับว่าเป็นจังหวะและโอกาสที่พระองค์จะทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเลื่อมใสง่ายต่อการประกาศพระสัทธรรมในแคว้นโกศลแห่งนี้นับเป็นการรู้จักจังหวะและโอกาสที่พอเหมาะของพระพุทธองค์
6. ผลที่ได้รับจากการเผยแพร่
ด้านผู้เผยแพร่ พระพุทธเจ้าเองทรงบำเพ็ญพุทธจริยา คือโลกัตถจริยาและ พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เช่นทรงแสดงธรรม ทรงแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตน ทรงวางพระองค์ต่อผู้ที่เข้ามาบวชและแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะของบิดากับบุตร ผู้ปกครองกัลยาณมิตร ศาสดาผู้เอ็นดูเป็นต้น ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสนั้น ๆ จนสามารถประดิษฐานเป็นรูปสถาบันศาสนาสืบต่อกันมาได้ จากพระสูตรนี้เห็นได้ว่าเป็นพระสูตรแรกที่พระเจ้าประเสนทิโกศลทรงเข้าเฝ้าและเป็นโอกาสที่ดีที่พระองค์จะได้แก้ความเห็นของพระราชาให้ถูกต้องและพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพุทธกิจสังเคราะห์พระราชาให้เลื่อมใสเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชาที่จะปฏิบัติธรรมให้สูงยิ่งขึ้นไป ด้านผู้ฟัง ในที่เน้นไปที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะยังใหม่แต่ก็ทรงเรียนรู้จากครูหลายท่านพระองค์ทรงพอพระทัยในคำสั่งสอนเป็นอย่างมากเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสเสร็จได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต นี้เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าพระพุทธศาสนาและพระธรรมรวมถึงพระสงฆ์เองจะแพร่หลายในแคว้นโกศล นี้เองทำให้พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาในที่แคว้นนี้เป็นเวลา ๒๕ พรรษาเรียกว่ากว่าครึ่งของพุทธภาระกิจพระองค์ทรงประดิษฐานพระศาสนาและนับเป็นฐานที่มั่นแห่งที่ ๒ รองจากแคว้นมคธที่เป็นต้นพุทธกาล ด้านสังคม นับได้รับผลมหาศาลเมื่อพระราชาทรงเลื่อมใสและเข้าใจถูกต้องก็เป็นสิ่งง่ายที่ประชาชนจะต้องรับฟังและปฏิบัติตาม สังคมในแคว้นโกศลที่มีผู้คนหลากหลายทางด้านความคิด และการประพฤติปฏิบัติก็จะทำความเห็นให้ถูกต้องตามพระราชาที่เป็นหัวหน้าผู้ปกครองของแผ่นดิน และสังคมก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการที่จะให้เกียรติและไม่ดูหมิ่นกันและกันในทุกๆเรื่อง
--------------------------------------------------------------------------------
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร 112/127-9
[1] ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่ ๑. สูติ ความรู้ทั่วไป ๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม ๓. สังขยา คำนวณ ๔. โยคยันตร์ การช่างการ ยนตร์ ๕. นีติ นิติศาสตร์ ๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย ๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐. ปุราณา โบราณคดี ๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓. โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖. เกตุ วิชาพูด ๑๗. มันตา วิชามนต์ ๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์, ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่าสิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็นศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ); แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับศาสตร์ ออกจากกัน คือศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
[2] องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๑๕๙/๑๗๔.
[3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธวีธีในการสอน, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิกจำกัด ๒๕๔๔ หน้า 45.
-------------------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น