วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อคิดจากการแปลพระไตรปิฎก


ข้อคิดจากการแปลพระไตรปิฎก


พระสิริสุทัศน์ธรรมาภรณ์ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 225 - 233

พระพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์แทนพระองค์ แต่ได้ตรัสไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
จากพระดำรัสนี้ ชาวพุทธจึงยึดถือเอาพระธรรมวินัยเป็นองค์พระศาสดา ได้กำหนดจดจำพระธรรมวินัยเป็นมุขปาฐะ (คำออกจากปาก, ต่อจากปากกันมา, ข้อความที่ท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า) สืบต่อกันมา ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
วิธีการรักษาพระธรรมวินัย เรียกว่า การสังคายนา (การสวดพร้อมกัน, การร้อยกรองพระธรรมวินัย) หมายถึงพระสงฆ์ประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การทำสังคายนาพระธรรมวินัยมีหลายครั้ง ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอินเดียมี ๓ ครั้ง (ฝ่ายเถรวาท) คือ
การสังคายนาครั้งที่ ๑ ทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและปรารภที่จะให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนา (ตอบ) พระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๗ เดือนจึงเสร็จ
การสังคายนาครั้งที่ ๒ ทำเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ ปรารภเรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรมนอกวินัย ประชุมพระอรหันต์ ๗๐๐ องค์ มีพระยส กากัณฑกบุตรเป็นประธาน พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี ได้พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๘ เดือนจึงเสร็จ
การสังคายนาครั้งที่ ๓ ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔ ปรารภเรื่องพวกเดียรถีย์จำนวนมากปลอมบวชในพระพุทธศาสนา ประชุมพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระมัชฌันติกเถระ กับพระมหาเทวเถระ เป็นผู้วิสัชนา ทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ได้พระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๙ เดือนจึงเสร็จ
พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ได้แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎก หรือ ๓ คัมภีร์อย่างชัดเจนในการสังคายนาครั้งนี้ เรียกว่า ไตรปิฎก คือ
๑. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของพระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
๒. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระพุทธพจน์หมวดพระสูตรหรือพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่าและเรื่องราวทั้งหลาย ที่เป็นชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา มีการกล่าวถึงบุคคล ประเทศ เหตุการณ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรมคือหลักธรรมและคำบรรยายที่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล ประเทศ เหตุการณ์
หลังการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทราบโดยญาณว่า ในภายภาคหน้า พระพุทธศาสนาจะไม่มั่นคงรุ่งเรืองในชมพูทวีป แต่จะไปมั่นคงรุ่งเรืองในประเทศอื่น ๆ จึงขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก
มหาราช จัดส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ ๙ สาย คือ
สายที่ ๑ ส่งพระมัชฌันติกะและคณะ ไปยังแคว้นกัสมิระ และคันธาระ ปัจจุบัน คือ แคชเมียร์
สายที่ ๒ ส่งพระมหาเทวะและคณะ ไปยังมหิสมณฑล ปัจจุบันคือ รัฐไมซอร์ ภาคใต้ของอินเดีย
สายที่ ๓ ส่งพระรักขิตะและคณะ ไปยังแคว้นวนวาสีประเทศ อยู่ทางตอนเหนือของรัฐไมซอร์
สายที่ ๔ ส่งพระธรรมรักขิตะและคณะ ไปยังอปรันตกชนบท ปัจจุบันอยู่แถบตอนเหนือของบอมเบย์
สายที่ ๕ ส่งพระมหาธรรมรักขิตะและคณะ ไปยังแคว้นมหาราษฎร์ อยู่แถบปูนาในปัจจุบัน
สายที่ ๖ ส่งพระมหารักขิตะและคณะ ไปยังโยนกประเทศ อยู่ตอนเหนือของประเทศอิหร่าน (เปอร์เซีย)
สายที่ ๗ ส่งพระมัชฌิมะและพระมหาเถระอีก ๔ รูป ไปยังหิมวันตะเชิงเขาหิมาลัย ปัจจุบันคือประเทศเนปาล
สายที่ ๘ ส่งพระโสณะกับพระอุตตระและคณะ ไปยังสุวรรณภูมิ คือพม่า ไทย หรือ เอเชียอาคเนย์
สายที่ ๙ ส่งพระมหินทเถระพร้อมด้วยคณะไปยังประเทศลังกา (สมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ)
การสังคายนาครั้งที่ ๔ ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ปรารภเหตุที่จะทำให้พระศาสนาตั้งมั่นในประเทศลังกา ประชุมพระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นศาสนูปถัมภ์ ทำอยู่ ๑๐ เดือนจึงเสร็จ
การทำสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนถึงครั้งที่ ๔ ยังไม่มีการจารึกพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีเรียนท่องจำจากครูอาจารย์สืบต่อกันมา
การสังคายนาครั้งที่ ๕ ทำเมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น๒ พวก คือ พวกมหาวิหาร กับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญาลง ไม่อาจจะทรงจำพระธรรมวินัยไว้ได้ ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมสวดซ้อม แล้วจารพระพุทธพจน์ลงในใบลานที่อาโลกเลณสถานในมลยชนบท ลังกาทวีป พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก
ภาษาที่ใช้บันทึกพระธรรมวินัยนั้น เรียกว่า ภาษาบาลี ใช้อักษรสิงหลเขียนเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรสิงหล ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ได้จารึก ภาษาบาลีลงในใบลาน ใช้อักษรของประเทศนั้น ๆ เช่น พระไตรปิฎกฉบับอักษรเทวนาครีของอินเดีย ฉบับอักษรขอม ฉบับอักษรพม่า ฉบับอักษรโรมัน ฉบับอักษรไทย
เมื่อพระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้ามาในประเทศไทย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย พระไตรปิฎกยังไม่ได้จารึกลงเป็นอักษรไทย ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ว่าการสังคายนาพระธรรมวินัยมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระสงฆ์หลายร้อยรูปให้ช่วยกันชำระอักษรพระไตรปิฎกในใบลาน จารึกเป็นอักษรไทยลานนาลงในใบลาน ทำที่วัดโพธาราม ใช้เวลา ๑ ปีจึงเสร็จ
การสังคายนาในประเทศไทยครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ที่ทรงคุณความรู้ให้ร่วมกันชำระพระไตรปิฎก ซึ่งสูญหายกระจัดกระจายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ใช้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นสถานที่จัดทำ อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกเป็นอักษรขอม
ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกปริวรรตพระไตรปิฎกฉบับอักษรขอมเป็นอักษรไทย แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์เป็นรูปเล่ม ๓๙ เล่ม นับเป็นครั้งแรกที่พิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระไตรปิฎกพิมพ์เป็นเล่มได้ ๔๕ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พิมพ์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งคณะกรรมการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย และได้ดำเนินการจัดพิมพ์ในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นเล่มหนังสือ ๘๐ เล่ม เท่ากับจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ในการจัดพิมพ์ครั้งต่อมา ได้ลดจำนวนลงมาเหลือ ๔๕ เล่ม เท่ากับฉบับภาษาบาลี
พ.ศ. ๒๕๓๐ คณะสงฆ์และรัฐบาลไทยได้จัดงานสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทยแล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบนักษัตร
พ.ศ. ๒๕๓๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบนักษัตร มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีเสร็จเรียบร้อยเรียกว่า มหาจุฬาเตปิฏกํ คือ พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจชำระและพิมพ์คำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่าอรรถกถาภาษาบาลีอีกด้วย
วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานสัปดาห์สมโภชพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธาน
พ.ศ. ๒๕๓๗ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำโครงการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นภาษาไทย ที่ชาวพุทธทั่วไปอ่านเข้าใจง่าย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานอุปถัมถ์โครงการการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ได้ทำพิธีเปิดการแปลพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) วัดเบญจมบพิตรเป็นประธานฝ่ายบรรพชิต นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์
อนึ่ง ในการแปลพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะจากภาษาบาลี ภาษาสิงหล หรือภาษาสันสกฤต ไปเป็นภาษาของประเทศต่าง ๆ ที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปถึง ได้กระทำเมื่อพระศาสนาได้เจริญตั้งมั่นในประเทศนั้น ๆ แล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยในภาษาของตนได้ดียิ่งขึ้น
ในการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นภาษาไทยนั้น มหาวิทยาลัยต้องการให้ผู้อ่านทุกระดับเข้าใจอรรถธรรมได้ง่ายที่สุด แม้ผู้ไม่มีความรู้ทางภาษาบาลีมาก่อน ก็สามารถอ่านทำความเข้าใจได้โดยไม่ยาก ดังนั้น จึงได้วางหลักการแปลไว้ดังนี้
๑. แปลโดยอรรถ ด้วยสำนวนภาษาไทยที่เห็นว่าจะเป็นที่เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ หรือสามารถใช้ศึกษาพุทธธรรมด้วยตนเองได้ ให้ได้ความตรงกับความหมายและสาระสำคัญ ตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ให้ผิดเพี้ยนทั้งอรรถและพยัญชนะ
๒. เพื่อให้การแปลได้เป็นไปตามหลักการข้อ ๑ เมื่อจะแปลเรื่องใดหรือสูตรใด ให้อ่านและศึกษาเรื่องนั้นให้ทั่วถึง เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้งทั้งอรรถและพยัญชนะ โดยตีความคำศัพท์ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ ตลอดถึงวิเคราะห์ดูความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องหรือสูตรนั้น ๆ โดยทั่วถึง แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย
๓. ในการตีความดังกล่าวในข้อ ๒ ให้ตรวจสอบกับคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ของพระไตรปิฎกเล่มและตอนนั้น ๆ ตลอดถึงคัมภีร์ศัพทศาสตร์และปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทั่วถึง และให้เทียบเคียงกับสำนวนพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาอังกฤษด้วย
๔. คำศัพท์ที่เป็นหัวข้อธรรม เช่น อิทธิบาท ๔ หรือข้อธรรมย่อยอันเป็นรายละเอียดของหัวข้อธรรม เช่น ฉันทะ วิริยะ ให้แปลทับศัพท์ไว้ แล้วเขียนคำแปลถอดความควบคู่กันไปไว้ภายในเครื่องหมายวงเล็บ เช่น อิทธิบาท (คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย)
๕. ถ้าศัพท์ใดที่เป็นชื่อข้อธรรม หรือชื่อหัวข้อธรรมดังกล่าวแล้วในข้อ ๔ ปรากฏซ้ำซ้อนกันในเรื่องเดียวกันหรือสูตรเดียวกัน ให้แปลทับศัพท์ควบคู่กับแปลถอดความในวงเล็บเล็ก เฉพาะคำที่ปรากฏครั้งแรกเท่านั้น คำต่อมาให้แปลทับศัพท์อย่างเดียว
๖. ให้รักษาเอกภาพการแปลไว้ อย่าให้มีความลักลั่นในการแปล กล่าวคือเมื่อคำศัพท์อย่างเดียวกันมีปรากฏในที่หลายแห่งหรือหลายสูตร ถ้ามีความหมายอย่างเดียวกันให้แปลตรงกัน หรือเมื่อข้อธรรมอย่างเดียวกันมีปรากฏในหลายที่หลายแห่ง มีนัยอย่างเดียวกัน ให้แปลตรงกัน เช่น ข้อความจากพระวินัยปิฎกบ้าง หรือพระสุตตันตปิฎกบ้าง ที่นำมากล่าวอ้างอิงไว้ในพระอภิธรรม ให้แปลตรงกันทั้ง ๒ ปิฎก พร้อมทั้งทำเชิงอรรถบอกที่มาของข้อความหรือของสูตรนั้น ๆ ด้วย
๗. ที่ใดมีข้อควรรู้เป็นพิเศษ หรือเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ให้ทำเชิงอรรถแสดงความเห็นหรือเหตุผลในการวินิจฉัยไว้ด้วย เช่น บาลีที่กล่าวถึงพุทธธรรม โดยบอกเพียงจำนวนไม่ให้รายละเอียดไว้ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ หรือมิได้บอกจำนวนและรายละเอียดไว้ ให้ทำเชิงอรรถบอกที่มาของรายละเอียดนั้นด้วย เมื่อพบว่ามีจำนวนและรายละเอียด อนึ่ง ที่ใดมีศัพท์ที่แปลยาก อาจแปลได้หลายนัย หรือพบว่ามีมติให้การตีความไว้หลายอย่าง เมื่อตัดสินแปลคำนั้นอย่างใดแล้ว ให้ทำเชิงอรรถแสดงมติและเหตุผลในการแปลนั้นไว้ด้วย
๘. ในการแปล ให้ลงเลขวรรค เลขข้อ และเลขเรื่องให้ตรงกับพระไตรปิฎก ภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๙. ให้มีคำปรารภ อักษรย่อชื่อคัมภีร์ สารบัญเรื่อง ดรรชนีค้นคำและหมวดธรรม ทำนองเดียวกับพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเพิ่มบทนำ และเชิงอรรถ ให้มีคณะบรรณาธิการคณะหนึ่งทำหน้าที่เขียนคำปรารภ บทนำ เชิงอรรถ
การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นภาษาไทย ตามโครงการจะกำหนดแล้วเสร็จในเวลา ๓ ปี แต่เนื่องจากจะต้องพิถีพิถันในการแปลมาก คือเมื่อกรรมการแปลแต่ละคณะแปลเสร็จแล้ว ส่งให้คณะกรรมการตรวจสำนวนการแปล เพื่อพิจารณาสำนวนการแปลให้เป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง เข้าใจได้ง่าย แล้วส่งไปยังคณะบรรณกรเพื่อตรวจสำนวนการแปลกับต้นฉบับภาษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์ เมื่อตรวจแก้เป็นที่พอใจแล้ว ก็จะส่งต่อไปยังคณะบรรณาธิการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเห็นว่าถูกต้องใช้ได้ก็ส่งพิมพ์ ถ้าเห็นว่ายังมีข้อบกพร่อง จะโดยการแปล หรือไม่ตรงตามหลักการที่กำหนดไว้ ก็จะส่งคืนกลับไปยังคณะบรรณกรเพื่อปรับปรุงแก้ไขอีก เสร็จแล้วจึงส่งกลับไปยังคณะบรรณาธิการเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง บางเล่มต้องทำอย่างนี้หลายครั้ง จึงจะได้ข้อยุติ การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นภาษาไทย จึงเลยกำหนดเวลาไปอีกเท่าตัว แต่ทำเสร็จแล้วก็เป็นที่
พอใจของทุกฝ่าย
ขอให้เข้าใจว่า แต่ละภาษาย่อมมีอัจฉริยลักษณ์ของตนเอง การแปลจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ผู้แปลต้องรู้ภาษาทั้งสองนั้นเป็นอย่างดี จึงจะแปลได้ถูกต้องตรงกัน ไม่ขาดตกบกพร่องในส่วนใดส่วนหนึ่งไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ การแปลเรื่องยาวเป็นหนังสือชุดอย่างพระไตรปิฎก ซึ่งมีข้อความซ้ำกันบ้าง มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันบ้าง ผู้แปลต้องตรวจสอบให้ทั่วทั้งชุด แล้วแปลให้ลงรูป ลงรอยเดียวกันทั้งหมด นี้เองคือความยากของการแปลพระไตรปิฎก และนี้เองที่ทำให้การแปลชักช้าไปมาก

เอกสารประกอบการเรียบเรียง
๑. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๓
๒.พระไตรปิฎกปริทัศน์ พระอมรเมธาจารย์ (นคร เขมปาลี) ป.ธ.๖, Ph.D.,
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต) ป.ธ.๙, พธ.บ., Ph.D. และคณะ
๓. สูจิบัตร พิธีเปิดประชุมการแปลพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๗ 
.............



ความงามของพระพุทธวจนะความลาดลุ่มลึกแห่งพุทธธรรม


จำนงค์ ทองประเสริฐ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 245 - 252

หลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพัมพุทธเจ้านั้นมีความลาดลุ่มลึกเป็นอัศจรรย์ดุจห้วงมหาสมุทร เหมาะสมแก่สติปัญญาของคนทุกระดับ ยิ่งผู้ที่มีพื้นความรู้และจิตใจสูงส่ง ยิ่งสามารถเข้าใจพระพระพุทธศาสนาได้มากเป็นอัศจรรย์ เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็น "สัจธรรม" ที่เที่ยงแท้ทนต่อการพิสูจน์ เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เพราะความจริงโดยทั่ว ๆ ไปนั้น อาจเป็นความจริงเพียงเฉพาะกาลเวลาเท่านั้น พอเวลาล่วงไปเพียง ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี เท่านั้น สิ่งที่เราเคยคิดว่าจริงก็กลายเป็นเท็จไป เพราะนั่นมิใช่ "ความจริงแท้" หากเป็นความจริงโดยสมมติเท่านั้น ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า "เท็จ" เราก็ต้องยอมรับว่า "จริง" อยู่ตราบนั้น แต่เมื่อใดเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า "ไม่จริง" เมื่อนั้นความจริงนั้นก็กลายเป็น "เท็จ" ไป
ที่ว่าคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลักษณะลาดลุ่มลึกดุจห้วงมหาสมุทรนั้น พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับอสูรชื่อ "ปหาราทะ" ดังปรากฏอยู่ใน "ปหาราทสูตร" ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังนี้
"สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเรฬุยักษ์สิงสถิตอยู่ ใกล้เมืองเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท้าวปหาราทะจอมอสูรว่า "ปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ?" ท้าวปหาสาทะจอมอสูรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร"
พระผู้มีพระภาค..."ปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏสักเท่าไรที่พวกอสูรเห็นแล้วย่อมภิรมย์"
ปหาราทะ... "มี ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า ๘ ประการอะไรบ้าง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึก ลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่นำอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมเสมอ ไม่ล้นฝั่งนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันทีนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม้น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็มนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แกวไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกตนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือ?"
พระผู้มีพระภาค ... "ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในพระธรรมวินัยนี้"
ปหาราทะ... "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่"
พระผู้มีพระภาค "มีอยู่ ๘ ประการ ปหาราทะ ๘ ประการเป็นไฉน? ปหาราทะ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึก ลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหวฉันใด ในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่า จะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง ปหาราทะ ข้อที่ในพระธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่จะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรงนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอ เสียแล้วทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าหางไกลจากสงฆ์ พระสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา ปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดความชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียแล้วทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขานี้เป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณะศากยบุตรทั้งนั้น ปหาราทะ ข้อที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณะศากยบุตรทั้งนั้นนี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม เพราะน้ำนั้น ๆ ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น ปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม ด้วยภิกษุนั้นนี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียว คือรสเค็ม ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน พระธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรสนี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในพระธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมอนกัน พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในพระธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในพระธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมนี้น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
"ปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ฉันใด ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน พระธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ สิ่งมีชีวิตในพระธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ปหาราทะ ข้อที่พระธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ สิ่งที่มีชีวิตในพระธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในพระธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่"
จากการสนทนาระหว่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปหาราทะ จอมอสูรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเห็น "คล้อยตาม" มิใช่ "ขัดแย้ง" ต่อความคิดเห็นของคู่สนทนาเลย เป็นการสนทนาอย่างมี "มิตรภาพ" ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาอันล้นพ้น พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ปหาราทะ จอมอสูรได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความอัศจรรย์ของมหาสมุทรก่อน ซึ่งปหาราทะจอมอสูรได้กราบทูลว่า มหาสมุทรมีความน่าอัศจรรย์รวม ๘ ประการด้วยกัน และเมื่อปหาราทะจอมอสูรทูลถามพระองค์บ้างว่า ในพระธรรมวินัยนี้มีอะไรที่น่าอัศจรรย์บ้าง พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่าในพระธรรมวินัยนี้ก็มีความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการเช่นนั้น พระองค์มิได้ทรง "กล่าวข่ม" ว่าในพระธรรมวินัยนี้ มีความน่าอัศจรรย์ ๙-๑๐ ประการ ให้มากไปกว่าความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการของมหาสมุทรที่ปหาราทะจอมอสูรได้กราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถึงความน่าอัศจรรย์ของพระธรรมวินัยว่า ก็มี ๘ ประการเหมือนกัน และทรงเปรียบเทียบกับความน่าอัศจรรย์ของมหาสมุทรในลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นคู่ไป นับว่าพระพุทธองค์ทรงใช้จิตวิทยาและทรงมีพระพุทธปฏิภาณ ที่ยากจะหาผู้ใดในโลกเสมอเหมือน
การที่จะเป็นนักประกาศพุทธธรรมที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องมีความรอบรู้ใน "พุทธธรรม" อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังจะต้องมีปฏิภาณ ไหวพริบที่เฉียบแหลม สามารถโต้ตอบคู่สนทนาได้อย่างฉับพลันด้วย และที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือต้องพยายามก่อให้เกิดความรู้สึกฉันมิตรแก่คู่สนทนาด้วย
………



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น