การทำบุญวันเกิด
อันประเพณีที่จะ ทำบุญวันเกิด ขึ้นนี้เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นตัวอย่างตั้งแต่ยังทรงผนวช ไม่ใช่ทำอย่างจีนหรือฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการมีอายุยืนมาบรรจบรอบปีครั้งหนึ่งๆ ไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันประเสริฐ ควรยินดี เมื่อรู้สึกยินดีก็ควรจะบำเพ็ญกุศล ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น ให้สมกับที่มีน้ำใจยินดี และไม่ประมาท เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ถึงวันเกิดปีหนึ่งเป็นที่เตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปต่อความตายอีกก้าวหนึ่งชั้นหนึ่ง เมื่อรู้สึกเช่นนั้น จะได้บรรเทาความมัวเมาประมาทในชีวิตเสียได้ นี้เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการทำบุญวันเกิดขึ้นเรียกว่า เฉลิมพระชนมพรรษา
การที่ทรงทำในครั้งนั้นปรากฏว่ามีการสวดมนต์เลี้ยงพระ ๑๐ รูป เป็นการน้อยๆ เงียบๆ ครั้นต่อมาก็มีเจ้านายขุนนางทำบุญวันเกิดกันชุกชุมขึ้น แต่การทำบุญเกี่ยวกับพระลดลง เป็นแค่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำการมหรสพก็มีละครเป็นพื้น และนำของขวัญไปให้กันมีการเลี้ยงดูกันอย่างสนุกสนานให้ศีลให้พรกัน ถ้าเป็นวันเกิดเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย พระราชทานของขวัญด้วย สมัยนั้นการทำบุญถือเป็นเกียรติใหญ่ เมื่อถึงวันเกิดของใครก็อึงคะนึงเป็นการใหญ่ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว และถือว่าถ้าไม่ไปช่วยงานวันเกิดกันแล้วเป็นไม่ดูผีกันทีเดียว
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรก็ทรงทำบุญวันพระราชสมภพ ตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีทำก็มี สวดมนต์ เลี้ยงพระและแจกสลากสิ่งของต่างๆ แก่พระสงฆ์ ทรงทำตลอดมาจนกระทั่งเสวยราชย์และทำเป็นการใหญ่เช่น หล่อพระพุทธรูปอายุ เรียกว่า “หล่อพระชนมพรรษา” ทั้งมีการตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนาน ตามริมน้ำและตามถนนก็สว่างไสวไปด้วยแสงประทีปโคมชวาลา จึงได้เกิดมีการแต่งซุ้มไฟประกวดประขันกันขึ้นและมีเหรียญพระราชทานแก่ผู้แต่งซุ้มไฟเป็นรางวัล อนึ่งในวันนั้นได้มีผู้ไปลงนามถวายพระพร พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการอ่านคำถวายพระพรอันเป็นเครื่องหมายแสดงความจงรักภักดี จึงถือเป็นประเพณีเนื่องด้วยทำบุญวันเกิดมาจนปัจจุบันนี้
วิธีปฏิบัติ ในการทำบุญวันเกิดอาจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ดังนี้
๑. ตักบาตรพระสงฆ์เท่าอายุหรือเกินอายุหรือกี่รูปก็ได้ตามสะดวก
๒. บำเพ็ญกุศลอุทิศแก่บรรพบุรุษ ที่เรียกว่า ทักษิณานุประทานก่อนแล้วจึงบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันเกิด
๓. ทำบุญ สวดมนต์ เลี้ยงพระ หรือมีพระธรรมเทศนาด้วย
๔. ถวายสังฆทาน
๕. ทำทานช่วยชีวิตสัตว์ เช่นปล่อยนก ปล่อยปลา ฯลฯ หรือส่งเงินไปบำรุงโรงพยาบาลหรือกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์อื่นๆ
๖. รักษาศีลหรือบำเพ็ญภาวนา
๗. กราบขอรับพรจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ
๘. บำเพ็ญคุณประโยชน์อื่นๆ โดยมุ่งที่การให้ มากกว่า เป็นการรับ
อานิสงส์หรือผลดีของการทำบุญวันเกิด
การทำบุญวันเกิด คือการปรารภวันเกิดและทำความดีในวันนั้นเป็นเหตุให้ได้รับผลดีหรืออานิสงส์ตอบแทน ดังมีพุทธภาษิตความว่า “ผู้ให้อาหาร ชื่อว่า ให้กำลัง ผู้ให้ผ้า ชื่อว่า ให้ผิวพรรณ ผู้ให้ยาน ชื่อว่า ให้ความสุข ผู้ให้ประทีป ชื่อว่า ให้ดวงตา” (พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๕ ข้อ ๑๓๘ หน้า ๔๔ ) และพระพุทธภาษิต ความว่า “ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจ ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศ ผู้ให้สิ่งประเสริฐ ย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐ ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐสุด ย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐสุด “ (พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๔๔ หน้า ๖๖)
ข้อเสนอแนะในการทำบุญวันเกิด
๑. กิจกรรมในการทำบุญวันเกิดควรเน้นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าวัตถุ เช่นทำจิตใจให้สงบแจ่มใสและทำบุญตามศรัทธา
๓. ควรเป็นกิจกรรมที่มุ่งบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือส่วนรวม เช่นการบริจาคทาน สมทบทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ ใช้แรงงานของตนเองเพื่อส่วนรวม
๔. ควรมุ่งเน้นให้เป็นการประหยัด จัดงานวันเกิดในวงครอบครัวไม่ควรจัดหรูหราฟุ่มเฟือย
๕. ควรอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องจัดแบบต่างประเทศ เช่นตัดเค้กวันเกิดจุดเทียน หรือเป่าเทียน ร้องเพลงภาษาต่างประเทศอวยพรวันเกิด ฯลฯ
๕. ในกรณีที่ผู้น้อยไปรดน้ำอวยพรวันเกิดผู้ใหญ่ นิยมอ้างคุณพระศรีรัตนตรัยก่อนแล้วจึงมีคำอวยพร ส่วนของขวัญที่จะให้นั้น ควรทำด้วยน้ำพักน้ำแรงหรือของที่ประดิษฐ์ด้วยฝีมือตนเอง ถ้าเป็นดอกไม้ควรเป็นดอกไม้ที่ปลูกในประเทศไทย กรณีที่ผู้ใหญ่อวยพรวันเกิดผู้น้อย ผุ้ใหญ่ควรกล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคลแก่ผู้รับพร
ทำบุญอายุ
การทำบุญอายุ มักนิยมทำกัน เมื่ออายุ ๒๕ ปี ซึ่งเรียกว่าเบญจเพสแผลงมาจาก ปัญจวีสะ คำว่าเบญจเพส ก็แปลว่า ๒๕ นั่นเอง ถือกันว่าตอนนี้เป็นตอนสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะย่างขึ้นสู่สภาวะผู้ใหญ่ ตั้งตนให้เป็นหลักเป็นฐาน ถ้าดีก็ดีกันในตอนนี้ ถ้าเอาดีไม่ได้ก็อาจจะเสียคน ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำบุญเมื่ออายุ ๒๕ ปีเพื่อส่งให้เจริญงอกงามต่อไป ต่อจากนั้นก็ทำเมื่ออายุ ๕๐ หรือ ๖๐ ปีอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือกันว่าตอนนิอายุย่างเข้ากึ่งหนึ่งของศตวรรษแล้ว และเจริญมากถึงที่สุดแล้ว ต่อไปร่างกายก็มีแต่จะทรุดโทรมลงทุกวัน การทำบุญที่อายุปูนนี้จึงเป็นการทำโดยไม่ประมาท ร่างกายเสื่อมลงไปๆ จึงควรทำบุญไว้ เพื่อเป็นประกันในเมื่อจวนจะหมดลมจะได้นึกว่าทำดีไว้มากแล้ว ถึงตายก็ตายอย่างสงบ อนึ่งการทำบุญอายุนี้ บางทีทำกันเมื่อมีอายุครบ ๒ รอบ ๓ รอบ ๔ รอบ ไปจนถึง ๕ -๖ รอบฯลฯ รอบหนึ่งมี ๑๒ ปีถ้าบรรจบปีเกิดในรอบไหนก็ทำในรอบนั้น วิธีปฏิบัติ อานิสงส์ผลดีหรือข้อเสนอแนะ เช่นเดียวกับการทำบุญวันเกิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น