สารนาถ
ความหมาย
สถานที่นี้เดิมชื่อ อิสิปตนมฤคทายวัน หรือ มฤคทายวัน คำว่า อิสิปตนะ แปลว่า ที่ตกแห่งฤษี อิสิ แปลว่า ฤษี ปตนะ แปลว่า เป็นที่ตก หรือที่ประชุม กล่าวคือ ที่นี่เป็นที่ชุมนุมของฤษี มฤคทายวัน หรือ มิคทายวัน แปลว่า ป่าเป็นที่พระราชทานอภัยแก่เนื้อ (สัตว์ชนิดหนึ่ง) ฉะนั้นแปลรวมกันว่า เป็นสถานที่พระราชทานเนื้อ (เขตอภัยทานแก่กวางเนื้อ) และเป็นที่ประชุมของฤษีซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญพรตภาวนาถือศีล
มีความสัมพันธ์กับชื่อปัจจุบันที่เรียกว่า ‘สารนาถ’ ซึ่งมาจากคำว่า สารังคนาถ สารังคะ แปลว่า เนื้อ (กวางเนื้อ) นาถ แปลว่า ที่พึ่ง แปลรวมกันว่า เป็นสถานที่พึ่งของกวางเนื้อ (ซึ่งมีที่มาปรากฏในชาดกที่ ๑๒ เรื่อง นิโครธมิชาดก1) ถึงเหตุที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัยเนื้อ
เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์อุบัติเป็นเนื้อหัวหน้าฝูง สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเมืองพาราณสีเสวยเนื้อเป็นประจำ พวกเนื้อเลยตกลงกันจัดเรียงลำดับวาระของเนื้อที่ไปสู่เขียง วันหนึ่งมาถึงวาระของแม่เนื้อมีครรภ์ใกล้จะคลอด พระโพธิสัตว์ทราบเรื่องมีความสงสารก็สละชีวิตของตนแทน เรื่องก็ไปถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงถามถึงเหตุ พญาเนื้อได้แสดงธรรมแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทำให้รู้สึกสลดพระทัยที่พระองค์มีแต่จะเบียดเบียนแต่พญาเนื้อเป็นสัตว์แท้ ๆ แต่จิตใจประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์ยอมสละชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น ในที่สุดก็เลยพระราชทานอภัยเนื้อทั้งหมด เป็นเหตุให้บริเวณนี้เป็นที่อาศัยของเนื้อโดยไม่ถูกเบียดเบียน จึงเรียกกันว่า มิคทายวัน แปลว่า ที่พระราชทานอภัยแก่เนื้อ
เหตุการณ์สำคัญ
ณ สถานที่แห่งนี้เราเรียกว่า ที่กำเนิดพระพุทธศาสนา (Birthplace of Buddhism2)อิสิปตนะมฤคทายวันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่เรียกว่า ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’ เมื่อวันเพ็ญกลางเดือน ๘ ก่อน พ.ศ. ๑ ไป ๔๕ ปี สถานที่แห่งนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกมีดังนี้
๑. สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
๒. พระอรหันตสาวกเกิดขึ้นครั้งแรก ณ สถานที่แห่งนี้
๓. พระสงฆ์ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรสรณาคมน์ก็ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ทำให้ครบพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ ณ สถานที่แห่งนี้
๔. พระพุทธองค์ทรงได้สาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๖๐ รูป เป็นรุ่นแรก และได้ส่งธรรมทูตไปเผยแผ่ธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากที่นี่
๕. พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาเป็นพรรษาแรกหรือปีแรก
๖. เกิดอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยคนแรก ณ ที่แห่งนี้
อิสิปตนะมฤคทายวันในพระไตรปิฎก
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง อิสิปตนะมฤคทายวัน ที่เป็นเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพระพุทธเจ้าโดยตรงกับพุทธสาวกบ้าง กับอนุสัมบันบ้าง หรือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพุทธสาวกกันเองบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดที่พอกล่าวโดยสังเขปดังนี้
ธัมจักกัปปวัตนสูตร1 ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา หลังจากที่ตรัสรู้เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญคือ
๑. ทรงชี้ทางที่ผิดอันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (ทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง) ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
๒. ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยละเอียด
๓. ทรงแสดงว่าทรงรู้ตัวอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทรงรู้หน้าที่อันควรทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และทรงรู้ว่าได้ทรงทำหน้าที่เสร็จแล้ว จึงทรงแน่พระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว (อันแสดงว่าทรงปฏิบัติทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว).
เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระโกญทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม2 และได้ขอบวชก่อน ต่อมา พระวัปปะ กับพระภัททิยะ สดับรับฟังพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรมและได้ขอบวช ต่อมาพระมหานามะกับพระอัสสชิ สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรมและได้ขอบวช เป็นอันได้บวชครบทั้ง ๕ รูป3
อนัตตลักขณสูตร4 ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีใจความสำคัญ คือ ๑. รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึกทุกข์ สุขหรือเฉย ๆ)สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความคิดหรือเจตนา) และวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทาง หู ตา เป็นต้น)ไม่ใช่ตน ถ้าเป็นต้นก็จะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะไม่ใช่บังคับบัญชาไม่ได้
๒. ตรัสถามให้ตอบเป็นข้อ ๆ ว่า ขันธ์ ๕ (มีรูป เวทนา เป็นต้น )เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ตอบว่าไม่เที่ยง. สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์หรือสุข ? ตอบว่าเป็นทุกข์. สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ? ตอบว่าไม่ควร
๓. ตรัสตอบสรุปว่าเพราะเหตุนั้น ควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า รูป เวทนา เป็นต้นนั้น ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
๔. ตรัสแสดงผลว่าอริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูปเป็นต้น เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพราะกำหนัดคลายจึงหลุดพ้น เมื่อหลุพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าสิ้นชาติอยู่จบพรหมจรรย์ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ภิกษุปัญจวัคคีย์มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ครั้งนั้นปรากฏพระอรหันต์รวม ๖ องค์ (รวมพระพุทธเจ้า)
แสดงอนุปุพพิกถาโปรดยสกุลบุตรกับครอบครัวพร้อมมิตรสหาย1 ความว่า ยสกุลบุตรเบื่อหน่ายชีวิตครองเรือนกลุ้มใจออกจากบ้านไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวันในเวลาเช้ามืด ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม เศรษฐีผู้เป็นบิดาออกตาม พบพระผู้มีพระภาคเจ้าสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.ในขณะที่นั่งฟังพระธรรมเทศนาที่แสดงแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา ยสกุลบุตรก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ และขอบวช ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลก ๗องค์ รุ่งเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปฉันที่เรือนเศรษฐีบิดา ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภริยาของพระยสะได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสิกาชุดแรกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ครั้นแล้วก็มีเพื่อนของพระยสะ ๔ กับอีก ๕๐ คนตามลำดับ ได้ฟังพระธรรมเทศนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงมีพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๖๑ องค์
จัมมขันธกะ(ห้ามสวมเขียงเท้าใบตาล)2ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้รองเท้าใบตาล มีผู้ติเตียนเพราะไปตัดต้นตาลต้นเล็กทำให้เหี่ยวเฉา พระผู้พระภาคจึงทรงห้ามใช้รองเท้าใบตาลถ้าใช้ต้องอาบัติทุกกฏ
เภสัชขันธกะ (ห้ามฉันเนื้อมนุษย์)3 ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ผู้ฉันต้องอาบัติถุลลัจจัย. ภิกษุจะฉันเนื้อสัตว์ต้องพิจารณาก่อนขืนฉันทั้งไม่พิจารณาต้องอาบัติทุกกฎ (นางสุปปิยา อุบาสิกา เห็นภิกษุอยากฉันเนื้อ หาเนื้อไม่ได้ จึงตัดเนื้อตนเองปรุงอาหารถวาย)
จีวรขันธกะ (พระพุทธานุญาตผ้าปะ)4ภิกษุมีจีวรทะลุกำลังนั่งปะผ้าจีวร พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้มีการปะผ้าเมื่อเกิดการทะลุ
สัจจวิภังคสูตร 5พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องที่ทรงแสดงธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วตรัสให้คบพระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นผู้อนุเคราะห์แก่เพื่อนพรหมจารี ตรัสเปรียบพระสารีบุตรด้วยผู้ให้กำเนิด เปรียบพระโมคคัลลานะด้วยผู้เลี้ยวดู (แม่นม) พระสาริบุตรแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในมรรคสูงยิ่งขึ้นไป และพระสาริบุตรเป็นผู้อาจอธิบายอริยสัจจ์ ๔ โดยพิศดาร เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นเข้าสู่วิหาร. พระสาริบุตรก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อธิบายเรื่องอริยสัจจ์ ๔ โดยพิศดาร
ปฐมปาลสูตรที่ ๔1พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย เรื่องความหลุดพ้น และตรัสแก่มารผู้มีบาปว่าเราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงของมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็น ของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกของมาร ดูกรมารผู้กระทำซึ่งความพินาศ ท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว ฯ
ทุติยปาลสูตรที่ ๕2ตรัสเหมือนปฐมปาลสูตร
ปัญจวัคคิยสูตร3พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา
รถการวรรคที่ ๒4ทรงแสดงถึงการที่พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ในเวลาไม่นาน คือ มีตาดี ขยัน ถึงพร้อมด้วยที่อยู่อาศัย (รู้จักคนกว้างขวาง) ทรงแสดงว่าภิกษุมีตาดี คือ รู้อริยสัจจ์ ๔ ขยันคือไม่ทอดในกุศลธรรม ถึงพร้อมด้วยที่อยู่อาศัยคือเข้าไปหาท่านผู้รู้เป็นครั้งคราวเพื่อไต่ถามปัญหา ก็จะถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความไพบูลย์ในกุศลธรรมฉันนั้น
สูตรทั้งหมดนี้เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงที่อิสิปตนมฤคทายวัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย ๔๕ เล่ม
สารนาถในปัจจุบัน
อิสิปตนมฤคทายวันหรือสารนาถ ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี อันเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาฮินดูภายในแคว้น ยู.พี. คือ อุตรประเทศของรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน
สานาถ มีนิยามคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อจลเจดีย์” กำหนดตามพุทธนิทานว่า เป็นสถานที่อันพระพุทธเจ้าในอดีตเสด็จมาแสดงธรรมครั้งแรก ณ ที่แห่งนี้มาโดยลำดับทุกสมัย
หากกำหนดเส้นทาง ถือเอากรุงพาราณสี (เบนาเรส) มหานครแห่งฮินดูเป็นศูนย์กลาง จากสถานีเบนาเรส จะขึ้นรถไฟสายเล็กสายหนึ่ง คือ สาย OUTH AND TIRHUT RAILWAY ไปลงสถานีสารนาถก็ได้ เป็นระยะทางเพียง ๑ ไมล์ ห่างจากสถานีนั้น มีรถลางวิ่งรับส่งตรงไปยังมฤคทายวันโดยสะดวกอีกต่อหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันการเดินทางไปสถานที่สำคัญแห่งนี้ สามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวกและใช้เวลาไม่นาน ก็ทำการสักการะบูชาและระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
บรรณานุกรม
คณะศิษยานุศิษย์วันล้ออายุ , อินเดียน้อย. ที .พี.พรินท์ . กรุงเทพ : 2539.
พระธรรมปิฎก, ตามทางพุทธกิจ . ธรรมสภา . กรุงเทพ : 2539.
ทรงวิทย์ แก้วศรี , พุทธสถานในเอเชียใต้. โรงพิมพ์พระจันทร์. กรุงเทพ 2519.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. โรงพิมพ์หาจุฬาลงกรณราชวิทยา. กรุงเทพ : 2539
เสถียร พันธรังษี, พุทธสถานในชมพูทวีป,พิมพ์ครั้งที่ 8. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณารชวิทยาลัย. กรุงเทพ : 2533
สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน. มหามกุฏราชวิทยาลัย. กรุงเทพ : 2539.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า. มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพ 2539.
1 ขุ. ชา.เอก. ๒๗/๑๒
2 เสถียร พันธรังษี . พุทธสถานในชมพูทวีป . โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๓ หน้า ๑๐๙
1 วิ. มหา. ๔/๑๒ - ๑๘
2 เป็นพระโสดาบัน คือ พระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา
3 อ้างแล้ว ๔/๑๘ - ๑๙
4 อ้างแล้ว ๔/ ๒๐ - ๒๔
1 อ้างแล้ว ๔ / ๒๕ - ๓๑
2 วิ. มหา. ๕/๑๑
3 อ้างแล้ว ๕ / ๕๘ - ๕๙
4 อ้างแล้ว ๕/ ๑๕๒
5 มชฺฌิมฺ.อุ. ๑๔/๖๙๘ - ๗๐๕
1 สํ.ส. ๑๕/๔๒๕ - ๔๒๗
2 อ้างแล้ว ๑๕/๔๒๘ - ๔๓๐
4 องฺ. เอก. ๒๐/๔๕๐ - ๔๕๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น