หลักการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระศรีวรญาณ (วิ) เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 301 - 320
ความนำ
การปฏิบัติวิปัสสนาธุระเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชนควบคู่กับคันถธุระการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา คันถธุระ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย ถือกำเนิดมาพร้อมกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง การศึกษาพระไตรปิฎกนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์อยู่แล้ว ส่วนการศึกษาวิชาชั้นสูงนั้นน่าจะหมายถึงการศึกษาวิชาการ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติและเผยแผ่พระศาสนาควบคู่กันไป กล่าวเฉพาะด้านพระศาสนา วิถีชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ นอกจากจะมีความเป็นผู้นำด้านความรู้ในพระไตรปิฎกแล้ว ยังจะต้องพัฒนาตนให้เป็นพระสงฆ์ในอุดมคติ ด้วยการพัฒนาตนนั้นจะต้องอาศัยหลักการปฎิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อฝึกฝนอบรม โสฬสญาณ ญาณ ๑๖ อันเป็นวิชาชั้นสูงให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน
จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นก็เพื่อชำระจิตของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดจนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ทรงมอบพระพุทธศาสนาให้เป็นสมบัติของพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้บรรลุธรรมระดับใดก็ตามด้วยการเจริญพระกัมมัฏฐานก็ย่อมจะทำให้พุทธบริษัทเหล่าอื่นเกิดความมั่นใจในการเจริญพระกัมมัฏฐานโดยเห็นว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานเป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อพัฒนาจิตของมนุษย์ให้บรรลุถึงพระนิพพานได้ ผู้ที่เคยเจริญพระกัมมัฏฐานอย่างไร้จุดหมายหรือมีความท้อแท้หมดกำลังใจในการปฏิบัติ ก็จะมีกำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมระดับใดระดับหนึ่งก็สามารถพัฒนาจิตของตนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ สังคมโลกก็จะได้รับประโยชน์คือสันติภาพพร้อม ๆ กับผู้ปฏิบัติธรรม ปัญหาต่าง ๆ ที่โลกกำลังประสบอยู่ เช่น การเบียดเบียนกัน การเข่นฆ่ากัน การแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็จะลดน้อยลงไปตามลำดับ เพราะอาศัยบุคคลผู้มีคุณภาพดี มีจำนวนมากขึ้นในสังคม
การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในพระพุทธศาสนา มีหลายวิธีด้วยกัน แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีความเชื่อและยอมรับแนวการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตามที่มีปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่า เป็นวิธีการที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและสามารถทำให้พุทธศาสนิกชน ได้พัฒนาตนจากระดับปุถุชนธรรมดาเป็นพระอริยบุคคลซึ่งเป็นบุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนา
ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเรื่องที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑.หลักกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎก
๒.หลักมหาสติปัฏฐาน
๓.โสฬสญาณ
หลักกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎก
สมถกัมมัฏฐาน
พระพุทธศาสนาแบ่งพระกัมมฎฐานออกเป็น ๒ วิธีปฏิบัติด้วยกัน วิธีที่ ๑ เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน วิธีที่ ๒ เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ (คัมภีร์ธัมมสังคณี) ข้อ ๔๕ หน้า ๓๐ ได้ให้ความหมายของสมถกัมมัฏฐานไว้ว่า
กตโม ตสฺมึ สมเย สมโถ โหติ
ยา ตสฺมึ สมเย จิตฺตสฺส ฐิติ สณฺฐิติ อวฏฺฐิติ อวิสาหาโร อวิกฺเขโป อวิสาหฏฺฐมานสตา สมโถ สมาธินฺทฺริยํ สมาธิพลํ สมฺมาสมาธิ อยํ ตสฺมึ สมเย สมโถ โหติ
แปลความว่า
สมถะ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นเป็นไฉน
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่ ความตั้งมั่น ความไม่ซัดส่าย ความไม่ฟุ้งซ่าน ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าสมถะ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นดังนั้น สมถกัมมัฏฐาน จึงหมายถึงอุบายวิธีสำหรับฝึกจิตให้สงบ ในงานเขียนนี้ จะไม่นำเสนอขั้นตอนวิธีการฝึกจิตให้เกิดสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยละเอียด เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า ภาวะที่จิตสงบอันเกิดจากการเจริญสมถกัมมัฏฐานไม่ว่าจะได้สมาธิในระดับใดก็ตามก็ถือว่าได้สมาธิแล้ว เหตุที่ต้องฝึกจิตให้เกิดสมาธิ เพราะว่าโดยธรรมชาติ ปุถุชนมักจะถูกกิเลสทำให้จิตไม่สงบเสมอ พระพุทธศาสนาอธิบายว่า การที่จิตไม่สงบนั้น เป็นเพราะจิตถูกนิวรณ์ ๕ ชนิด เข้าครอบงำ
นิวรณ์ ๕ ชนิดนั้น คือ
(๑) กามฉันทะ ภาวะที่จิตมีความอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ผัสสะ) ธัมมารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ
(๒) พยาบาท ภาวะที่จิตมีความขัดเคืองใจ มองคนในแง่ร้าย
(๓) ถีนมิทธะ ภาวะที่จิตมีอาการหดหู่ เซื่องซึม ไม่เข้มแข็ง
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ภาวะที่จิตฟุ้งซ่าน เดือดร้อนใจ จิตไม่หยุดนิ่ง และ
(๕) วิจิกิจฉา ภาวะที่จิตมีความสงสัย ลังเล มีความคิดแยกเป็น๒ ทาง เลือกไม่ถูกว่าจะไปทางไหน
เมื่อมนุษย์ถูกกิเลสเหล่านี้ครอบงำแล้วจิตก็จะแกว่งไปตามอำนาจกิเลส ไม่สามารถทรงตัวอยู่ในความนิ่งสงบได้ จริงอยู่ การที่จิตจะเป็นกลาง หยุดนิ่ง ไม่ไหลเวียนไปตามอำนาจของกิเลสเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง พระพุทธศาสนาสอนว่าการที่จะเอาชนะกิเลสเหล่านี้ได้ ต้องเปิดโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาสมาธิ จึงจะสามารถระงับกิเลสเหล่านี้ให้ลดลงโดยลำดับได้
วิธีฝึกฝนจิตด้วยหลักสมถกัมมัฏฐาน
๑.วิธีฝึกจิตไม่ให้ลุ่มหลง อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ที่น่าพอใจ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกหัดมองสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจเหล่านี้ว่า เป็นของไม่มีความสวยงามที่แท้จริง ไม่คงทนถาวรอย่างที่เราคิดไว้ เมื่อเราฝึกฝนความคิดมองให้เห็นความจริงเช่นนี้ จิตที่เคยยึดมั่นถือมั่นก็จะค่อย ๆ คลายจากความยึดถือน้อยลงไปบ้าง การปล่อยวางจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะการฝึกหัดมองให้เห็นความจริง จะทำให้เราได้ประสบกับความจริงด้วยตนเอง
๒.วิธีฝึกจิตไม่ให้มีความขัดเคือง ไม่มองคนอื่นในแง่ร้าย ผู้ปฏิบัติจะต้องปลูกจิตที่มีแต่เมตตา รู้จักรักผู้อื่น อีกทั้งเพ่งกสิณที่มีสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว (นีลกสิณ) สีเหลือง (ปีตกสิณ) สีแดง (โลหิตกสิณ) สีขาว (โอทาตกสิณ) จะทำให้จิตที่ชอบขัดเคือง มีปีติ (เอิบอิ่มใจ) โสมนัส (ความยินดี) เพิ่มขึ้น ความโกรธ ความขัดเคืองที่เคยมีมาก่อนก็จะค่อย ๆ จางหายไป
๓.วิธีฝึกจิตไม่ให้ถูกถีนมิทธะอันเป็นภาวะที่จิตง่วงนอนเศร้าซึมเข้าครอบงำ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกหัดการกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก (อานาปานสติ) เมื่อฝึกบ่อย ๆ จิตใจก็จะเข้มแข็ง ไม่ง่วงนอน ไม่เศร้าซึม เป็นจิตมีสมาธิเพิ่มขึ้น
๔.วิธีฝึกจิตไม่ให้ความฟุ้งซ่านรำคาญ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกหัดกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก (อานาปานสติ) เช่นเดียวกับผู้ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำ สภาวะจิตที่มีความเข้มแข็ง ก็จะมีสมาธิมากขึ้น ความฟุ้งซ่านหายไป มีแต่สมาธิเข้ามาแทนที่
๕.วิธีฝึกจิตไม่ให้ความสงสัย (วิจิกิจฉา) เข้าครอบงำ ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกหัดให้เป็นคนมีเหตุผลตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ การที่เราจะพัฒนาความสามารถทางปัญญาตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้า ก็จะทำให้เราพบอุปสรรคน้อยลงจนหมดอุปสรรคในที่สุด
ดังนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนา การที่จิตถูกนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งในนิวรณ์ ๕ เข้าครอบงำ ถือว่าจิตถูกรบกวนไม่เป็นสมาธิแล้ว ในความรู้สึกของคนทั่วไป การฝึกสมาธิต้องให้มีสมาธิมาก ๆ (ขั้นอัปปนาสมาธิ) จึงจะถือได้ว่า ประสบความสำเร็จในการฝึกสมาธิ หากฝึกสมาธิได้เพียงชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ตามหลักวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตที่เป็นขณิกสมาธิ ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาวิปัสสนาปัญญา อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้หลักสมถกัมมัฏฐาน เป็นเครื่องมือฝึกจิตให้ระงับนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งหมดในทันทีทันใดนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะปราศจากนิวรณ์ได้ทั้งหมดก็คือ พระอรหันต์ (ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนหมดกิเลสแล้ว) เท่านั้น การที่ปุถุชนทั่วไปจะเจริญสมถ-กัมมัฏฐานไปจนกว่าจะละนิวรณ์ได้ทั้งหมดแล้ว จึงหันไปฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน นับว่าเป็นสิ่งที่เนิ่นช้าถ่วงเวลาในการปฏิบัติธรรมชั้นสูง สำหรับผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ดังนั้น บุคคลทั่วไป แม้ยังไม่สามารถละนิวรณ์ได้หมดทุกตัว และมีสมาธิชั่วประเดี๋ยวเดียว (ขณิกสมาธิ) ก็สามารถนำสมาธิชนิดนี้ มาเป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปได้ ขณะที่ผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนา- กัมมัฏฐานอยู่ หากมีนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเข้ามาครอบงำในระหว่างนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถฝึกกำหนดได้ทันที โดยการกำหนดรู้ตามความเป็นจริง จิตก็จะไม่ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์เหล่านั้นและเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกกำหนดรู้นิวรณ์ ๕ อยู่บ่อย ๆ ก็สามารถใช้ความสงบขั้นขณิกสมาธิ เป็นเครื่องมือในการประหาณนิวรณ์ได้ โดยผ่านกระบวนการของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยเหตุนี้ขณิกสมาธิก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นมัคคสมาธิต่อไป
ลักษณะสมาธิแบบพุทธศาสนา
ในคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบริขารแห่งสมาธิไว้ ๗ ประการ (บริขารในที่นี้หมายถึงบริวาร หรือองค์ประกอบแห่งมัคคสมาธิ (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, องฺ. สตฺตก. อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๒) ไว้ว่า
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑.สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓.สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)๔.สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕.สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)๖.สมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗.สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว ซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม เรียกว่า อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ บ้าง คำว่า อุปนิสะ ในที่นี้ได้แก่ หมวดธรรมที่เป็นเหตุ ทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, ที.ม.ฏีกา ๒๙๐/๒๖๗) เรียกว่า อริยสัมมาสมาธิที่มีบริขาร บ้าง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิ จึงมีสัมมาสังกัปปะ ผู้มีสัมมาสังกัปปะจึงมีสัมมาวาจา ผู้มีสัมมาวาจา จึงมีสัมมากัมมันตะ ผู้มีสัมมากัมมันตะ จึงมีสัมมาอาชีวะ ผู้มีสัมมาอาชีวะ จึงมีสัมมาวายามะ ผู้มีสัมมาวายามะ จึงมีสัมมาสติ ผู้มีสัมมาสติ จึงมีสัมมาสมาธิ ผู้มีสัมมาสมาธิ จึงมีสัมมาญาณะ ผู้มีสัมมาญาณะ จึงมีสัมมาวิมุตติ (ที.ม. ๑๐/๒๙๐/๒๒๔-๒๒๕)
จากพระพุทธพจน์ที่ยกมานี้จึงแสดงให้เห็นว่าสมาธิหรือภาวะที่จิตสงบ ไม่ใช่เป็นภาวะที่จิตไร้สติ ขาดสัมปชัญญะ(ปัญญา) แต่หากเป็นสมาธิที่มีอริยมรรคเป็นองค์ประกอบอยู่ในจิต จึงจะสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนา กัมมัฏฐานต่อไปได้
วิปัสสนากัมมัฏฐาน
วิปัสสนากัมมัฏฐาน คืออุบายวิธีสำหรับฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔ ข้อ ๕๕ หน้า ๓๐ ได้ให้ความหมายของวิปัสสนาไว้ว่า
กตมา ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ
ยา ตสฺมึ สมเย ปญฺญา ปชานานา วิจโย ปวิจโย ธมฺมวิจโย สลฺลกฺขณา อุปลกฺขณา ปจฺจุปลกฺขณา ปณฺฑิจฺจํ โกสลฺลํ เนปุญฺญํ เวภพฺยา จินฺตา อุปปริกฺขา ภูรีเมธา ปริณายิกา วิปสฺสนา สมฺปชญฺญํ ปโตโท ปญฺญา ปญฺญินฺทฺริยํ ปญฺญาพลํ ปญฺญาสตฺถํ ปญฺญาปาสาโท ปญฺญาอาโลโก ปญฺญาโอภาโส ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญารตนํ อโมโห ธมฺมวิจโย สมฺมาทิฏอยํ ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ
แปลความว่า
วิปัสสนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนรัตนะ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฎฐิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า วิปัสสนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะให้ความหมายของคำว่า วิปัสสนา ไว้หลายนัยก็ตาม แต่ผู้ปฏิบัติก็ต้องผ่านกระบวนการฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฎฐาน ซึ่งเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก จึงจะสามารถพัฒนาวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ หลักการฝึกเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น แม้ผู้เข้าฝึกจะมีสมาธิในระดับใดก็ตาม ก็สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ แม้แต่จิตที่สงบชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) ก็สามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้ (วิสุทธิ.ฏีกา. ๑/๑๕/๒๑) อีกทั้งผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ผลของสมถะในระดับสูง เช่น แสดงฤทธิ์ได้ ก็สามารถนำผลนั้นมาเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ด้วย เพราะการได้ฌานสมาบัติจนถึงขนาดแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้นั้น ถ้ายังไม่ผ่านกระบวนการฝึกจิต ด้วยหลักวิปัสสนากัมมัฏฐานจนถึงขั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยัง ไม่ถือว่าได้บรรลุจุดหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา เพราะอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เสื่อมสลายไปได้เสมอ ในกรณีที่เกิดกับคนยังมีกิเลสอยู่ แต่ถ้าเกิดกับคนที่ไม่มีกิเลส อิทธิฤทธิ์ก็สามารถใช้เป็นคุณประโยชน์ได้ เช่นการที่พระมหาโมคคัลลานะแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อประกาศคุณของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาถือว่า การฝึกฝนอบรมจิตให้เกิดปัญญา ตามกระบวนการวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงขนาดทำลายกิเลสได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการฝึกฝนอบรมจิตนี้ย่อมจะทำให้ความไม่รู้(อวิชชา)หายไป เปรียบเหมือนแสงสว่างทำให้ความมืดหายไป ด้วยจิตของปุถุชนโดยปกติหนาแน่นไปด้วยกิเลส เมื่อได้รับการชำระโดยกระบวนการวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว สภาพจิตก็จะบางเบาจากกิเลส เปลี่ยนไปในทางที่ดี จากสภาพจิตของปุถุชนธรรมดากลายเป็นกัลยาณปุถุชน จนเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นชีวิตในอุดมคติของพระพุทธศาสนา ดังนั้น เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ทุกรูปต้องผ่านการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (สติปัฏฐาน) มาแล้วทั้งนั้น
สรุปสาระสำคัญของหลักมหาสติปัฏฐาน
ก. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๑.การกำหนดลมหายใจเข้าออก
การพิจารณาลมหายใจเข้าออกนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้ติดตามพิจารณาลักษณะของการหายใจเข้าออกอย่างใกล้ชิด คือเมื่อหายใจเข้าหรือออกสั้นยาวอย่างไร ก็ให้รู้อย่างแน่ชัด เปรียบเหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ชำนาญ เมื่อเขาชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น
ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมฏฐาน ท่านให้พิจารณาอาการที่ท้องพองออก หรือยุบเข้า เนื่องจากการหายใจเข้าหรือหายใจออก ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการชักเชือกกลึง การกำหนดรู้อาการพองอาการยุบของท้องนี้เป็นหลักสำคัญยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนา เพราะเป็นการกำหนดรูปหยาบ ซึ่งรู้ได้ง่ายกว่าการกำหนดรูปนามอย่างอื่น ๆ และมีปรากฏอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก โดยไม่ต้องไปแสวงหาเหมือนอาการที่ปรากฏทางกายอย่างอื่นหรือทางนามธรรม เป็นการปฏิบัติที่สะดวกและง่ายแก่สามัญชนทั่วไป ส่วนอาการที่ปรากฏทางกายอย่างอื่นหรือทางนามธรรมอันได้แก่ เวทนา จิต และธรรมนั้น ให้กำหนดเมื่อสภาวะเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนกว่าอาการพองอาการยุบ โดยการกำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ
อนึ่ง ขอให้สังเกตว่า ในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน มีการให้เพ่งลมหายใจด้วยเหมือนกันซึ่งเรียกว่า อานาปานสติ แต่ในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานวิธีนี้ ไม่เหมือนกับปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน กล่าวคือ แทนที่จะเพ่งดูอาการพองยุบของท้อง ท่านให้เพ่งดูลมที่หายใจเข้าออกซึ่งกระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากบน และตามเพ่งเข้าไปในช่องท้อง จนกระทั่งหายใจออกมา แต่พระพุทธโฆษาจารย์ก็กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า การเพ่งลมหายใจเข้าออกนี้ เป็นกัมมัฏฐานที่ทำสำเร็จได้ยาก เพราะเป็นของละเอียดมาก เป็นกัมมัฏฐานของมหาบุรุษ เช่น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
๒. กำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย
นอกจากการกำหนดอาการพองยุบของท้องแล้ว ผู้ปฏิบัติยังจะต้องกำหนดรู้อาการที่ปรากฏทั้งหลายอื่นอีกด้วย เช่น การเคลื่อนไหวอิริยาบถต่าง ๆ มี ยืน เดิน นั่ง นอน การแลดู การเหลียวดู การคู้อวัยวะ ฯลฯ ในทุกขณะ การทำกิจประจำวันต่าง ๆ ก็ต้องกำหนดรู้อยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน เช่น การกิน การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งห่ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การดู การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัส
๓.พิจารณาอาการ ๓๒
อาการ ๓๒ ซึ่งมีอยู่ในร่างกาย ได้แก่อวัยวะส่วนต่าง ๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำมูตร ในการพิจารณาอาการ ๓๒ นี้ ให้พิจารณาลักษณะของอาการนั้น ๆ ให้เห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ถ้าจะพิจารณาให้เห็นอาการเหล่านี้เป็นของปฏิกูลล้วนแต่ไม่สะอาด ก็เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน
๔.พิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย
ธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ธาตุดินมีลักษณะแข็งและอ่อน ธาตุน้ำมีลักษณะไหลและเกาะกุม ธาตุไฟมีลักษณะร้อนและเย็น ธาตุลมมีลักษณะเคลื่อนไหวและเคร่งตึง ในการพิจารณา ให้ใช้สติพิจารณาว่าร่างกายนั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นเพียงแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกันอยู่เท่านั้น แต่ละอย่างเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
๕. พิจารณาศพ
ศพนี้ มีลักษณะแตกต่างกัน แล้วแต่ทิ้งไว้เร็วหรือช้า ตลอดจนเป็นกระดูกและเถ้าถ่าน รวม ๙ ชนิด ในการพิจารณา จะต้องใช้สติพิจารณาเปรียบเทียบกับกายของเราว่า จะต้องเน่าเปื่อยไปอย่างนั้นเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
ข. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การใช้สติกำหนดรู้อาการของเวทนา ซึ่งเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้ในเมื่อสุขหรือทุกข์กำลังเกิดขึ้นว่า สุขหรือทุกข์อย่างไร หรือเมื่อรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ชัดแก่ใจ หรือสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นจากอะไรเป็นมูลเหตุ เช่น เกิดจากเห็นรูป หรือได้ยินเสียง หรือได้กลิ่น หรือได้ลิ้มรส หรือได้สัมผัส ก็รู้ชัดแจ้ง หรือเมื่อรู้สึกเจ็บหรือปวดหรือเมื่อย หรือเสียใจ แค้นใจ อิ่มใจ ฯลฯ ก็มีสติรู้กำหนดรู้ชัดว่า กำลังรู้สึกเช่นนั้นอยู่
ค. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การใช้สติกำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางวิญญาณขันธ์ ซึ่งเรียกว่า จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้ว่าจิตมีอารมณ์อย่างไร เช่นเมื่อจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความสงบ ความไม่สงบ ฯลฯ ก็รู้ชัดว่าจิตมีอารมณ์อย่างนั้น ๆ ตามความเป็นจริง
ง. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่การใช้สติกำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางสังขารขันธ์ คือความคิดนึก และสัญญาขันธ์ คือความจำได้หมายรู้ กล่าวคือเมื่อเราคิดอะไรอยู่ก็ต้องกำหนดว่าคิดอะไรอยู่ หรือเมื่อเกิดความพอใจรักใคร่ ความพยาบาท ความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หรือความลังเลสงสัย ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ก็ต้องกำหนดรู้ ได้ลิ้มรสหรือได้ถูกต้องสิ่งของ ก็ต้องกำหนดรู้ทันที หรือเมื่อเกิดความไม่พอใจ ความละอาย ความเมตตา ความคิด ความเห็น ความโลภ ความโกรธ ความริษยา ฯลฯ ก็กำหนดรู้เช่นเดียวกันตามความเป็นจริง
นอกจากนี้ท่านยังให้กำหนดรู้เห็นเบญจขันธ์ คือรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดเบญจขันธ์เป็นอย่างนี้ และความสลายของเบญจขันธ์เป็นอย่างนี้ และให้ติดตามกำหนดรู้อาการที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามลำดับ ตลอดจนผลที่เกิดจากอาการกระทบนั้นว่า มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรเกิดขึ้นมา
เมื่อจะกล่าวโดยสรุปแล้ว สติปัฏฐานนี้มิใช่อะไรอื่นนอกจากการใช้สติกำหนดรู้อยู่ทุกขณะว่า ในขณะหนึ่ง ๆ นั้น เรากำลังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรหรือกำลังทำอะไรอยู่ ทั้งนี้ กำหนดกันเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ไม่พิจารณาย้อนไปถึงการกระทำหรืออิริยาบถ หรือความรู้สึกนึกคิด ในอดีตที่ล่วงไปแล้ว ไม่ว่าจะช้านานหรือเร็วเพียงใด แม้ในวินาทีที่ล่วงไปแล้วก็ไม่ให้คำนึงถึง และไม่ให้พิจารณาล่วงหน้าถึงการกระทำ หรืออิริยาบถ หรือความรู้สึกนึกคิดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ตามปกติมนุษย์เราไม่เคยได้ใช้สติกำหนดถึงสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันมาก่อน แต่ชอบกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่อาจจะเกิดขึ้น คือพิจารณาแต่อดีตและอนาคต แต่ในการชำระใจให้บริสุทธิ์นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้สติกำหนดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้จึงได้ชื่อว่า ปัจจุบันธรรม
การกำหนดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เราลืมนึกถึงว่า เรากำลังรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ หรือกำลังทำอะไรอยู่ และทำให้ใจเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ที่คิด เช่นเมื่อเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความคิดของเราไม่ได้หยุดอยู่ตรงที่เห็นนั้น แต่เราจะคิดต่อไปว่า สวยหรือไม่สวย เมื่อเห็นว่าสวยก็เกิดความชอบใจขึ้น แล้วก็ทำให้อยากได้ และคิดวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น ถ้าไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยก็เกิดอารมณ์ไม่ชอบใจขึ้น ทำให้เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรมคือเมื่อเห็นก็หยุดอยู่เพียงนี้ คือ เพียง สักแต่ว่าเห็น ไม่ให้พิจารณาต่อไปว่า สวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี จิตจึงจะไม่เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ มีความแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวซึ่งจะทำให้จิตมีสมาธิเข้มแข็งแรงกล้าขึ้นเป็นลำดับ การที่มีจิตแน่วแน่เช่นนี้เรียกว่า ได้ถึงซึ่งจิตตวิสุทธิ คือมีจิตหมดจดโดยลำดับ
วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร
เนื่องจากในมหาสติปัฏฐานสูตร มีกัมมัฏฐาน ๒๑ วิธี สำหรับให้ผู้ปฏิบัติได้กำหนด มีอารมณ์ทั้งที่เป็นสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จุดมุ่งหมายของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา คือนิพพาน
สติปัฏฐาน มีวิธีปฏิบัติอยู่ ๒ วิธี ดังนี้
- กำหนดอานาปานสติ๑ วิธี
- กำหนดอิริยาบถ๑วิธี
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๒ วิธีดังนี้
- กำหนดสัมปชัญญะ๑วิธี
- กำหนดอาการสามสิบสอง๑วิธี
- กำหนดธาตุสี่๑วิธี
- กำหนดป่าช้า๙วิธี
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ วิธีดังนี้
- กำหนดภาวะจิตเสวยอารมณ์สุข
ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์๑วิธี
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ วิธีดังนี้
- กำหนดจิต และสิ่งที่ปรุงแต่งจิต๑วิธี
- กำหนดนิวรณ์๑วิธี
- กำหนดเบญจขันธ์๑วิธี
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ วิธีดังนี้
- กำหนดอายตนะ๑วิธี
- กำหนดโพชฌงค์๑วิธี
- กำหนดอริยสัจ๑วิธี
รวม๒๑ วิธี
ในบรรดาแนววิธีปฏิบัติ ๒๑ วิธี การกำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปาน-บรรพ) การกำหนดอาการสามสิบสอง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นทั้งอารมณ์สมถะและวิปัสสนา ทำให้สมาบัติเกิดขึ้นได้ ส่วนกัมมัฏฐานอีก ๑๙ วิธี ก่อให้เกิดอุปจารสมาธิ (สมาธิจวนแน่วแน่) หรืออุปจารกัมมัฏฐาน ได้แก่ สมาธิที่เข้าเฉียดใกล้ฌาน คำว่า อุปจารกัมมัฏฐาน หมายถึง วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ส่วนข้อกำหนด ป่าช้า ๙ อย่าง (นวสีวถิกาบรรพ) เป็นสมถกัมมัฏฐานล้วน ๆ ส่วนอิริยาบถ ๔ สัมปชัญญะ ๔ และการกำหนดธาตุ ๔ จัดเป็นวิปัสสนาล้วน ๆ
อย่างไรก็ตาม ตามหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนา กัมมัฏฐานที่กล่าวมา จะต้องปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานก่อน เพราะสมถกัมมัฏฐานเป็นกัมมัฏฐานพื้นฐานที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ อันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาปัญญา โดยเลือกจากวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐาน ๔๐ (กัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑) วิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะกับจริตของตน มาเป็นข้อวัตรในการปฏิบัติจนจิตเป็นสมาธิ แล้วนำสมาธินั้นมาเป็นบาทฐานในการพัฒนาปัญญาต่อไปในเวลาปฏิบัติจริง สำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แม้จะไม่เคยนำกัมมัฏฐาน ๔๐ วิธีมาเป็นข้อวัตรในการปฏิบัติ แต่ก็สามารถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสมถกัมมัฏฐานเลย จิตมีสมาธิตามหลักสมถกัมมัฏฐานที่ผู้ปฏิบัติคาดหวังที่จะได้ ก็จะเกิดขึ้นมาเองในเวลาเจริญวิปัสสนา- กัมมัฏฐานแนวสติปัฏฐาน อีกทั้งผู้เจริญวิปัสสนาไม่ควรคำนึงว่า ตนเองมีจริตที่เหมาะกับวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือไม่ เพราะผู้ปฏิบัติจะมีจริตชนิดใดก็ตาม ก็สามารถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สราคํ วา จิตฺตนฺติ ปชานาติ ฯลฯ วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ... (ที.ม. ๑๐/๓๘๑/๓๓๐)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จิตที่มีราคะว่าเป็นจิตมีราคะ ฯลฯ ย่อมรู้จิตที่ไร้โมหะว่า เป็นจิตที่ไร้โมหะ เป็นต้น
โสฬสญาณ
โสฬสญาณ (ญาณ ๑๖) ถือว่าเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ปัญหาที่คนปัจจุบันสนใจ คือ โสฬสญาณมีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ หากเราศึกษาพระไตรปิฎก เราจะพบว่าโสฬสญาณ หรือญาณ ๑๖ นั้น มีเนื้อความปรากฏในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ตอนว่าด้วยญาณ ๗๓ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้อธิบายสาระสำคัญของโสฬสญาณไว้อย่างครบถ้วน เพียงแต่ไม่ระบุชื่อญาณเหมือนญาณที่ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่านั้น แต่ความหมายตรงกันทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค ญาณ ๑๖ ประการมีปรากฏดังนี้
(๑) นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่สามารถแยกรูปนามได้ เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏแต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่านั้น แต่ถ้าเราศึกษาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อันแสดงถึงวัตถุนานัตตญาณ (๑๕) โคจรนานัตตญาณ (๑๖) จริยานานัตตญาณ (๑๗) ภูมินานานัตตญาณ (๑๘) และธัมมานัตตญาณ (๑๙) ๑เราจะพบว่า ได้แก่นามรูปปริเฉทญาณนั่นเอง เมื่อกล่าวโดยเนื้อหาสาระแล้วย่อมมีความเหมือนกันกับการอธิบายในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวคืออัตตาตัวตนที่แท้จริงไม่มีเลย เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรม (ความจริงแท้) มีแต่เพียงรูปนามเท่านั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงญาณนี้ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า อัตตาตัวตนเป็นเพียงสภาวธรรม ไม่ยึดมั่นว่า มีอัตตาตัวตน (เป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา) ตามหลักพระพุทธศาสนา ความเห็นเช่นนี้ถือว่า เป็นทิฏฐิวิสุทธิ คือ มีความเห็นที่บริสุทธิ์
(๒)ปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่สามารถรู้เหตุปัจจัยของรูปนาม เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏแต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ถ้าเราศึกษาคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เราก็จะพบว่า เนื้อหาสาระของญาณนี้ตรงกับธัมมัฏฐิตญาณ (ญาณในการกำหนดที่ตั้งแห่งธรรม) (ญาณที่ ๔) กล่าวคือ ท่านพระสารีบุตรได้นำปฏิจจสมุปบาทมาจำแนกไว้ ผู้ปฏิบัติตามถึงญาณนี้จะทราบถึงสรรพสิ่งล้วนเกิดมาตามเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท สำหรับผู้ปฏิบัติที่เคยนับถือในพระผู้สร้างโลก (God) เมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ ก็จะปฏิเสธเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
(๓)สัมมสนญาณ ญาณที่เห็นแจ้งไตรลักษณ์ เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๕) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติรู้ว่ารูปนามดับไปและเห็นรูปนามใหม่เกิดขึ้นสืบต่อกันไป แต่สันตติยังไม่ขาด เพราะเป็นเพียงความรู้ด้วยจินตาญาณ๑หลักฐานในคัมภีร์สัทธัมมปกาสินี : อิทานิ ยสฺมา เหฏฺฐา สรูเปน นามรูปววตฺถานญาณํ น วุตฺตํ, ตสฺมา ปญฺจธา นามรูปปฺเภทํ ทสฺเสตุ อชฺฌตฺตววตฺถาเน ปญฺญาวตฺถุนานตฺเต ญาณนฺติอาทีนิ ปญฺจ ญาณานิ อุทฺทิฏฺฐานิ (ขุ.ป.อ. ๑/๓๖ มจร.)
(๔)อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณที่หยั่งรู้ความเกิดดับของรูปนาม เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๖) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ญาณนี้แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ญาณช่วงที่ ๑ เป็นญาณระดับอ่อน (ตรุณะ) ช่วงที่ ๒ เป็นญาณระดับแก่ (พลวะ) ในระดับอ่อนผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวะต่าง ๆ ของรูปนามแล้วเห็นชัดว่าสภาวะดับหายไปเร็วขึ้นกว่าเดิม แม้แต่เวทนาที่เกิดขึ้น เมื่อกำหนดไปก็หายเร็วขึ้น สภาวะจิตก็เป็นสมาธิที่ดี ในญาณระดับนี้ ผู้ปฏิบัติมักจะเห็นสภาวะที่แปลก ๆ มีภาพปรากฏให้เห็น มีแสงสว่างเข้ามาปรากฏอยู่บ่อย ๆ (โอภาส) เนื่องจากผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นแสงสว่างเช่นนี้มาก่อน ก็อาจจะเอาใจใส่ดู หรืออาจจะเข้าใจผิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็เป็นได้ ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้วิปัสสนาเศร้าหมอง วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ อย่างคือ แสงสว่าง (โอภาส) ความรู้ (ญาณ) ความเอิบอิ่มใจ (ปีติ) ความสงบ (ปัสสัทธิ) ความสุข (สุข) ความน้อมใจเชื่อ (อธิโมกข์) ความเพียร (ปัคคาหะ) การตั้งสติไว้ (อุปัฏฐานะ) ความวางเฉย (อุเบกขา) และความใคร่ (นิกันติ) กระนั้นก็ตาม ผู้ปฏิบัติก็ยังกำหนดได้ดีกว่าระดับขั้นที่ผ่านมา ในญาณระดับนี้ การมีกัลยาณมิตรที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดพลาดเพราะขาดกัลยาณมิตรคิดว่าตนเองได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็จะพลาดโอกาสที่จะได้ผลการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในระดับสูงต่อไป การปฏิบัติในขั้นนี้ จะเป็นเครื่องทดสอบว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติถูกหรือไม่ ในความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ยังไม่สามารถกำหนดให้เห็นไตรลักษณ์ได้แจ่มแจ้ง เพราะจิตมักจะถูกวิปัสสนูปกิเลสเข้าครอบงำอยู่เสมอ เมื่อผู้ปฏิบัติได้กัลยาณมิตรก็จะสามารถฟันฝ่าเอาชนะวิปัสสนูปกิเลสได้ ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานดำเนินต่อไป ครั้นปฏิบัติมาถึงญาณระดับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ (พลวะ) ผู้ปฏิบัติจึงจะสามารถกำหนดรูปนามเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง
(๕) ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณที่หยั่งรู้ความดับไปของรูปนาม เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๗) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คืออารมณ์ที่เป็นบัญญัติหายไป จะทำให้ผู้ปฏิบัติ เห็นอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ชัดเจนขึ้น
(๖) ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณที่หยั่งรู้นามว่า เป็นของน่ากลัว เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติมักเห็นสภาพของร่างกายที่มีแต่เพียงกระดูกขาวโพลน กระบอกตากลวงโบ๋ น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งนักจนเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากได้รูปนามอีกต่อไป เพราะถ้าได้มาอีก รูปนามก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อีกต่อไป
(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณที่หยั่งรู้รูปนามว่าเป็นของมีแต่โทษ เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะเห็นร่างกายที่ค่อย ๆ พองขึ้นอืดที่บริเวณท้อง ลำตัว แขน หลังมือ หลังเท้า เป็นต้นสักระยะหนึ่งอาการพองอืดก็จะค่อย ๆ ยุบลงตามปกติ
(๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณที่หยั่งรู้รูปนามว่า เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๘) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อรูปนาม เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ล้วน ๆ มิใช่เกิดขึ้นเพราะนึกคิดเอาเอง
(๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณที่ทำให้ผู้ปฏิบัติอยากหลุดพ้นจากรูปนาม เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติอยากหลุดพ้นจากรูปนาม บางครั้ง ผู้ปฏิบัติเกิดอาการคันอย่างรุนแรง บางครั้งก็เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า จนอยากหนีไปให้พ้นจากรูปนาม แต่ก็ไม่ได้หนีไปไหน ยังคงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก
(๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณที่หยั่งรู้คอยทบทวนรูปนามว่าตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนที่สุดกว่าทุกญาณที่ผ่านมา การหยั่งรู้ไตรลักษณ์ มีประโยชน์มาก เพื่อจะได้ยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์ต่อไป
(๑๑) สังขารุเปกขญาณ ญาณที่หยั่งรู้ความวางเฉยในรูปนาม เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๙) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจสงบวางเฉยไม่มีทุกขเวทนารบกวน และสามารถกำหนด สภาวะต่าง ๆ ได้ดียิ่ง ผู้ปฏิบัติได้เห็นคุณค่าของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างมาก
(๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ ญาณที่พิจารณารูปนามว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทา-มรรค (ญาณที่ ๔๑) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณารูปนามว่า เป็นไตรลักษณ์ ตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณที่ ๔) ถึงสังขารุเปกขญาณ (ญาณที่ ๔๑) เหมือนพระมหากษัตริย์ ทรงสดับการวินิจฉัยคดีของตุลาการ ๘ ท่านแล้ว มีพระราชวินิจฉัยอนุโลมตามคำวินิจฉัยของตุลาการทั้ง ๘ ท่านนั้น
ดังนั้น สัจจานุโลมิกญาณ จึงตรงกับขันติญาณ (ญาณที่ ๔๑) ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังที่ท่านพระสารีบุตรนำธรรม ๒๐๑ ประการ มาจำแนกเป็นขันติญาณเช่น รูปที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง รูปที่รู้ชัดโดยความเป็นทุกข์ รูปที่รู้ชัดโดยความเป็นอนัตตา รูปใด ๆ ที่พระโยคาวจรรู้ชัดแล้ว รูปนั้น ๆ พระโยคาวจรย่อมพอใจ เพราะฉะนั้นปัญญาที่รู้ชัด จึงชื่อว่า ขันติญาณ (ญาณในความพอใจ)
(๑๓) โคตรภูญาณ ญาณที่ข้ามเขตปุถุชน เข้าสู่เขตอริยชน เมื่อว่าโดยชื่อญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๐) และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ สภาวะจิตของผู้ปฏิบัติได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ข้ามพ้นโคตรปุถุชน บรรลุถึงอริยชน โดยไม่หวนกลับมาอีก ความจริงญาณนี้ แม้มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสได้หมด เปรียบเหมือนบุรุษที่มาเข้าเฝ้าพระราชา ได้เห็นพระราชาแล้วแต่ที่ไกล เมื่อมีคนมาถามว่า คุณได้เห็นพระราชาหรือยัง เขาก็ตอบว่า ยัง เพราะเขายังไม่ได้เข้าเฝ้า และทำกิจในราชสำนักได้เสร็จสิ้นฉันใดก็ฉันนั้น
(๑๔) มัคคญาณ ญาณที่ทำลายกิเลส เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๖) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้เสวยนิพพานเป็นอารมณ์เป็นครั้งแรก เห็นแจ้งนิโรธสัจด้วยปัญญาของตนเอง รูปนามดับไปในญาณนี้ หมดความสงสัยในพระรัตน-ตรัยโดยสิ้นเชิง มีศีล ๕ มั่นคงเป็นนิจ กิเลสดับไปในญาณนี้ แม้มีโลภะ โทสะ โมหะ อยู่ แต่จางหายไปได้เร็วพลัน สามารถปิดอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด
(๑๕) ผลญาณ ญาณที่เกิดถัดจากมัคคญาณ เมื่อว่าตามชื่อ ญาณนี้ปรากฏทั้งในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๒) และคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติถึงญาณนี้แม้กิเลสจะถูกประหาณไปได้อย่างเด็ดขาดด้วยมัคคญาณ แต่อำนาจของกิเลสก็ยังเหลืออยู่ เช่นเดียวกับที่เอาน้ำไปรดไอร้อนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ไฟไหม้ แต่ไฟนั้นดับแล้ว การประหาณกิเลสด้วยผลญาณก็มีนัยเช่นนี้
(๑๖) ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่ย้อนกลับไปทบทวนมรรคผลนิพพานที่ตนได้บรรลุมา เมื่อว่าโดยชื่อ ญาณนี้ปรากฏในคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (ญาณที่ ๑๔) และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สาระสำคัญของญาณนี้ก็คือ ผู้ปฏิบัติได้พิจารณากิเลสที่ตนละได้และที่ตนยังละไม่ได้ สำหรับกิเลสที่ยังละไม่ได้ ผู้ปฏิบัติก็จะมุ่งหน้าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อที่จะได้บรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไป จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
สรุปความว่า โสฬสญาณ - ญาณ ๑๖ ประการนี้ได้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใด้ตรัสสอนลำดับญาณดังที่ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรก็เป็ผู้รู้พระพุทธประสงค์จึงได้ตั้งชื่อญาณต่างๆดังที่กล่าวแล้ว แต่กระนั้นก็มีเนื้อหาในพระสูตรบางแห่งที่สื่อให้เห็น สภาวะ ของญาณในระดับต่าง ๆ เช่น ในอนัตตลักขณสูตรว่า เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว อริยสาวโก รูปสมีปํ นิพฺพินฺทติ (วิ.ม. ๔/๒๓/๑๙) ภิกษุทั้งหลาย พระอริย-สาวกเมื่อเห็นอยู่อย่างนั้น ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป. คำว่า นิพฺพินฺทติ (ย่อมเบื่อหน่าย) ในคัมภีร์อรรถกถาท่านหมายเอา ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณที่ ๖) อาทีนวญาณ (ญาณที่ ๗) นิพพิทาญาณ (ญาณที่ ๘) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณที่ ๙) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณที่ ๑๐) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณที่ ๑๑) และอนุโลมญาณ (ญาณที่ ๑๒)
คำว่า เอวํ ปสฺสํ (เมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้) ในคัมภีร์อรรถกถาท่านกำหนดเป็น ๓ ญาณ คือ สัมมสนญาณ(ญาณที่ ๓) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณที่ ๔) และภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณที่ ๕) แม้แต่พระดำรัสว่า วิสชฺชติ (ย่อมคลายกำหนัด) ท่านหมายเอา มัคคญาณ (ญาณที่ ๑๔) วิราคา วิมุจฺจติ เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ท่านหมายเอา ผลญาณ (ญาณที่ ๑๕) วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ (เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีความรู้ (ญาณ)ว่า หลุดพ้นแล้ว) ท่านหมายเอา ปัจเวกขณญาณ (ญาณที่ ๑๖)
การอรรถาธิบายอย่างนี้เป็นไปตามแนวสังยุตตนิกายอรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย (๒/๖๐-๖๒) อย่างไรก็ตาม การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน สามารถที่จะสำรวจผลของการปฏิบัติได้จากโสฬสญาณ (ญาณ ๑๖) ซึ่งเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติ ดังนั้น การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน นั้นจึงเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้จริง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น