ศึกษาพัฒนาการ
พระพุทธศาสนาเถรวาท
คำว่า เถรวาท แปลว่า วาทะของพระเถระ หมายความว่า พระอานนท์และพระเถระอื่นๆ ได้ประชุมกันรวบรวมพระพุทธพจน์ที่กระจัดกระจายอยู่ในที่นั้นๆ เอามาจัดเป็นหมวดหมู่แล้วก็ท่องจำสืบต่อกันมา ต่อมาได้มีนิกายย่อยๆ เกิดขึ้นมากหลาย ประมาณร้อยปีนั้น มีนิกายที่แตกแยกออกไปถึง ๘ นิกาย แต่ว่านิกายเหล่านั้นแตกแยกออกไปแล้ว ในที่สุดก็สลายตัวหมด คงเหลือแต่เถรวาท มาภายหลังเมื่อเกิดมหายาน ขึ้น มหายานก็เลยเรียกเถรวาท หรือพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนี้ว่าเป็นหินยาน แล้วก็เรียกตัวเองว่า มหายาน แปลว่า ยานใหญ่ ส่วนหินยาน แปลว่า ยานเลวหรือว่ายานเล็กๆ น้อยๆ คือสมัยที่เกิดการแก่งแย่งกันขึ้นเลยเรียกเถรวาทด้วยชื่อที่ไม่ดี
แต่ว่าในครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เรามีการรวบรวมพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกบรรดามีมาประชุมร่วมกัน ที่เรียกว่าพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhist) ในครั้งแรกนั้น ก็ได้มีการเสนอญัตติขอให้เลิกเรียกคำว่าหินยานเพราะว่าเป็นการเรียกแบบดูหมิ่นกัน หรือว่าเป็นการแสดงความแข่งขันทะเลาะวิวาทกัน ให้คงเรียกเถรวาทตามเดิมคือวาทะของพระเถระที่ท่องจำพระพุทธวจนะสืบต่อกันมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธวจนะที่นำสืบต่อกันมาทางสายเถรวาทนี้ ได้พยายามรักษาของเก่าดั้งเดิมไว้ทุกอย่างไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทนี้ในปัจจุบันก็มีอยู่คือ ประเทศไทย ประเทศลังกา ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา รวม ๕ ประเทศด้วยกัน ส่วนประเทศที่นับถือศาสนาฝ่ายมหายานนั้นก็ได้แก่ธิเบต ญวน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี จำนวนก็จะพอๆ กัน แต่ว่าวิธีการทางฝ่ายมหายานนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ได้มีการแต่งตำราขึ้นมาใหม่บ้าง ดัดแปลงของเก่าบ้าง และก็มีวิวัฒนาการไปไกลมาก ถึงขนาดญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ ภิกษุเกือบจะทุกนิกายก็มีครอบครัวได้ มีภรรยาได้ ก็คงจะมีอยู่บางนิกายเท่านั้นที่ไม่มีครอบครัว นี่ก็เป็นวิวัฒนาการของฝ่ายมหายาน แต่ในฝ่ายเถรวาทซึ่งท่านใช้ภาษาบาลีเป็นหลักนั้นยังพยายามรักษาแบบแผน จะเรียกว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือคอนเซอร์เวตีฟก็ได้
ทีนี้มีปัญหาว่า พระไตรปิฎกนี้มีมาตั้งแต่ครั้งไหน เดิมทีเดียวไม่ได้เรียกพระไตรปิฎก ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่เรียกว่าธรรมกับวินัยเป็นพื้น แม้เมื่อตอนที่จะนิพพานตรัสสั่งสอนพระอานนท์ไว้ ก็ยังสั่งว่า “ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไปแล้ว ธรรมแลวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ก็จักเป็นศาสดาแทนเรา”นี่แปลว่าแม้เมื่อใกล้จะปรินิพพานก็ทรงเรียกว่าธรรมกับวินัย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้มีการประชุมทำสังคายนา แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องทำสังคายนาภายหลังพุทธปรินิพพาน จะขอพูดเท้าความว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างที่ก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นในพระพุทธศาสนาเอง คือพระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตรซึ่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นห่วงเป็นใยเมื่อเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในศาสนาอื่นแล้ว คือศาสนานิครนถ์ เกิดแตกแยกกันมากมาย ทะเลาะวิวาทกันเองในหมู่ศิษย์ของนิครนถนาฏบุตร ท่านเป็นผู้ไปหาพระอานนท์ก่อน ในฐานะที่พระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแนะว่าควรจะทำสังคายนา หลักฐานอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะอย่างนั้นก็แปลว่าทรงเห็นการณ์ไกลว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สาวกควรจะได้รวบรวมคำสั่งสอนของพระองค์ให้เป็นหมวดเป็นหมู่ที่เรียกว่าการร้อยกรอง หรือการทำสังคายนา และเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ท่านพระสารีบุตรก็เคย คือตอนที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสารีบุตรเทศน์พระภิกษุแทนพระองค์ท่าน ในขณะที่ทรงแสดงธรรมในเวลากลางคืน และก็ทรงพักผ่อนให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแทน พระสารีบุตรก็ชวนภิกษุทั้งหลายให้ช่วยกันทำสังคายนา
นี่เป็นครั้งแรกที่แสดงว่ามีการรู้สึกว่าเป็นการจำเป็นแล้ว ที่จะต้องรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ แต่ก่อนที่จะมีการรวบรวมนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นมาอย่างไร ก็ปรากฏในหลักฐานทางพระไตรปิฎกเองว่า การท่องจำมีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าแล้ว คือ พระโสณะกุฏิกัณณะ ซึ่งท่านบวชทางอินเดียภาคใต้ ท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็จัดให้พักในกุฎีเดียวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามถึงความเป็นไปต่างๆ แล้วก็ตรัสขอร้องให้ พระโสณะกุฏิกัณณะ นี่เองสวดหรือลองกล่าวพุทธวจนะให้ฟัง พระโสณะกุฏิกัณณะ ท่านท่องมาอย่างแม่นยำจากอุปัชฌาย์ของท่านแล้วคือ พระมหากัจจายนเถระ ท่านก็ว่าให้ฟังปากเปล่ามากมายหลายสูตรทีเดียว เป็นสูตรในสุตตนิบาต พระพุทธเจ้าทรงฟังแล้วก็ทรงชมเชยว่าเสียงดี อักขระชัดเจนดี ชัดถ้อยชัดคำดี ทรงยกย่องพระโสณะกุฏิกัณณะ นี่แปลว่าการท่องจำมีมาแล้ว แม้ในครั้งพุทธกาล
เมื่อมาถึงสมัยพระอานนท์ๆ เป็นผู้ยอดเยี่ยมในการท่องจำ คือว่าบางครั้งท่านก็จำได้โดยไม่ต้องท่อง เป็นบุคคลที่มีความจำประเสริฐอย่างนี้ นับเป็นผู้ที่หาได้ยาก แล้วนอกจากนั้นท่านยังมีข้อสัญญากับพระพุทธเจ้าไว้ว่า อันไหนถ้าท่านไม่ทราบ คือพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมที่อื่นแล้วกลับมา ถ้าท่านไม่ได้อยู่ในที่นั้นด้วย ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องทรงเล่าให้พระอานนท์ฟัง เพื่อพระอานนท์จะได้ตอบแก่คนอื่นได้ว่า มีใครมาถามว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ไหน พระพุทธเจ้าต้องทรงยอมรับเงื่อนไขที่พระอานนท์ทูลขอร้อง นี้ก็แปลว่า การทรงจำพระไตรปิฎกได้มีมาแล้วในครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้สามเดือน พระเถระผู้ใหญ่ก็มีการประชุมกันทำสังคายนาครั้งแรก อันนั้นเป็นสังคายนาที่ทางฝ่ายมหายานและเถรวาทรับรองต้องกัน การทำสังคายนาครั้งแรกก็คือ จัดหมวดหมู่ แต่ว่าในครั้งนั้นเอง เมื่อดูตามประวัติศาสตร์ที่กล่าวในพระไตรปิฎก เป็นที่น่าประหลาดว่าประวัติการทำสังคายนาไปอยู่ในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ได้เพิ่มประวัติศาสตร์เข้ามาในพระไตรปิฎก เมื่อประมาณสังคายนาครั้งที่สาม ที่มีการเพิ่มประวัติศาสตร์เข้าในพระไตรปิฎกด้วย เชื่อว่าเป็นการชี้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ความเป็นมาในระยะแรกๆ ภายหลังพุทธปรินิพพาน คือในวินัยปิฎกเล่ม ๗ ฉบับไทยเล่าประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และในประวัติตอนนั้นใช้คำว่า ธรรมและวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาธรรม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาวินัย คือเป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวแก่วินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาธรรมะ คำว่าธรรมะในที่นี้ก็หมายรวมทั้งพระสูตรพระอภิธรรม แต่ตามคัมภีร์มหายานฝ่ายธิเบต ท่านที่รับพิมพ์ได้แปลไว้จากฉบับธิเบต ถือว่าได้เรียกเป็นพระไตรปิฎก ตั้งแต่สมัยสังคายนาครั้งแรกแล้ว นี่ฝ่ายมหายานเรียกอย่างนั้น แต่ทางฝ่ายเถรวาทถึงตอนนั้นก็ยังไม่มีเรียกว่าพระไตรปิฎก มีการบันทึกไว้ว่าเรียกพระไตรปิฎกในชั้นพระอรรถกถา คือหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกที่แต่งประมาณพันปี ภายหลังพุทธปรินิพพาน ต่อมาเมื่อถึงการสังคายนาครั้งที่สองก็ไม่กล่าวอีกว่าเรียกพระไตรปิฎก แต่เรียกพระธรรมพระวินัยตามเดิม เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าจากสำนวนในภาษาบาลี หรือในภาษาบาลีนั้น คำว่าพระไตรปิฎกนี่มีมาในสังคายนาครั้งที่ ๑
เมื่อพูดถึงเรื่องสังคายนานี้ .......... ทำไมพม่าจึงเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา คือ สังคายนาครั้งที่ ๖ แล้วไทยเราไปเกี่ยวข้องกับพม่าอย่างไร ในลังกาสังคายนากี่ครั้ง คือว่าประเทศเพื่อนบ้านเราเหล่านี้ ต่างรับรองหรือไม่รับรองกันและกันอย่างไร เพราะพม่านั้นสืบสายการสังคายนานั้นไม่ตรงกับไทยเรา แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่ามีอะไรผิดเกิดขึ้น การสังคายนาครั้งที่ ๑ ได้กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้เพียง ๓ เดือน
ครั้งที่ ๒ ภายหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี ครั้งที่ ๓ ภายหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๒๓๕ หรือ ๒๓๖ ปี อันนี้เป็นสังคายนาในอินเดีย แต่ว่าในสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้น ทางฝ่ายมหายานเริ่มแตกแยกออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นฝ่ายมหายานไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่ทำในอินเดีย มีกล่าวถึงสังคายนาที่ยอมรับร่วมกันจากพระไตรปิฎกฉบับธิเบต ที่มีฝรั่งชาวอเมริกันแปลไว้เพียง ๒ ครั้งคือ ครั้งแรกพุทธปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน กับครั้งที่ ๒ ครั้งพุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๑๐๐ ปีเท่านั้น ส่วนสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้นถือว่าเป็นการแยกกันแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสนับสนุนให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อพุทธศักราชประมาณ ๒๓๕ หรือ ๒๓๖ ปี ทีนี้ทางฝ่ายมหายาน ก็แยกไปทำในภายหลังที่พระเจ้ากนิษกะทำในประเทศอินเดีย ภายหลังจากนั้น พอสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว พระเจ้าอโศกก็ส่งสมณทูตออกไปในที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา สมณทูตรุ่นนั้นคงจะเดินทางมาถึงทางสุวรรณภูมินี้ด้วย แต่ว่าจะพูดถึงสมณทูตรุ่นแรกที่ไปยังลังกา เพราะทางฝ่ายพระพุทธศาสนาเราถือว่ามีความสัมพันธ์กับลังกา พม่าก็ยอมรับรองลังกาเหมือนกัน พอทำสังคายนาสามครั้งในอินเดียเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชก็ให้ลูกของท่านคือ พระมหินทเถระเดินทางไปยังประเทศลังกา ไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศลังกา ซึ่งอันนี้สืบทราบว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา ซึ่งไทยเรายอมรับเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากในอินเดีย คืออินเดียสามครั้งแล้ว พอไปถึงลังกาได้สองสามปีก็สังคายนาอีก ทำไมจึงสังคายนาบ่อยนัก ก็เห็นได้ว่าเพื่อปรับภาษาให้เข้ากับภาษาชาวเกาะ หรือภาษาลังกานั้นเอง ต่อมาอีกที่นับว่าเป็นครั้งสำคัญ คือเมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๔๓๓ ปี สังคายนาครั้งแรกในลังกา หรือนับเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากอินเดีย พุทธศักราชประมาณ ๒๓๘ ปี ทีนี้ล่วงมาจนถึงพุทธศักราช ๔๓๓ ปี บางฉบับว่า ๔๕๐ ปีนั้น เป็นสังคายนาครั้งสำคัญ ที่มีความหมายแก่พวกเรามากก็คือว่า ในครั้งนั้นปรารภความทรงจำของประชาชนว่าจะเสื่อมลง ก็เริ่มให้มีการจารึกลงในใบลาน อันนี้เองพม่าไม่ยอมรับสังคายนาครั้งแรกในลังกาที่ว่า พระมหินเถระไปใหม่ๆ ก็สังคายนา แต่พม่ายอมรับสังคายนาครั้งที่จารึกลงเป็นตัวอักษร ที่นับเป็นครั้งที่สองในลังกาหรือนับเป็นครั้งที่ ๕ ต่อจากอินเดีย คืออินเดียสามครั้ง ลังกาสองครั้ง พม่าก็นับในอินเดียสามครั้ง ในลังกาเอาครั้งหลังเลยทีเดียว ที่จารึกลงในคัมภีร์ใบลานเป็นครั้งที่ ๔ แล้วต่อมาพม่าก็ได้รับพระไตรปิฎกโดยตรงจากลังกา เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ เศษ พ.ศ. ๒๔๑๔ พม่าก็เริ่มสังคายนาครั้งที่ ๕ เพราะว่า พม่ายอมรับสังคายนาในลังกาเพียงครั้งเดียว เอามาต่อจากอินเดีย ๓ ครั้ง เป็น ๔ ครั้ง เรื่อยมาจนถึงศักราช ๒๔๑๔ พระเจ้ามินดงของพม่า โปรดให้มีการสังคายนาจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ในกรุงมัณฑะเล ซึ่งท่านที่เคารพทั้งหลายคงจะเห็นมาบ้างแล้ว ๗๒๙ แผ่น หินอ่อนแผ่นใหญ่ๆ จารึกเป็นอักษรพม่า นี่เป็นครั้งที่ ๕ ที่พม่ารับรองเป็นครั้งแรกในประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ คือพม่าถือว่าต่อจากลังกาแล้วก็ไปพม่า แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อใกล้ๆ กับ ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่พม่าเริ่มสังคายนาครั้งที่ ๖ ที่ เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา ฉลองกันเป็นการใหญ่โต ร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ อันนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุด เพราะพม่าได้เชิญประเทศฝ่ายเถรวาทหลายประเทศ รวม ๕ ประเทศ ให้ไปเป็นประธานสังคายนาแต่ละครั้ง ตกลงว่า ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ถ้าพูดถึงทางประเทศพม่าๆ ยอมรับว่าอินเดียมีสามครั้ง ลังกามีหนึ่งครั้ง ที่จารึกลงในใบลานคือ เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ แล้วต่อจากนั้น พ.ศ. ๒๔๑๔ มาเป็นครั้งแรกในพม่า ซึ่งจารึกลงในหินอ่อน พอครั้งที่ ๖ ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งหลังสุดใน ประเทศพม่า ถือว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๖ ส่วนประเทศไทยเรา เราถือว่า ๙ ครั้งแล้ว ที่ถือว่า ๙ ครั้งนี่ เป็นงานของท่านสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ท่านรจนามาเป็นภาษาบาลีไว้ เล่าประวัติ คือครั้งนั้นรัชกาลที่ ๒ ทรงปรารภจัดทำสังคายนา พระเถระก็รวบรวมเรื่องเล่าประวัติถวายว่า มาแต่ครั้งไหนๆ ฝ่ายไทยที่นับว่า ๙ ครั้งนั้น เพราะเรายอมรับนับถือในลังกาหลายครั้งเหลือเกิน แต่ว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์ เพราะว่าทำให้เราได้รู้ความเป็นมาของอรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎกที่ฝรั่งเรียก Commentary และความเป็นมาของฎีกาเป็นคำอธิบายอรรถกถาอีกต่อเรียกว่า Sub-commentary ฝ่ายไทยยอมรับสังคายนา ๔ ครั้ง ในอินเดีย ๑, ๒, ๓ แล้ว แล้วก็ครั้งที่ ๔ ที่พระมหินทเถระนำไปในลังกาสดๆ ร้อนๆ ท่านก็นับเป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งพม่าไม่ยอมรับครั้งนี้ ครั้งที่ ๕ คือ พ.ศ. ๔๓๓ ที่ว่าจารึกลงในคัมภีร์ใบลานเป็นครั้งแรกนี่ ทางฝ่ายไทยยอมรับด้วยก็เป็น ๕ ครั้ง มาครั้งที่ ๖ ที่เป็นครั้งจัดทำอรรถกถา คือสมัยพระพุทธโฆษะ เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ไทยเรายอมรับทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการจัดทำอรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก ไม่ใช่ตัวพระไตรปิฎกแท้ ไทยเราก็ยอมรับอีกเพราะว่าเชื่อว่าคงจะได้มีการแก้ไขตัวพระไตรปิฎกบ้าง พอต่อมาอีกในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ มีสังคายนาในลังกา ที่ไทยเรายอมรับเป็นครั้งที่ ๖ นั่น พ.ศ. ๙๕๖ พอมาครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๑๕๘๗ ไทยเรายอมรับครั้งนี้ด้วย ครั้งนี้เป็นการแต่งฎีกา คือคำอธิบายอรรถกถาอีกต่อหนึ่ง อรรถกถานั้นเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก ฎีกานั้นอธิบายอรรถกถาไปอีกต่อหนึ่ง ไทยเราก็ยอมรับว่าเป็นสังคายนาเหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นงานใหญ่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ไทยเราก็รับว่า ในอินเดียมี ๓ ครั้ง ในลังคามี ๔ เพราะเราติดต่อกับลังกาใกล้ชิดอยู่เหลือเกิน มีการส่งสมณทูตแลกเปลี่ยนไปจนกระทั่งถึงกับไทยเราไปเป็นอุปัชฌายะตั้งศาสนวงศ์ ในลังกาที่ยังมีพระอุบาลีวงศ์อยู่จนทุกวันนี้ พอได้ ๗ ครั้งนั่นแล้ว ก็มาถึงไทยเราเองบ้าง เราไม่มีการติดต่อกับพม่าเราก็นับจากสายลังกามาหาไทยใน พ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดเทียบเคียงดูสังคายนาครั้งแรกในพม่า พ.ศ. ๒๔๑๔ ครั้งแรกในพม่าที่จารึกในหินอ่อน แต่ครั้งแรกในประเทศไทยคือที่ลานนา เชียงใหม่นั่น พระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนครั้งแรกในพม่าเกือบ ๔๐๐ ปี แล้วเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สังคายนาครั้งแรกในประเทศไทยนี้ มีตัวอักษรลานนาซึ่งเรายังอุตส่าห์เก็บเอาไว้ได้ นั่นถือเป็นครั้งที่ ๘ เพราะนับจากลังกามาเป็น ๗ ครั้ง พอมาถึงครั้งที่ ๙ คือในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๑ ทรงอุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาแล้วก็ได้จารึกลงในลานทองฉบับหลวงที่เรียกว่าลานทอง คือลงทองไว้งดงามมาก ทรงอุปการะถึงขนาดเสด็จไปทั้งเช้าทั้งกลางวัน ถ้าเสด็จไปไม่ได้ด้วยพระองค์เอง ก็ให้วังหน้าเสด็จ คือพระอนุชา แล้วตอนเย็นยังเสด็จไปถวายน้ำอัฐบาลภิกษุสงฆ์ แปลว่าทรงปลื้มปีติเพียงไรในการสนับสนุนสังคายนาครั้งนั้น ซึ่งพวกเราเป็นหนี้บุญคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อย่างมากทีเดียวที่เริ่มสังคายนา คือชำระพระไตรปิฎกให้เรียบร้อย ต่อมาก็ถึงสมัยการพิมพ์ของไทยในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถือว่าการสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ นั่น นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๒ เพราะในประเทศไทยถือเป็นสังคายนาครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๓๓๑ ก็ยังนับว่าทำก่อนพม่าอยู่ดี เพราะครั้งแรกของพม่า ครั้งที่สองของไทยก็ยังก่อนครั้งแรกของพม่า มาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงจะนับว่าหลังพม่าหน่อย แต่ว่าทั้งนี้เราก็เรียกว่าพิมพ์พระไตรปิฎกเท่านั้น ในรัชกาลที่ ๕ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ แล้วก็มาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงพิมพ์พระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายรัชกาลที่ ๖ นี่ก็เป็นเรื่อความเป็นมาในประเทศไทย เมื่อฟังดูอย่างนี้แล้ว ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายก็คงจะเห็นได้ว่า การที่ไทยเรานับสังคายนา ๙ ครั้ง จนถึงครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น เพราะว่าเรามีสายติดต่อกับลังกามาตลอด เราจึงยอมรับนับถือการทำสังคายนาของลังกาถึง ๔ ครั้ง แต่พม่าติดต่อกับลังกาน้อย ก็รับนับถือของลังกาเพียงครั้งเดียว ทางฝ่ายลังกานั้น ที่เป็นทางการจริงๆ เขานับถือเพียงครั้งแรกที่พระมหินทเถระไป ถ้าถึงวันที่พระมหินทเถระไปลังกาเมื่อไหร่ ลังกามีการจุดประทีปโคมไฟ มีการตั้งดอกไม้แจกฟรี ผู้รับไม่ต้องเสียงสตางค์ ที่ประตูวัดมีดอกไม้กองไว้ มีเครื่องสักระกองไว้ให้สาธุชนเข้าไป แล้วก็ได้รับดอกไม้นั้น เข้าไปบูชาเจดีย์สถานถือว่า“โกศลเดย์”คือวันกลางเดือน ๗ ที่พระมหินทเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา ถือเป็นงานเอิกเกริกของลังกาทีเดียว แล้วก็ลังกายอมรับสังคายนาครั้งที่ ๒ คือที่จารึกลงในใบลานเมื่อปี พ.ศ. ๔๓๓ นั่นครั้งหนึ่ง แล้วนอกจากนั้นลังกาไม่ยอมรับ มามีอีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้ คือพระในลังกาทำขึ้น แต่ก็ไม่มีใครรู้ นี่เขาก็บันทึกไว้อีกครั้งหนึ่ง ตกลงลังกาเองยอมรับสังคายนาของตนเองประมาณ ๓ ครั้งเท่านั้นทีนี้ก็มีปัญหาว่าเพียงเท่านั้นหรือ ที่พระไตรปิฎกได้แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย พม่า ลังกา แล้วจะไปที่ไหนอีก ขอเรียนว่าประเทศกัมพูชากับประเทศลาวนี่เป็นประเทศที่นับว่าเป็นพี่น้องของไทยได้ อย่างวินัยปิฎกของกัมพูชาฉบับราชบรรณาลัยนี่ ด้านหนึ่งแสดงเป็นตัวอักษรบาลี ด้านหนึ่งเป็นภาษาเขมร ความจริงก็ได้ใช้ฉบับไทยเป็นหลัก พระเถระที่ไปทำในกัมพูชา ท่านก็เคยมาเรียนอยู่ในเมืองไทย เคยมาอยู่ในเมืองไทย และแม้ฉบับลาวนั่นก็พึ่งพิมพ์ เมื่อยังไม่มีตัวเรียงพิมพ์ก็อุตส่าห์เขียนเอา แล้วก็ไปถ่ายรูปทำบล็อก แต่ที่น่าสรรเสริญความอุตสาหะของพระรามัญคือ พระมอญที่ตั้งพระไตรปิฎกฉบับมอญ บางฉบับบอกจุลศักราช เขียนอักษรมอญแต่เป็นภาษาไทย จุลศักราชเท่านั้น ร.ศ. เท่านี้ที่พิมพ์พระไตรปิฎกเล่มนี้ขึ้น แล้วมีพระภิกษุอีกท่านหนึ่ง ท่านอุตส่าห์ไปตั้งโรงพิมพ์ของท่านเอง พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาอักษรมอญได้ตั้ง ๓๙ เล่ม แปลว่าเมืองไทยเป็นแหล่งผลิตพระไตรปิฎกอักษรมอญด้วย ก็แปลว่า แหล่งกลางคือไทยนี่ได้แพร่ออกไปหลายทางเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งพูดถึงพระไตรปิฎกฉบับลังกาคือ ลังกานั้นก็น่าเห็นใจ เพราะเป็นเมืองที่อยู่ในปกครองของหลายประเทศ ปอร์ตุเกสก็เคยปกครอง อังกฤษก็เคยปกครอง ถึงเปลี่ยนแปลงกันเรื่อยๆมา ลังกาพิมพ์พระไตรปิฎกเหมือนกัน แต่ว่ากระท่อนกระแท่น เคยไปสืบค้นหาจะซื้อเอามา แต่ว่าหาไม่ได้ ตกลงได้ความว่า พระลังกาท่านใช้พระไตรปิฎกภาษาไทยที่ส่งๆไป พระเถระในลังกาที่อ่านพระไตรปิฎกกันก็ใช้พระไตรปิฎกภาษาไทย เวลานี้เริ่มจะมีของลังกาเองบ้างแล้ว
พูดไปถึงพระไตรปิฎกที่ไปสู่ตะวันตก อันนี้น่าแปลกใจที่ว่าในปัจจุบันแหล่งผลิตพระไตรปิฎกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น อีกแห่งหนึ่งอยู่ในประเทศ อังกฤษคือPali Text Society สมาคมบาลีปกรณ์ คนไทยเราเคยได้บริจาคเงินกัน คนละเล็กละน้อย นำไปให้แก่สมาคมนี้ช่วยในการพิมพ์ ความจริงคนไทยให้กันเรื่อยๆ มา รัชกาลที่ ๕ พระราชทานหลายคราวแล้ว เขาก็พิมพ์จารึกไว้ด้วย เช่น ดิกชันนารีภาษาบาลี-อังกฤษ นี้ รัชกาลที่ ๕ ก็พระราชทานอยู่ถึง ๕๐๐ ปอนด์ แล้วการพิมพ์พระไตรปิฎกนั้น รัชกาลที่ ๕ ก็พระราชทานอยู่หลายคราว เวลานี้เรามีพระไตรปิฎกฉบับโรมันที่เกือบสมบูรณ์ พระไตรปิฎกก็นับว่าดีมาก แล้วคำแปลก็เกือบสมบูรณ์ นับว่าหายากทีเดียวที่ทำกันเป็น หลักฐานหลายสิบเล่ม มีขนาดโตอย่างที่ท่านกล่าวว่า โตกว่า Encyclopedia Britannica มากทีเดียว ที่สมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ จัดทำคือทำเป็นสองชุด ชุดหนึ่งพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ที่อ่านแล้วเป็นภาษาบาลี เหมือนอย่างฉบับที่ไทยเราพิมพ์ แต่ว่าอีกชุดหนึ่ง พิมพ์คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝ่ายเขาเป็นผู้แปล แต่ที่น่าสังเกตก็คือ มีสุภาพสตรีอยู่หลายคนทำหน้าที่แปลพระไตรปิฎกแล้ว ในปัจจุบันสุภาพสตรีเป็นผู้แปลพระไตรปิฎก และเป็นนายกสมาคมบาลีปกรณ์ด้วย เมื่อก่อนเป็นแต่เพียงเหรัญญิกอุปนายก ปัจจุบันเป็นผู้นำในการแปลพระไตรปิฎก เคยเล่ามาว่าขายดีมาก พิมพ์เท่าไหร่ๆ เดี๋ยวหมด ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสั่งกันมาทั้งนั้น เว้นไว้แต่ รัสเซียไม่ได้สั่งพระไตรปิฎกแปล ทีนี้นับได้ว่าสมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ ได้เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งในปัจจุบันที่พิมพ์พระไตรปิฎก ทั้งภาษาบาลีเป็นอักษรโรมัน และภาษาบาลีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสกำลังเริ่มงานแปลโดย สมาคมสหายพระพุทธศาสนา มีสุภาพสตรีหลายท่านไปเป็นกำลังแรงงาน คือบางท่านก็เป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต แต่ว่ากลับไปเลื่อมใส พระพุทธศาสนาแล้วก็ไปช่วยกันในงานนี้ เป็นที่น่าพอใจว่าสมาคมบาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษนั้นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ แปลว่า พระไตรปิฎกนี่มีการแปลมาแล้วกว่า ๑๐๐ ปี นี่เป็นภาษาอังกฤษ แล้วภาษาเยอรมัน ก็น่ายินดีที่เก่าไม่น้อยกว่าอังกฤษเหมือนกัน คือเยอรมันมีนักปราชญ์ภาษาบาลีหลายคนที่แปลพระไตรปิฎกได้ มีทั้ง แมคซมึนเล่อร์ มีทั้ง โฮลเดนเบอร์ก ที่แปลพระไตรปิฎก ภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็มีอยู่ฉบับหนึ่งที่แปลเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ยังมีชาวเดนมาร์คกับชาวเยอรมันร่วมกันแปล คือชาวเยอรมันแปลธรรมบท และชาวเดนมาร์คแปลสุตตนิบาต ขาวเดนมาร์คก็ทำดิกชันนารีภาษาบาลีที่พิสดารที่สุดในโลก ราชบัณฑิตยสถานของเดนมาร์คร่วมกันจัดทำเป็นพจนานุกรมบาลี ที่พิสดารที่สุดในโลก เพียงอักษร "อ" เท่านั้น หนาเท่านี้ยังไม่จบ ก็นึกว่าถ้าจะยังไม่มีวันจบได้ เพราะว่าพยายามเก็บจะไม่ให้มีตกหล่นเลย ตัวอังกฤษทั้งชุดหนาเท่านี้ แต่ว่าของเดนมาร์ค เฉพาะตัว “อ” หนาเท่ากับของอังกฤษแสดงให้เห็นว่า พระไตรปิฎกเราได้เดินทางไปหลายประเทศเพียงไร
ที่นี้จะกล่าวถึงพระไตรปิฎกที่ไปสู่อเมริกา น่ายินดีว่าอเมริกาเขามีมหาวิทยาลัยที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎกแปล มาหลายสิบปีแล้วเหมือนกัน มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดจัดพิมพ์ นอกจากนั้นชาวอเมริกันคนหนึ่งเป็นเลขานุการโทสถานทูตอเมริกันในจีน ที่เป็นผู้แปลพระไตรปิฎก ฉบับภาษาธิเบตเป็นภาษาอังกฤษ เลือกเอาเฉพาะที่จำเป็นจะต้องรู้เป็นพุทธประวัติ จนกระทั่งประวัติพระพุทธศาสนาในธิเบต นับเป็น หนังสือที่หายากมาก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าพระไตรปิฎกของเราได้เป็นมา นอกจากในประเทศไทยแล้ว ก็แพร่หลายไปต่างประเทศเพียงไร ในปัจจุบันในเยอรมันมีพระไตรปิฎกบางฉบับ มีการแปลใหม่คือ ของฮอลันดาแปลมัชฌิมนิกายไว้ ก็พิมพ์มาแล้ว ก็ยังมีนักปราชญ์บาลี อีกคนจะพิมพ์แปลใหม่อีกสำนวนใหม่ มัชฌิมนิกาย เป็นหนังสือแปลยากอย่างประหลาด ในอังกฤษมีแบบนี้เหมือนกันคือ คนเดิมแปลไว้แล้ว นี่คนที่สองผู้หญิงแปลจบแล้ว พิมพ์เสร็จแล้ว คนเดิมเป็นผู้ชายแปลไว้แล้วก็เห็นว่าผิดมาก แปลใหม่พิมพ์อีกครั้ง ก็แปลว่าในต่างประเทศได้มีการสนใจในเรื่องพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทนี่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ฝ่ายมหายานจะไม่กล่าวถึงในขณะนี้
สำหรับพระไตรปิฎกฉบับไทย กล่าวได้ว่าในปัจจุบันฉบับไทยก็นับว่าสมบูรณ์หรือจะเรียกว่าสมบูรณ์ที่สุด ในการพิมพ์ซ่อมคราวต่อๆ ไป พระเถระท่านก็พยายามที่จะทำสารบาญค้นคำให้ดีขึ้น อันนี้พวกอินเดียบ่นว่าเราทำไว้ไม่ค่อยเรียบร้อยเวลาเขาเอาไปค้น ก็เพราะว่าหลายๆ ท่านด้วยกันทำไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน มายุคหลังพระเถระที่ท่านแก้ไขในการพิมพ์ซ่อมฉบับที่หมดๆ คราวต่อไปนี่ ท่านก็พยายามทำสารบาญค้นธรรมให้ดียิ่งขึ้น แต่พระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ คือแปลจากภาษาบาลีไปแล้วที่สมบูรณ์ที่สุด อยากจะให้เป็นภาษาไทย คือของที่เป็นภาษาอังกฤษเองเวลานี้ยังไม่หมด อยากให้เป็นที่สองของไทย แต่พม่าพอสังคายนาเสร็จแล้ว เวลานี้กำลังรุดหน้าใหญ่ในการทำแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาพม่าแต่ยังไม่เสร็จ ที่สมบูรณ์รองจากของไทยก็คือของอังกฤษ บางครั้งเขายังต้องขอให้ทางประเทศไทยคัดลอกจากคัมภีร์ใบลาน คือบางคัมภีร์ที่ยังไม่มีในประเทศอังกฤษ เป็นอักษรไทยก็ไม่ว่าละ คัดไปแล้วเขาไปอ่านเองไปจัดเป็นอักษรโรมันเอง คือเขาทำงานกันจริงเหมือนกันแม้ว่าในการคัดลอกนั้น จะต้องจ้างต้องลงทุนลงแรง เขายอมเสียสละเพื่อที่จะแปลพระไตรปิฎกให้ครบชุดให้ได้ แต่ว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเราเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีพระไตรปิฎกแปลครบสมบูรณ์ เพราะว่าพระไตรปิฎกนี่มากมายเหลือเกิน อย่างฉบับไทยเรามี ๔๕ เล่ม นี่ถ้าจะแปลกันจริงๆ ไม่ใช่เล็กน้อยทีเดียว ลองเอาไปเทียบกับเอนไซโคลปีเดียแล้ว เพียงแต่ตัวพระไตรปิฎกเราก็เกินเอนไซโคลปีเดียไปเท่าไหร่ Britannica ก็มี ๒๔ หรือ ๒๕ เล่ม ทีนี้ก็ยังมีแปลกันจนจบ ทั้งของคุณสม พ่วงภักดี และของกรมการศาสนา ที่นับว่าเป็นการแปลอย่างมากที่สุด
เราน่าจะภาคภูมิใจว่าประเทศไทยเราได้มีพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ ปัญหาสำคัญมีอยู่ข้อหนึ่งคือปัญหาที่ว่า การทรงจำพระไตรปิฎกนั้น จะทำได้แค่ไหน เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๑ เสร็จแล้ว ได้มีการมอบงานกัน คือว่าองค์นี้พร้อมทั้งลูกศิษย์ช่วยกันจำส่วนนี้ องค์นี้พร้อมทั้งลูกศิษย์ช่วยกันจำส่วนนี้ แบ่งงานกันทำเพื่อจะได้จำได้สมบูรณ์ คือว่าไม่ใช่จำคนเดียวหมด ๔๕ เล่มนี้ ท่องหมดก็ไม่ไหว เพียงเล่มเดียวก็นึกว่าแย่เหมือนกัน แต่ทีนี้ท่านแบ่งกันท่องจำ แล้วก็เพราะในสมัยนั้นไม่มีการจดก็ต้องใช้การจำ คือถ้ามีการจดเข้าเมื่อไหร่ การจำก็ไม่ค่อยจำเป็น ในสมัยที่ยังไม่มีการจด การจำเป็นของจำเป็นมาก เราก็ได้มีตัวอย่างการจำ อย่างในประเทศพม่า พระเถระที่จะสอบได้ชั้นสูงๆ นั้น ต้องว่าพระไตรปิฎกได้จบเป็นเล่มๆ พระลังกาที่ท่านได้เคยมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณสาธุศีลสังวร มาอยู่ในประเทศไทย เวลาเรามีอะไรสงสัยก็เคยไปถามท่านเหมือนกัน แล้วท่านก็ว่าปากเปล่าให้ฟัง มีการจำเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการจำพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องที่แบ่งงานกัน จึงมีสำนักอาจารย์ที่เรียกว่า อาจารย์นี้ท่องจำพระไตรปิฎกหมวดยาวคือ พระสูตรยาวๆ อาจารย์นี้ท่องจำพระไตรปิฎกขนาดพระสูตรปานกลาง โดยนัยนี้การนำพระไตรปิฎกสืบต่อมาก็มีทางที่จะเป็นไปได้ ในปัจจุบันก็มีการท่องจำแบบที่ว่าทำอย่างไรจึงจะจำได้โดยไม่ต้องท่อง คือว่าถ้าท่องๆ ให้แต่น้อย และถ้าไม่ต้องท่องจะมีวิธีจำอย่างไร ถึงจะจำข้อความบางทีตั้ง ๕๐-๖๐ เรื่อง ติดต่อกันไม่ให้สับลำดับ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น