วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชีวประวัติหลวงปู่มั่น

สรุปวิชา ธรรม  สอนโดย  อ.ฉัตรชัย อธิจิตฺโต
เรื่อง ประวัติหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต
กลุ่มที่ ๓

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
               ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ แก่นแก้ว   เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
                มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดี มาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย   และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน

การเข้าสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา
          หลวงปู่มั่นได้เข้าบรรพชา เป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ ๒ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก" 
                ครั้นอายุได้ ๒๒ ปีจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ใน ธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนา เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี จนกระทั่งท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษา แล้วไปศึกษาธรรมะจาก ท่านเจ้าคุณ  อุบาลีคุณูปมาจารย์ แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร

การแสวงหาธรรมและปฏิปทา
              ประมาณปี ๒๔๕๐ - ๒๔๕๓ ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาลิกา จ.นครนายก
                ท่านได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้เลิกล้มความต้องใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย 
                แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านทดลองพักดู ขณะที่พักที่ถ้ำสาริกาแห่งนี้ในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน พอดีคืนต่อๆมา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี(กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม)ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอัศจรรย์ สามวันสามคืน
          พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า "ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว" เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี(ยังไม่ชำนิชำนาญ)เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด๕๐๐ชาติ นั้นเองจึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ      
          จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า "กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง"คือพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่านเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดูเกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ(ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดมจึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า
          ความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จนเกิดเหตุในนิมิตว่ามียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ จนยักษ์ได้ยอมแพ้ จึงอันตรธานหายไป ในกาลเวลาต่อมาจิตท่านจึงรวม เห็นว่าโลกใบนี้ราบเลียนเตียนแล้ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  เสมอกัน     
          ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง๑พรรษา ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านจึงจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลี ผู้นิมนต์ที่เป็นอาจารย์ของตน ขณะที่กำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาส 
          โดยท่านรำพึงในใจว่า"หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็เหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้" ท่านจึงได้สละตำแหน่ง หนีธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่ วิเวกต่างๆใน เขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆนานถึง๑๑ปี      
          จนในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม  ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า "ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานบุ่งตระกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น" ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านให้กลับภาคอีสาน
          โดยท่านได้อาศัยรถไฟสถานีเชียงใหม่ ลงที่นครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาละวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ต.นาใน จ.สกลนคร พอพระภิกษุเข้ามาอยู่ศึกษากับท่านมากเข้า ท่านจึงดำริว่าจะย้ายที่จำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร พอเข้ามาลงหลักปักฐานที่ วัดป่าบ้านหนองผือเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายการหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง แก่ลูกศิษย์โดยอุบายทางตรงและทางอ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
     
มีลูกศิษย์ที่ขึ้นชื่อ
                หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมีผู้เคารพนับถือมาก หลวงปู่มั่นมีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนทั้งประเทศ สามารถแบ่งได้ดังนี้
          ศิษย์ที่มรณภาพแล้ว                                   ศิษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่
          หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ                                       หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี 
          หลวงปู่ขาว อนาลโย                                    หลวงปู่พุธ ฐานิโย
          หลวงปู่ฝั้น อาจาโร                                            หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน 
          หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม                                         หลวงพ่อวิริยัง 
          หลวงปู่ดุล อตุโล                                               หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม 
          หลวงพ่อชา สุภทฺโท                                                          ฯลฯ
          หลวงพ่อลี ธมฺมธโร 
               ฯลฯ

แนวทางการปฏิบัติ
            พระอาจารย์มั่น สอนสมาธิสาย อานาปานัสสติ หรือบาทีก็เรียกว่า สาย พุธ โธ  ในลักษณะของการเดินธุดงค์  การฝึกปฏิบัติสายอาจารย์มั่น  ท่านใช้แบบ อานาปานัสสติ  
          แนวทางของการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น จึงเป็นแนวทาง ของการปฏิบัติแบบ  สมถกัมมัฏฐาน และ  วิปัสสนากัมมัฏฐานด้วย คือให้รักษาศีล ทำสมาธิ และภาวนาไปด้วย

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
                ๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา 
                ๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
                ๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด                                                                                                                                                           ๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น 

คำสอนหลวงปู่มั่น
              ๑.ธรรมชาติของดีทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม ก็เกิดขึ้นมาจาก โคลนตม อันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียดแต่ว่า ดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งสะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ เสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีก
                ๒.ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
                ๓.ถ้าจิตมีความสงบถึงฐานของสมาธิแล้ว อย่าไปบังคับให้ถอน ปล่อยให้อยู่ในความสงบนั้นไป จนจิตได้มีความอิ่มตัวในสมาธินั้น ๆ ได้เวลาแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป
                ๔.ได้สมบัติทั้งปวงไม่เท่าได้ตน เพราะตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่ง สมบัติทั้งปวง
                ๕.ของดีมีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา ไม่ใช่เกาถูกที่คันต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้
                จะได้หายห่วงอะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย      
                ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้
          ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร อาตมาขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง
          ๖.เวลาที่สวดไปใจก็กำหนดตาม เกิดความเห็นชัดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ในเวลาที่สวดอยู่นั้น ควรสงเคราะห์เข้าไปในกองปัญญา ก็พอครบสิกขา ๓ ตามแบบปฏิบัติบูชาส่วนดอกไม้ ธูปเทียน และภาชนะที่ใส่ดอกไม้วางอยู่หน้าพระพุทธรูป ก็เป็นอามิสบูชา ข้าพเจ้าแยกเป็น ๒ ส่วนให้ท่านฟังนี้ ขอท่านจงจำไว้ จะได้ไม่เห็นผิดว่า การไหว้พระสวดมนต์เป็นอามิสบูชา...

ปัจฉิมวัยของหลวงปู่มั่น
     
      ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา  หลวงปู่มั่น มาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกหลายแห่ง ตามเสนาสนะป่า (ปัจจุบัน เป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้างครั้นพ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 
          ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก  ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษ ยานุศิษย์ เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิด  ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ให้ชื่อว่า มุตโตทัยครั้นมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมี  อายุย่างขึ้น ๘๐ ปี   
          ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้ดูแล  อาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษาอาพาธก็กำเริบมากข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกล ต่างก็ทะยอยกัน    เข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจและรักษา แล้วนำท่านมา เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและศิษยานุศิษย์ ก็มาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุด โดยลำดับ    
          ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่ วัดป่าสุทธาวาส  ใกล้เมืองสกลนครโดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัด เวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ    ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ   สิริชนมายุของท่านได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา    

______________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น