วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่างบทความวิจัย

การศึกษาเปรียบเทียบนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับ
นิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของอาร์เน แนสส์
A Comparative Study in Ecology of  Buddhist Philosophy
and Deep Ecology through Arne Naess’s Perspective

                                                                                  ประเวศ  อินทองปาน[1]
                                                                                               Praves  Intongpan

                                         บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษานิเวศวิทยาในพุทธปรัชญา  2) ศึกษานิเวศวิทยาแนวลึก ตามทัศนะของ อาร์เน แนสส์   3) เปรียบเทียบนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของอาร์เน แนสส์และการประยุกต์เพี่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผลการวิจัยพบว่า นิเวศวิทยาในพุทธปรัชญา เน้นทั้งระบบคิดและระเบียบในการครองชีวิตที่ดีงามต่อการสัมพันธ์กับสรรพสิ่งทางธรรมชาติ มองสรรพสิ่งว่าต่างดำเนินไปอาศัยกันอย่างสหกรณ์คือการกระทำร่วมกันแบบองค์รวมตามกฎธรรมชาติหรือกฎนิยาม 5 และต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์หาตัวตนที่ยั่งยืนไม่ได้ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือมีสัมมาทิฏฐิ และดำเนินตามหลักพุทธจริยธรรมมีศีลหรือวินัยด้วยท่าทีมิตรภาพต่อกัน  ขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยศีล  สมาธิ และปัญญา และเป้าหมายสูงสุด คือ การประจักษ์แจ้งถึงความเป็นอนัตตา ซึ่งทำให้มนุษย์คลายความเห็นแก่ตัวและคลายการมองสรรพสิ่งรอบตัวที่จะนำมาบำรุงบำเรอตนเอง    หรือนิพพาน ซึ่งเป็นรูปแบบแห่งการสำนึกทางนิเวศที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล
ด้านนิเวศวิทยาแนวลึกพบว่า มีทัศนะที่มุ่งเน้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงการมองโลกและชีวิต โดยตระหนักว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติในระบบนิเวศ จึงต้องมีปทัสถานทางจริยธรรม มนุษย์ไม่ควรไปรุกรานและทำร้ายธรรมชาติ ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เพราะสรรพสิ่งมีคุณค่าในตัวเองและผูกพันเป็นข่ายใยหนึ่งเดียว  นั่นคือ เน้นให้มีประสบการณ์ตรงต่อสารัตถะและธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เรียกว่า การประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริงหรืออัตนิเวศ 
ส่วนแนวคิดที่ต่างกันคือพุทธปรัชญาอธิบายธรรมชาติจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ขณะนิเวศวิทยาแนวลึกมีหลักการปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์ตรงต่อความจริงแท้ที่เรียกว่าอัชฌัตติกญาณอันเป็นการสัมผัสธรรมชาติด้วยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที   ซึ่งเป็นการรู้แจ้งต่อสัจธรรมความจริงแท้ของสรรพสิ่ง รวมทั้งการบูรณาการทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และหลักนิเวศวิทยา แต่ทั้งสองวิถีทรรศน์ต่างตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยปรับแนวคิดและการกระทำที่ถูกต้องต่อธรรมชาติ งดเว้นการทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และตักตวงผลจากธรรมชาติ มนุษย์ต้องพัฒนาจิตใจที่พร้อมด้วยปัญญาและประสานผลประโยชน์ทุกสิ่งด้วยกันทั้งปัจเจกะ สังคมและระบบนิเวศ
Abstract 

           The objectives of this research were 1) to study ecology in Buddhist philosophy, 2) to study the deep ecology through the perspective of Arne Naess, 3) to compare the ecology of Buddhist philosophy and deep ecology through the perspective Arne Naess and apply both concepts to the preservation of the environment.
             It was found that ecology in Buddhist philosophy emphasizes both systematic thought and rules for right living in relation to all things in nature. It regards all things in nature to be organically interdependent acting holistically according to the laws of nature, or the five aspects of natural law  which are  controlled  by the  law of the three characteristics, and are non-self  (Anatta). Human beings therefore must have the right view, or Sammaditthi, and conduct themselves in accordance with Buddhist morality, or discipline, acting with friendship to all things. At the same time, human beings can develop the quality of life through precepts, meditation, and wisdom and attain the highest goal of life, clear realization of non-self, by which they are relieved of selfishness and liberated from seeking to recruit all the things they see about them to the service of self. This is Nirvana, which is the form of ecological awareness that embraces all things in the universe.
           Deep ecology, for its part, aims to change the view of the world and of life through the realization that human beings are one with nature in the ecosystem. Thus, they must have ethical standards. They must not exploit or destroy nature but live in harmony with nature because all things have intrinsic value, and all are interconnected in a unity. The emphasis is thus on experience of the essence and nature of things, and this is called clear realization of the true self, or the ecological self.
            As to differences between the two, Buddhist philosophy explains all nature on the basis of the Buddha’s Enlightenment. Deep ecology, on the other hand, proceeds through practices to the experience of truth, or intuition, which is a sudden insight into the truth of the all and the integration of theories of the science and of ecology. Yet both concepts realize the importance of preservation of the environment and the ecosystem through change to proper thought and action with regard to nature, refraining killing all living things and exploiting nature. Human beings must develop their minds and wisdom for the benefit of all: the individual, society and the ecosystem.

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

            สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  สิ่งมีชีวิตมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต   เพื่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างดุลยภาพทางธรรมชาติ  การศึกษานิเวศวิทยาจึงเป็นพื้นฐานแห่งความรู้  ความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมซึ่งจะนำไปสู่การมองเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในระบบนิเวศที่เป็นสื่อกลางในการหมุนเวียน ถ่ายเทของสสารและพลังงานอยู่ตลอดเวลา   ปัญหามลพิษในระบบนิเวศ  เป็นปัญหาสำคัญและกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา   วิถีทรรศน์ทางนิเวศด้านปรัชญาก็มีทัศนะที่แตกต่างกัน เช่น แนวคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) ให้ความสำคัญมนุษย์มากที่สุด  แนวคิดที่ยึดถือสิ่งมีชีวิตเป็นศูนย์กลาง (Biocentric) ให้ความสำคัญสิ่งมีชีวิตว่าต่างก็มีสิทธิ์ดำรงตนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน  หรือแนวคิดที่ยึดนิเวศเป็นศูนย์กลาง (Ecocentric) ให้ความสำคัญระบบนิเวศมากที่สุด ทุกสิ่งอิงอาศัยกันและกัน แม้มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
            ส่วนนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญา มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดที่ยึดนิเวศเป็นศูนย์กลางมากที่สุด เพราะเน้นการตระหนักรู้คุณค่าของธรรมชาติ พระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเจริญและความเสื่อมของโลกมนุษย์    การเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายว่าขึ้นอยู่กับธรรมชาติคือ ระบบสิ่งแวดล้อม  หากระบบนิเวศที่เป็นอยู่สูญเสียไป  ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เช่นกัน   มีหลักคำสอนเกี่ยวกับนิเวศวิทยาทั้งในพระธรรมและพระวินัยที่ตรัสไว้แก่พุทธบริษัทเพื่อการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามพุทธประวัติ พระพุทธองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งสิ้น ธรรมชาติจึงมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง และธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรม  เพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติต่อธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และกลับเข้าสู่ความเป็นนิเวศ ที่จะเป็นทางให้มนุษย์ทั้งหลายพบกับความสุขอันแท้จริง   
นิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) มีอาร์เน แนสส์ (Arne Naess) เป็นผู้ก่อตั้งในทศวรรษที่ 1960 มีเป้าหมายมุ่งเน้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงการมองโลกและชีวิตโดยตระหนักว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  และมองธรรมชาติมีค่าในตัวเอง เน้นการปฏิบัติหรือแก้ไขกระบวนทัศน์ของมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน  นั่นคือ มนุษย์กับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มนุษย์ไม่ควรไปรุกรานและทำร้ายธรรมชาติ ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
            ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาถึงนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับทฤษฏีนิเวศวิทยาแนวลึกของ อาร์เน แนสส์ เพื่อวิเคราะห์แนวคิดด้านนิเวศวิทยาในการให้คุณค่า ท่าทีและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.       เพื่อศึกษานิเวศวิทยาในพุทธปรัชญา
2.       เพื่อศึกษานิเวศวิทยาแนวลึก ตามทัศนะของ อาร์เน แนสส์ 
3.       เพื่อเปรียบเทียบนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของอาร์เน  แนสส์  และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม



ขอบเขตของการวิจัย

               การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของ อาร์เน  แนสส์ และการเปรียบเทียบแนวคิดทั้งสอง รวมทั้งการประยุกต์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถช่วยให้เกิดมโนทัศน์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องและยั่งยืนต่อไป

วิธีดำเนินการวิจัย

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research)  ซึ่งใช้วิธีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ส่วนวิธีการเสนอผลงานวิจัยเป็นการเสนอแบบพรรณนาความ (Descriptive) โดยศึกษาจากเอกสารทางด้านพุทธปรัชญาเถรวาท  ผู้วิจัยได้ยึดถือคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นหลัก  ส่วนนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) ตามทัศนะของอาร์เน แนสส์  ตามเอกสารและตำราที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.   ได้รับความรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญาและนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของ อาร์เน แนสส์ 
2.      ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ  และกระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ในการศึกษานิเวศวิทยาทางด้านปรัชญาต่อไป
3.      ประยุกต์ใช้ทฤษฎีหรือแนวคิดทั้งสองเพื่อการอนุรักษ์และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                       
            ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ และคณะ (2534)  ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ผลการศึกษาพบว่า หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก สามารถนำมาใช้เป็นหลักจริยธรรมในการทำความเข้าใจกับสภาพธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เนื่องจากพุทธทัศนะมีท่าทีในเชิงอนุรักษ์ จะเห็นได้ว่าจริยธรรมเบื้องต้นของชาวพุทธพึงมีต่อป่า และทุกสิ่งที่เป็นธรรมชาติ พระพุทธศาสนาแสดงท่าทีต่อแหล่งน้ำลำธาร สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตทั่วไป โดยมุ่งเน้นที่ความเมตตา กรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย  การอนุรักษ์สามารถทำได้โดยการทำความเข้าใจที่ตัวมนุษย์เอง เพื่อจะได้แก้ปัญหาที่ตัวมนุษย์ การอนุรักษ์ในพระพุทธศาสนานั้น สามารถน้อมนำให้ผู้ที่มีความจริงจังได้พัฒนาจิตวิญญาณอย่างแท้จริงด้วย
            พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) (2540)  กล่าวว่ามนุษย์จะมีจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้     ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง 4 ดำเนินไปด้วยดี โดยที่ทุกส่วนเป็นปัจจัยส่งผลในทางเกื้อกูลกันและทำให้ดำรงอยู่ด้วยดีด้วยกัน องค์ประกอบทั้ง 4 คือ  มนุษย์  สังคม  ธรรมชาติ และเทคโนโลยี
          Grady (1995) ได้เสนอผลการศึกษาว่านักวิเคราะห์ชาวตะวันตกหลายคนได้ศึกษาในปี ค.ศ.1970 พร้อมกับลงความเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย  ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างของการให้เหตุผลเกี่ยวกับกระแสแนวความคิดของคนที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วแสดงต่อประเทศโลกที่สาม และแนวความคิดเช่นนี้เป็นแนวความคิดที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ที่มองเห็นเท่านั้น จึงอยู่บนพื้นฐานของการรุกรานสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดความหายนะต่อสิ่งแวดล้อมจนไม่สามารถปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้ แต่เมื่อศึกษาสังคมของชาวพุทธ และแนวทางการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมของชาวพุทธจากวิถีชีวิตแบบพุทธดั้งเดิมของพระป่า นักอนุรักษ์กลับสะท้อนให้เห็นความสันโดษ และความเรียบง่ายในการดำเนินชีวิตพร้อมด้วยจิตวิญญาณที่ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดความหายนะต่อสิ่งแวดล้อม

ผลการวิจัย

ด้านนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญา
          นิเวศวิทยาตามแนวพุทธปรัชญาสามารถศึกษาได้จากพุทธประวัติและหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และนำมาวิเคราะห์ตามขอบข่ายด้านปรัชญา ทั้งอภิปรัชญา ญาณวิทยา และ จริยธรรม

1. ด้านอภิปรัชญา
            พุทธปรัชญามองสภาวธรรมหรือตัวธรรมชาติว่ามี  2  กลุ่มใหญ่ๆ  คือ
          1.1 สังขตธรรม คือ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ พืช และโลกธรรมชาติทั้งหลาย  สังขตธรรมบางชนิดมีเพียงรูป บางชนิดมีเพียงนาม (จิต) บางชนิดมีทั้งรูปและนาม เช่น  มนุษย์และสัตว์  ลักษณะของสังขตธรรมมี 3  ประการ (อัง.31/486/240)  คือ  ความเกิดขึ้นปรากฏ   ความเสื่อมปรากฏ   เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนปรากฏ   มองว่ามนุษย์มีองค์ประกอบทั้งในด้านกายภาพ (Matter)  และด้านชีวภาพ (Mind) ที่รวมเรียกว่าขันธ์ 5  
            1.2 อสังขตธรรม หมายถึง  สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่มีลักษณะ  3  ประการ   ได้แก่  ไม่ปรากฏการเกิด    ไม่ปรากฏการเสื่อมสลาย  และขณะดำรงอยู่ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลง   ดังในอสังขตสูตร  (อัง.31/487/241) ความว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย   อสังขตลักษณะธรรม 3 ประการ คือ  ไม่ปรากฏความเกิด   ไม่ปรากฏความเสื่อม   เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน    สิ่งที่มีคุณลักษณะ 3 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ อิงอาศัยกันเกิดขึ้น ดังเช่น นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติและเป็นโลกุตตรธรรม
            ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมแม้มีความแตกต่างกัน  แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือมีสภาวะเป็นอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้  ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า สังขาร (สังขตธรรม) ทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา (ขุ.ปฏิ.31/620)  ความจริงสรรพสิ่งคือความว่างเปล่า หรือสุญญตา ไม่มีตัวตนที่ดำรงอยู่อย่างถาวร สรรพสิ่งดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ  ซึ่งมีหลักทั่วๆ ไปว่า เมื่อมีสิ่งหนึ่งก็ย่อมต้องมีอีกสิ่งหนึ่ง เมื่อไม่มีสิ่งหนึ่งก็ย่อมไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง (ม.ม.13/371 และ สัง.น.16/154)
          ดังนั้น พุทธปรัชญามองธรรมชาติแบบองค์รวม กล่าวคือ ความจริงของธรรมชาติมีอยู่ 4  สภาวะคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สภาวะของธาตุเหล่านี้เป็นการนำมาประกอบเป็นประเภทสิ่งต่างๆ และสรรพสิ่งเหล่านี้มีลักษณะตามไตรลักษณ์ คือ มีการเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตนของมันเอง เป็นภาวะที่ปรากฏชั่วคราวเท่านั้น (อนัตตา)
ธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ มีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาจเปลี่ยนแปลงจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง บางเวลาอาจอยู่เป็นองค์ประกอบของดิน ของน้ำ ของพืช ซึ่งมีการเกิดขึ้น คงอยู่ และสูญสลายไปเป็นวัฏจักร สถานะของธาตุหรือวัตถุต่างๆ เหล่านี้จะเป็นไปตามกฎต่างๆ ดังที่ Barry (1971:14-48) กล่าวว่า

1) วัตถุธาตุทุกชนิดย่อมจะต้องไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่มีธาตุหรือวัตถุใดๆ สูญหายไป  การที่เรียกว่าหมดไปหรือสลายไป เป็นการเปลี่ยนสถานะของวัตถุที่ธาตุเหล่านั้นซึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ ทำให้ธาตุหรือหน่วยย่อยของวัตถุต้องไปเกาะติดอยู่กับสิ่งอื่นแทน
            2) วัตถุธาตุทุกชนิดมีอยู่ในโลกด้วยปริมาณจำกัด ไม่สามารถจะหามาใหม่ได้นอกเสียจากการนำมาใช้ใหม่ (Recycle) การที่ต้นไม้เพิ่มขึ้นก็เพราะมีการนำธาตุจากที่อื่นมาใช้ทำให้เกิดต้นไม้ขึ้น หรือการที่มนุษย์เพิ่มมากขึ้นก็เป็นการนำธาตุจากที่อื่นมาไว้รวมกันที่ตัวมนุษย์
          3) โลกเป็นระบบปิด กล่าวคือ โลกที่เราอาศัยอยู่นี้จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของวัตถุธาตุอยู่ภายในโลกนี้เท่านั้น และโลกมีโอกาสได้รับวัตถุธาตุจากภายนอกน้อยมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่ได้รับเลยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณธาตุที่โลกมีอยู่
           4) วัตถุหรือสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การที่น้ำอยู่ในบ่อนิ่งๆ นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลง คือมีการระเหยสู่อากาศ มีปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นเสมอ หรือตามพระพุทธศาสนากล่าวว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจังนั่นเอง

ปรากฏการณ์ในโลกทางกายภาพของทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งการวิวัฒนาการและเสื่อมสลายของโลก ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติหรือกฎนิยาม 5 คือ  1) กฎของกระบวนธรรมทางกายภาพที่ไม่มีชีวิต             (อุตุนิยาม) เช่น ลมฟ้า อากาศ ฤดูกาล 2) กฎทางชีวภาพ (พีชนิยาม) เช่น  การสืบพันธุ์  และพันธุกรรม               3) กฎทางจิตวิทยา (จิตนิยาม) ได้แก่ การทำงานของจิต 4) กฎของพฤติกรรมมนุษย์ (กัมมนิยาม) คือ กระบวนการให้ผลของกรรม  และ 5)  กฎเหตุและผลของสิ่งทั้งหลาย (ธัมมนิยาม) กฎทั้ง 5 เหล่านี้ แสดงถึงภาพของทุกสิ่งที่ช่วยผดุงสนับสนุนความมีอยู่ของกันและกันที่เรียกว่า สหกรณ์  ดังที่พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า 

ดูเถอะ  จักรวาล (Cosmic) ทั้งหมดมันอยู่กันอย่างสหกรณ์ระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์  ดวงอะไรต่างๆ   มันเนื่องกันและกัน  สัมพันธ์กันและกัน  มันจึงอยู่ได้  คือในโลกๆ  เดียวกัน  มันก็มีการอยู่แบบสหกรณ์มนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน กับต้นไม้ กับแผ่นดิน  มันอยู่กันอย่างประสานงานกันแบบสหกรณ์  มือ  ตีน  แขน  ขา  มันทำงานแบบสหกรณ์  ชีวิตจึงรอดได้(พุทธทาส ภิกขุ, 2533: 35)

          อย่างไรก็ดี พุทธปรัชญามองสรรพสิ่งมีสถานะที่เสมอกันและอยู่ร่วมกันภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์  ความไม่มีอะไรเป็นตัวตน และมีคำกล่าวยืนยันในประเด็นเดียวกันนี้ว่า

สรรพสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นบนโลกนี้ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักพุทธธรรมที่ว่า มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นวัฏจักรของความเปลี่ยนแปลงและหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง  สรรพสิ่งต่างๆเหล่านั้นจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ โดยรอบไม่ได้แต่จะมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งกันและกัน  ผลที่เกิดขึ้นในขณะใดกับสรรพสิ่งใด  ย่อมมีสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นตามหลักพุทธธรรมในเรื่องกฎแห่งอิทัปปัจจยตา    กล่าวคือ การเกิดขึ้นของสิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น  เป็นผลสืบเนื่องติดต่อกันเป็นลูกโซ่ทั้งสิ้น (De Silva, 1992: 41) 
            อย่างไรก็ตาม หลักอิทัปปัจจยตาหรือหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ   หรือหลักความเป็นจริงที่มีอยู่โดยธรรมดาและไม่เกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของ  พระศาสดาทั้งหลายเพราะทุกสิ่งในจักรวาลดำเนินไปตามกฎของเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ดังความว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ”  (สํ.นิ.,16/64/25)  จากข้อความนี้อธิบายยืนยันว่าหลักปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นถึงกระบวนธรรมชาติแห่งการอาศัยซึ่งกันและกันของสิ่งต่างๆ ว่าต้องเกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ โดยเป็นผลแห่งวิวัฒนาการที่เกิดจากความเป็นปัจจัยอาศัยกันตลอดไป ในทำนองเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็ดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
ความจริงเกี่ยวกับสภาวะธรรมชาติที่แท้ของทุกสิ่งนี้ จะเห็นว่าภาพของโลกเป็นภาพของกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเลยที่อยู่นิ่งหรือเป็นนิรันดร์ตัวตนพุทธปรัชญาได้ชี้ว่าอัตตาที่ประจักษ์ที่เราอ้างว่าเป็นของเรา เป็นความรู้สึกจริงๆ นั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นของเราเพราะว่ามันจะไหลไปตามกฎของธรรมชาติไม่มีอัตตาที่มีอยู่จริงๆ เลยแม้แต่ระดับที่ประจักษ์ได้ ในขณะเดียวกัน วิมุติหรือการพ้นทุกข์นั้น ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้มาด้วยการเลิกยุ่งเกี่ยวกับโลกที่พุทธปรัชญาถือว่าเป็นโลกสมมติ  เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าการให้ความหมายแก่โลกในบางลักษณะเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อความหลุดพ้น

2. ด้านญาณวิทยา
            ญาณวิทยาของพุทธปรัชญาเป็นตัวเชื่อมระหว่างหลักความจริงของสรรพสิ่งในด้านอภิปรัชญา เข้ากับการประพฤติปฏิบัติในด้านจริยธรรม  ในทรรศนะของพุทธปรัชญา การที่จะเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งได้นั้นจำต้องสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นเสียก่อน  เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้แจ้ง ความจริงของสรรพสิ่งหรือการบรรลุนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต  ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า ... ภิกษุทั้งหลายเมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด  สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามเป็นจริงซึ่งอริยสัจ 4 ประการ ฉันนั้น (สัง.ม.19/172/552)  สัมมาทิฏฐิสามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยปัจจัยสำคัญ 2  ประการ คือ 1) ปรโตโฆษะ คือ เสียงจากผู้อื่น เช่น การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา  คำบอกเล่า คำชี้แจง อธิบาย  หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ  และ 2) โยนิโสมนสิการ  หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี  ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า ...ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมทิฏฐิมี 2 ประการ ดังนี้ คือ ปรโตโฆษะและโยนิโสมนสิการ...(อัง.ทุก.20/317/110  และ ม.มู.12/497/539)
          นอกจากการสร้างสัมมาทิฏฐิแล้ว พุทธปรัชญายอมรับความรู้ในระดับภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง กระทั่งได้ความรู้แจ้ง 2 ประการ ได้แก่ อภิญญา คือ ความรู้ยิ่งและวิปัสสนาญาณ  คือ ความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง และเข้าถึงสภาวะของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง 

3. ด้านพุทธจริยธรรม

            พุทธจริยธรรม ว่าด้วยหลักจริยธรรมหรือวินัย ซึ่งเป็นรากฐานในการจัดระบบความสัมพันธ์ของบุคคลสังคมและธรรมชาติ  หรือสิ่งแวดล้อมโดยมีหลักพุทธอภิปรัชญาเป็นรากฐาน เพราะทั้งสองส่วนพึ่งพิงกันและกันเป็นหนึ่งเดียว พุทธอภิปรัชญาเป็นฐานให้กับพุทธจริยธรรม  ในขณะเดียวกัน พุทธจริยธรรมก็เป็นการยืนยันพุทธอภิปรัชญาด้วย
              หลักเกณฑ์นั้นปรากฏให้เห็นได้ในระดับศีล ซึ่งเป็นวินัยหรือข้อบัญญัติไว้เป็นมาตรฐานสำหรับห้ามหรือปิดกั้นเจตนาที่จะล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในทางที่ผิด และกลายเป็นปัญหาหรือความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกับมนุษย์หรือสัตว์โลกอื่นๆ ดังเช่น ข้อห้ามของพระภิกษุในส่วนที่ไม่ให้พระภิกษุพรากของเขียว หรือพืชที่มีชีวิตและไม่ให้ทำลายชีวิตสัตว์แม้ตัวเล็ก ตลอดถึงไม่อนุญาตให้พระภิกษุขุดดินเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นขุดเพราะจะทำลายชีวิตสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินดังเช่นที่ปรากฏในสิกขาบทต่างๆ กล่าวคือ

                  สิกขาบทที่ 1  ภูตคามวรรคในปาจิตติยกัณฑ์  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุตัดต้นไม้เองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (วิ.มหา., 2/354/347) และสิกขาบทที่ 10 ว่า ภิกษุรู้อยู่นำน้ำมีตัวสัตว์รดหญ้าหรือดินหรือใช้ให้ผู้อื่นรดต้องอาบัติปาจิตตีย์ (วิ.มหา.,2/402/379)
                   สิกขาบทที่สัปปาณวรรคในปาจิตติยกัณฑ์  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุใดแกล้งพรากสัตว์จากชีวิตต้องอาบัติปาจิตตีย์ (วิ.มหา.,2/631/538)

                  ส่วนในเสขิยวัตรสิกขาบทที่ 14 มีข้อความว่าภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะหรือบ้วนเขฬะลงบนของเขียวและอันภิกษุมิใช่ผู้อาพาธไม่พึงถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะลงบนของสดเขียว ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ มิใช่ผู้อาพาธ ถ่ายอุจจาระก็ดี ถ่ายปัสสาวะก็ดีบ้วนเขฬะก็ดีลงบนของสดเขียวต้องอาบัติทุกกฎ” (วิ.มหา.,2/477/712)

                 แม้การใช้ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยความสันโดษอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณธรรมอุปมาเหมือนดังผึ้งที่แสวงหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ดังข้อความในธรรมบท คาถา
ที่49 (อ้างใน พระธรรมปิฎก (..ปยุตฺโต), 2539:182) ความว่า

                 แมลงผึ้งเที่ยวบินไปในหมู่ไม้ไม่ทำให้ดอกไม้ก็ดี
                  สีและกลิ่นของดอกไม้ก็ดี  ต้องชอกช้ำเสียหาย นำเอาแต่น้ำหวาน
                 บินไป ฉันใด มุนีพึงจาริกไปในถิ่นชาวบ้าน  ฉันนั้น

            เนื้อหาของพุทธจริยธรรมก็คือ  มรรคองค์ 8  อันเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นกลาง (ทางสายกลาง) ตามธรรมชาติซึ่งประสานสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างเหมาะสม  เพื่อเอื้อให้เกิดผล คือ นิโรธ ตามกระบวนการดับทุกข์ มรรคสามารถนำมาใช้เป็นแนวการปฏิบัติที่ถูกต้องในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  กล่าวคือ มีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) การดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เจตนางดเว้นวจีทุจริต (สัมมาวาจา) เจตนางดเว้นกายทุจริต (สัมมากัมมันตะ) เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะทั้งหลาย (สัมมาอาชีวะ) มีความเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ) มีความรู้เท่าทัน (สัมมาสติ) และมีจิตกำหนดแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน (สัมมาสมาธิ)
           หลักมรรคองค์ 8 หรือ มัชฌิมาปฏิปทา สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางระบบนิเวศที่กำลังเผชิญอยู่ได้ เพราะเป็นหลักการที่ให้มนุษย์เผชิญกับทุกสิ่งด้วยแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมทั้งในส่วนพฤติกรรม จิตใจและปัญญา โดยเริ่มจากความคิดเห็นที่ถูกต้องซึ่งเป็นส่วนปัญญาก่อน เพราะพุทธปรัชญาถือว่า ถ้าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ให้กลมกลืนกับธรรมชาติต้องเปลี่ยนจิตใจให้ลดความโลภ โกรธ และหลง ควบคุมการใช้ชีวิตให้อยู่ในหลักมัชฌิมาปฏิปทา เริ่มต้นด้วยการมีสัมมาทิฎฐิ  คือ มีความเห็นถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก่อน (พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตโต), 2538: 6)
               โดยสรุป มรรคองค์ 8 สามารถประยุกต์ใช้ในพัฒนามนุษย์ หรือกิจกรรมด้านต่างๆ โดยเชื่อมความสัมพันธ์เป็นองค์รวมในการประยุกต์ใช้ในไตรสิกขา 3  คือ
             1) อธิศีลสิกขา เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกอบรมความประพฤติ ได้แก่ สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
 2) อธิจิตตสิกขา (สมาธิ) เป็นข้อปฏิบัติฝึกอบรมด้านจิตใจ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ
 3) อธิปัญญาสิกขาเป็นข้อปฏิบัติฝึกอบรมด้านปัญญาขั้นสูง  ได้แก่ สัมมาทิฎฐิ  และสัมมาสังกัปปะ

ด้านนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของอาร์เน แนสส์

              นิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) เป็นคำที่ Arne Naess  (1912-1997) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ก่อตั้งขึ้น  มีแนวคิดที่อธิบายอย่างลึกซึ้งในเรื่องของจิตวิญญาณที่มีอยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเรียกร้องสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิ์ของสัตว์ที่จะไม่ถูกทรมานหรือถูกฆ่า เป็นต้น  และแนวคิดดังกล่าวนี้  จึงก้าวล่วงวิธีการของศาสตร์สมัยใหม่ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์  ไปสู่ระดับของความรอบรู้ หรือ เข้าใจเกี่ยวกับตัวของมนุษย์เองและโลกธรรมชาติในด้านจิตวิญญาณ (Devall & Sessions, 1994: 113)   หลักนิเวศวิทยาแนวลึกที่สำคัญคือ การปฏิเสธทัศนะทวินิยมของมนุษย์กับธรรมชาติว่าแยกส่วนและแตกต่างกัน  มองธรรมชาติไม่ได้มีไว้เพื่อมนุษย์ใช้ประโยชน์และนำมาออกแบบใช้ในระยะสั้นๆ แต่ดำรงอยู่และมีค่าในตัวมันเอง  จึงมองโลกทัศน์แบบองค์รวมและมนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล เพราะธรรมชาติมิได้มีไว้เพื่อมนุษย์ มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ในการทำลายธรรมชาติโลก  สรรพสิ่งมีคุณค่าเท่าเทียมกันและมีคุณค่าในตัวเองและมีสิทธิ์ในการดำรงอยู่ ไม่ใช่มีอยู่เพื่อรับใช้มนุษย์
โครงสร้างของกระบวนทัศน์ของนิเวศวิทยาแนวลึกแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านอภิปรัชญา  ด้านญาณวิทยาและด้านจริยธรรมซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นฐานความคิดที่สอดรับกัน  ส่วนเนื้อหาของแต่ละด้านได้มาจากการบูรณาการศาสตร์หลายแขนงเพื่อตอบปัญหาต่างๆ เช่น  ฟิสิกส์แผนใหม่  นิเวศวิทยา เป็นต้น

1. ด้านอภิปรัชญา
           อภิปรัชญาของนิเวศวิทยาแนวลึกได้นำแนวความคิดของฟิสิกส์แผนใหม่ (Modern Physics) ได้แก่ ทฤษฎีสัมพันธภาพ (Theory of Relativity) และทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) ประกอบกันเป็นรากฐานทางทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ของฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 โดยทฤษฎีสัมพันธภาพนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมชาติของเวลา(กาละ) และอวกาศ(เทศะ) ตลอดจนวิชากลศาสตร์และแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนทฤษฎีควอนตัมก็นำไปสู่ความเข้าใจโครงสร้างของอะตอมและนิวเคลียส (วันชัย โพธิ์วิจิตร, 2527: 38) ทั้ง 2 ทฤษฎีนี้สามารถนำมาอธิบายธรรมชาติหรือสารัตถะ (Essence) ของสรรพสิ่งได้พอสมควร  ส่วนความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งนั้น สามารถอธิบาย ด้วย 2 ทฤษฎี คือ
1.1 ทฤษฎีระบบ (System Theory) คือ มองสรรพสิ่งในฐานะเป็นส่วนทั้งหมด (Whole) ที่ไม่ได้มาจากผลรวมของส่วนย่อยๆ แต่ละส่วน (Parts) แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของส่วนย่อยต่างๆในเชิงระบบ  กล่าวคือ สรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันดุจข่ายใย ซึ่งแต่ละจุดตัดของโครงข่ายนี้ก็คือสิ่งต่างๆ  ที่เชื่อมโยงถึงกันเหมือนตาข่ายทั่วทั้งเอกภพ ความเป็นมนุษย์เองก็มิได้เกิดจากการนำเอาส่วนต่างๆ ของร่างกายมาประกอบเข้าด้วยกัน แต่ความเป็นมนุษย์เป็นคุณสมบัติที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของส่วนย่อยต่างๆ  ซึ่งผลรวมของหน่วยย่อยต่างๆ ไม่สามารถก่อให้เกิดขึ้นมาได้ คุณสมบัตินี้จะถูกทำลายลงเมื่อระบบถูกแยกย่อยออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างโดดเดี่ยวเป็นธาตุอิสระจากกัน ดังที่วิทยาศาสตร์ตะวันตกเรียกว่า วิถีทรรศน์แบบเดการ์ต (Cartersian Paradigm)
             1.2  สมมติฐานในเรื่องกายา (Gaia hypothesis)  เป็นข้อสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายการจัดตนเอง (Self-organization) ของระบบต่างๆ  มองความสัมพันธ์ของโลกและชีวิตหรือสรรพสิ่งว่า เป็น  ชีวอินทรียภาพ (Living organism) และมีการจัดระบบของตนเองเพื่อการดำรงอยู่สืบเนื่องกันตลอดมานับแต่กำเนิดสิ่งมีชีวิตดังที่มาของสมมติฐานนี้ว่า

... การท่องออกไปในอวกาศทำให้เรามีมุมมองใหม่ต่อโลกมากกว่าที่เคยมี เมื่อนักบินอวกาศส่งข้อมูลเกี่ยวกับบรรยากาศและภาพพื้นผิวของโลกมาให้เราครั้งแล้วครั้งเล่า  มันก่อให้เกิดการหยั่งรู้ใหม่ต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับส่วนต่างๆของโลก  จากจุดนี้ได้ก่อให้เกิดสมมติฐานขึ้นมาว่าสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอวกาศ มหาสมุทร  ผืนแผ่นดินที่เป็นระบบและสลับซับซ้อนนั้นล้วนแล้วแต่มีชีวิต  โลกนี้จึงเป็นชีวอินทรียภาพหนึ่งที่ดำรงอยู่อย่างเด่นชัด(Lovelock, 1988: 83)

2. ด้านญาณวิทยา
          ญาณวิทยาเป็นวิถีทางในการหยั่งรู้ถึงสารัตถะ (Essence) หรือธรรมชาติ และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอันเป็นเนื้อหาด้านอภิปรัชญา Naess (1993: 84-85) ได้เสนอหลักการประจักษ์แจ้งในตัวตน (Self-realization) ระดับต่างๆ ซึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปถึงได้ มีลำดับขั้นของพัฒนาการ 3 ระดับ  เรียกลักษณะของนิเวศญาณนี้ว่า Ecosophy  และหลักการประจักษ์แจ้งในตัวตน ได้แก่
1)  การประจักษ์แจ้งในอัตตา (ego-realization)  เป็นสภาวะของการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์  ซึ่งยังมีความเข้าใจว่า มีสภาวะความเป็นตัวของตนดำรงอยู่ แยกขาดจากสิ่งทั้งหลาย สิ่งนี้มักเรียกว่าอัตตา(ego) โดยมนุษย์เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรซึ่งคงอยู่อย่างเดิม ไม่ว่าลักษณะอื่นๆของมันจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม อัตตานี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับรู้และแสดงปัจเจกภาพของแต่ละคน   แต่มนุษย์มีศักยภาพสูงกว่านั้นจึงสามารถพัฒนาตัวตนจากระดับนี้ให้สูงขึ้นต่อไปได้อีก
2) การประจักษ์แจ้งในตัวตนขั้นกลาง (self-realization) คำว่า self ยังเป็นตัว “s” เล็ก เพราะการประจักษ์แจ้งแบบนี้เริ่มพัฒนามาเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือเป็นการมองว่าสิ่งอื่นๆก็เหมือนกันกับตัวเรา เรียกว่า identification เมื่อเกิดการประจักษ์แจ้งระดับนี้ ตัวตนหรืออัตตาจะค่อยๆแปรสภาพมาสู่การมีสำนึกร่วมในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่ง ดังนั้นเมื่อรับรู้ว่าสิ่งอื่น เช่น พืช หรือสัตว์มีความทุกข์ ตนเองก็จะรู้สึกเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานไปด้วยเพราะสำนึกที่ว่า หากเป็นตัวเราเองก็ย่อมทุกข์ทรมานเช่นนั้นด้วยเหมือน กัน จากสำนึกเช่นนี้จึงก่อให้เกิดความเอาใจใส่ ดูแล ปกป้อง พิทักษ์รักษาชีวิตอื่นเสมือนกับการปฏิบัติต่อตนเอง     
3) การประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริง (Self-realization)   ใช้ตัวอักษร ”S”  ใหญ่  เป็นการขยายการประจักษ์แจ้งในตัวตนจากระดับกลาง (ตัวอักษร “s” เล็ก)  ออกไป  ซึ่งต่างจากการขยายตัวตนหรืออัตตาในระดับครอบครัว ระดับสังคม ระดับชาติ ฯลฯ ที่ยังคงความมีตัวตนดำรงอยู่แต่การประจักษ์แจ้งนี้เป็นการหยั่งรู้ว่า ตัวตนที่แท้ (Self) นั้น ก็คือความเป็นสิ่งเดียวกันกับสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ พรรณพืช สรรพสัตว์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โลกและเอกภพทั้งหมด   การประจักษ์แจ้งเช่นนี้เรียกอีกอย่างว่า อัตนิเวศ (Ecological self)  ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งในตัวตนเชิงสัมพัทธ์ กล่าวคือ สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลลัพธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ  ที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ทั้งระหว่างตัวตนของเรากับเพื่อนมนุษย์ดัวยกันเองและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ สถานที่ ตลอดจนสรรพสิ่งอื่นในสากลจักรวาล การเข้าถึงตัวตนที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ มนุษย์ต้องพัฒนาตนเองและสังคมทั้งหมดให้รับรู้ได้  ในฐานะปัจเจกชนมนุษย์ต้องปลดปล่อยความรู้สึกกดเก็บต่างๆ ที่มีต่อโลกออกมา เช่น ความทุกข์ ความกลัว ความเศร้า ความโกรธ ความรัก ความหวงแหน ฯลฯ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อกับโลก อันยังผลให้สามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกมา ทั้งยังต้องพิจารณาถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมและการปฏิบัติการ หรือการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติและสร้างอัตนิเวศให้เกิดขึ้นอีกด้วย
            Naess ยอมรับว่าศาสนาสามารถก่อให้เกิดการประจักษ์แจ้งเช่นนี้ได้ เขากล่าวว่า นิเวศวิทยาแนวลึกมีองค์ประกอบสำคัญคือศาสนา การจะทำให้คนเรารู้ว่าตนเองอยู่โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติก็ด้วยอาศัยศาสนา เพราะศาสนาเป็นสถาบันพื้นฐานเก่าแก่ที่ทุกๆ  คนต้องเข้าให้ถึง หากเขาหรือเธอต้องการชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่ทำงานกันไปอย่างเป็นดังเครื่องคอมพิวเตอร์ (Devall and Session,1985: 76)

3.  ด้านจริยธรรม : ปทัสถาน (Norms) กับวิถีการปฏิบัติ (Praxis)

จริยธรรมของนิเวศวิทยาแนวลึกเกี่ยวข้องกับปทัสถาน (Norms) ต่างๆ และวิถีการประพฤติปฏิบัติ (Praxis) ตามปทัสถานที่วางเอาไว้   โดยทั้งสองส่วนต่างก็มีความสัมพันธ์กันโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อเกิดการประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริงว่า ตนเองกับสรรพสิ่งล้วนเป็นสิ่งหนึ่งเดียวกันก็ย่อมมองเห็นว่าสรรพสิ่งหรือสรรพชีวิตล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ทุกสิ่งมีคุณค่าภายในตัวเอง (Intrinsic value) คุณค่าของสิ่งนั้นไม่ขึ้นอยู่กับการกำหนดค่าโดยสิ่งอื่น และถึงแม้จะพยายามกำหนดให้ แต่คุณค่าภายในย่อมเป็นคุณค่าแท้ที่ดำรงอยู่คู่กับสิ่งนั้นตลอดไป  การที่สิ่งทั้งหลายล้วนมีคุณค่าในตัวเองเนื่องจากมีพัฒนาการอันยาวนานของตนเองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลกที่มีชีวิตหรือกายา (Gaia)   สิ่งต่างๆ จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์จึงไม่ใช่นายของธรรมชาติ แต่มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ  ซึ่งเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิตโลก ทั้งยังมีวิวัฒนาการตั้งแต่กำเนิดมาจนปัจจุบันในเวลาสั้นมากหากเทียบกับสิ่งอื่นๆ บนโลก ซึ่งมนุษย์เองก็มีคุณค่าภายในของตนเองเช่นกัน การที่มองว่าสรรพสิ่งมีคุณค่าทัดเทียมกันเช่นนี้ เป็นทัศนะที่มองชีวิตหรือระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง (Biocentric หรือ Ecocentric view) ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทัศนะที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือมานุษยประมาณนิยม (Anthropocentrism) ที่เคยยึดถือกันมาเป็นเวลานาน และ Naess (1966 : 13-14) ได้เสนอแนวนโยบาย (Platform) 8 ประการ คือ
            1) สรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ล้วนมีคุณค่าภายใน (Intrinsic value) คุณค่าของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นั้น ไม่ขึ้นอยู่กับความมีประโยชน์ที่มนุษย์กำหนดขึ้นตามจุดประสงค์อันคับแคบของมนุษย์
            2) ความรุ่มรวย (Richness) และหลากหลาย (Diversity) ของสรรพชีวิตมีคุณค่าในตัวของมันเองและนำไปสู่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
            3) มนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะไปตัดรอนหรือลดทอนความรุ่มรวยและหลากหลายนี้ ยกเว้นการตอบสนองความจำเป็นในการยังชีพ (Vital needs)
4) ความมั่งคั่งสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์และวัฒนธรรมต่างๆ จะดำเนินต่อไปได้ หากมีการลดจำนวนประชากรมนุษย์ลงจนถึงจุดที่มีเสถียรภาพ
          5) มนุษย์ในปัจจุบันได้เข้าไปแทรกแซงในโลกของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มากเกินไป จนทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว
            6) การเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัจจัยหรือเงื่อนไขต่างๆ ของชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จำต้องเปลี่ยนแปลงที่นโยบายต่างๆ  ถ้าทำได้ จะมีผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีรวมถึงอุดมการณ์เลยทีเดียว 
            7) การเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ต้องเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิต (Life quality) มากกว่าการยกมาตรฐานความเป็นอยู่ (Standard of living) ให้สูงขึ้น และควรตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความใหญ่โตและขนาดที่เล็ก
            8) ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการทั้ง 7 ประการข้างต้น ต่างมีพันธกรณีโดยตรงหรือโดยอ้อมที่จำเป็นและจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ  ที่ระบุไว้ด้วยกัน
            นอกจากข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวนโยบาย (Platform) ทั้ง 8 ประการนี้แล้ว นิเวศวิทยาแนวลึกยังได้เสนอระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง การใช้เทคโนโลยี ตลอดจนวิถีการใช้ชีวิตภายใต้หลักการนิเวศญาณ (Ecosophy) ไว้อย่างละเอียด

เปรียบเทียบแนวคิดของนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับนิเวศวิทยาแนวลึกตามทัศนะของอาร์เน แนสส์
            วิถีทรรศน์ทั้งสองสามารถแจกแจงเนื้อหาได้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ  อภิปรัชญา ญาณวิทยาและจริยธรรม ตามตารางดังต่อไปนี้

ตารางที่ 1  เปรียบเทียบด้านอภิปรัชญา

นิเวศวิทยาแนวพุทธปรัชญา
นิเวศวิทยาแนวลึก
1. ความจริงของสรรพสิ่ง ได้แก่ สังขตธรรม(รูปและนาม) และอสังขตธรรม(นิพพาน) ล้วนมีสภาวะความเป็นอนัตตา
2. สรรพสิ่ง(ธรรม) ที่เป็นสังขตธรรมดำเนินไปตามนิยามต่างๆ คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม ได้แก่ กฎไตรลักษณ์และปฎิจจสมุปบาท ส่วนอสังเขตธรรมหรือนิพพาน ไม่ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ใดๆ
ธรรมชาติหรือสารัตถะ (Essence) ของสรรพสิ่งอธิบายด้วยทฤษฏีกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum mechanics)  มีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะองค์รวมที่สัมพันธ์กันแบบข่ายใยหรือเชิงระบบที่เป็นชีวะ  อนินทรียภาพ  และมีลักษณะเป็นพลวัตร อธิบายด้วยทฤษฎีระบบ (System Theory) และสมมติฐานในเรื่องกายา (Gaia Hypothesis)
        
จากตาราง พุทธปรัชญามีด้านอภิปรัชญาที่ชัดเจน แต่ขาดการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้ว่าการอธิบายในด้านนี้อาศัยหลักเหตุผลและการมีประสบการณ์ตรงต่อความจริงแท้ (บรรลุนิพพาน) เป็นสำคัญ
ส่วนนิเวศวิทยาแนวลึก นำวิธีการอธิบายของฟิสิกส์แผนใหม่ ในเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม ทฤษฏีระบบ ตลอดจนสมมติฐานในเรื่องกายาอธิบาย จึงขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างประสบการณ์แบบอัตนิเวศกับการอธิบายเนื้อหาในด้านอภิปรัชญา จุดนี้คือข้อด้อยของนิเวศวิทยาแนวลึก แต่ก็มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มารองรับ    โดยเฉพาะฟิสิกส์และนิเวศวิทยา ตลอดจนปรัชญาเป็นสำคัญ แต่มีจุดเน้นในเรื่องการมีประสบการณ์ตรงต่อสารัตถะและธรรมชาติของสรรพสิ่งในด้านญาณวิทยา ซึ่งเรียกว่าการประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริง อันเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกับการมีประสบการณ์ทางศาสนาต่างๆ แต่การมีประสบการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้นำไปสู่การอธิบายสารัตถะหรือความจริง ตลอดจนธรรมชาติหรือความสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งซึ่งเป็นเนื้อหาในระดับอภิปรัชญาของมโนทัศน์อย่างเด่นชัด

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบด้านญาณวิทยา

นิเวศวิทยาแนวพุทธปรัชญา
นิเวศวิทยาแนวลึก
1.วิธีการด้านปริยัติ ได้แก่ ปรโตโฆษะ (อาศัยกัลยาณมิตร) เพื่อพัฒนาสุตมยปัญญา โยนิโสมนสิการเพื่อพัฒนา          จินตมยปัญญา
2.       วิธีการทางด้านการปฏิบัติ ได้แก่  สมถกรรมฐาน และ
วิปัสนาเพื่อพัฒนาภาวนามยปัญญา
ลักษณะนิเวศญาณ ( Ecosophy ) 3 ระดับ คือ
      1.  การประจักษ์แจ้งในอัตตา  (ego-realization)
      2.  การประจักษ์แจ้งในตัวตน ขั้นกลาง(self-realization)
      3. การประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริง (Self-realization)  หรือ อัตนิเวศ (Ecological self)

การอธิบายด้านญาณวิทยาทั้งสองวิถีทรรศน์มีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ พุทธปรัชญาเสนอวิธีการทางด้านปริยัติ ได้แก่ ปรโตโฆษะ และโยนิโสมนสิการและวิธีการทางด้านการปฏิบัติ ได้แก่ สมถกรรมฐานและวิปัสสนา วิธีการทั้งสองดังกล่าวต้องอิงอาศัยและพัฒนาไปควบคู่กันเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงความจริงแท้ (นิพพาน) ในขณะที่ นิเวศวิทยาแนวลึกเสนอวิธีการรู้ความจริงโดยการมีประสบการณ์ตรง  หรืออัชฌัตติกญาณ  (Intuition) และหลักนิเวศญาณ (Ecosophy) ระดับต่างๆ
            ส่วนวิถีทรรศน์ทั้งสองแตกต่างกันคือ พุทธปรัชญาได้กล่าวไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าการรู้ความจริงระดับอภิปรัชญาก็ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติในด้านจริยธรรมประกอบด้วย  ส่วนนิเวศวิทยาแนวลึกเน้นเรื่องการประจักษ์แจ้งในตัวตนที่แท้จริง (Self-realization) หรืออัตนิเวศ (Ecological self) แต่วิธีการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ประสบการณ์แบบอัตนิเวศนั้น นิเวศวิทยาแนวลึกกล่าวไว้ไม่ชัดเจนเพียงแต่เสนอให้ปฏิบัติตามวิธีการของศาสนาต่างๆ เช่น สมาธิ เป็นต้น

ตารางที่ 3  เปรียบเทียบด้านจริยธรรม

นิเวศวิทยาแนวพุทธปรัชญา
นิเวศวิทยาแนวลึก
 1. หลักศีลหรือวินัยและหลักธรรมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
 2. มัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรคหรือไตรสิกขา) ในเชิงหลักการ 
      ทางจริยธรรม
  3. ไตรสิกขาเชิงปฏิบัติ ได้แก่
      3.1 ศีลสิกขา (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ)
      3.2  จิตตสิกขา (สัมมาวายามะ,  สัมมาสติและสัมมาสมาธิ)
     3.3  ปัญญาสิกขา (สัมมาทิฎฐิ และสัมมาสังกัปปะ)
  1.สรรพสิ่งล้วนมีคุณค่าภายใน  (Intrinsic value)  และให้
      คุณค่าแก่ความหลากหลาย (Diversity)
               2. มีปทัสถานทางจริยธรรม (แนวนโยบาย- Platform)
         (        8 ประการ ในระดับของการประพฤติปฏิบัติ
3. มีระบบความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อตนเอง สังคม
     เทคโนโลยีและธรรมชาติแวดล้อม เช่น การพึ่งตนเอง  การ 
     กระจายอำนาจ  การไม่ใช้ความรุนแรง ฯลฯ

จากตาราง พุทธจริยธรรมเสนอหลักมัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรคหรือไตรสิกขา) ที่เด่นชัด แต่ข้อด้อยคือขาดการขยายความ ตีความ เชื่อมโยงกับสภาพปัญหาด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้หลักการพุทธปรัชญาขาดพลังของการนำมาปฏิบัติ  ในขณะที่นิเวศวิทยาแนวลึกนำเสนอปทัสถาน (Norms) และวิธีการประพฤติปฏิบัติ (Praxis)  รวมทั้งระบบจริยธรรมจากประสบการณ์ตรง (นิเวศญาณ) ผสมผสานกับศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยา ปรัชญา และฟิสิกส์แผนใหม่ เพื่อวางกรอบทางปทัสถานทางจริยธรรมทั้งการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยนัยนี้นิเวศวิทยาแนวลึกจึงเสนอหลักการทางจริยธรรมที่ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงของโลกปัจจุบันได้ชัดเจนมาก ส่วนข้อด้อยของนิเวศวิทยาแนวลึกคือการนำเสนอระบบจริยธรรมที่อาศัยวิธีการนำเสนอแบบตรรกะเกินไป
           
ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
            1. พุทธปรัชญาถือว่าทั้งพืชและสัตว์ต่างมีคุณค่าเช่นเดียวกับมนุษย์ ถึงแม้ว่าหลักพุทธปรัชญาจะไม่ได้บ่งชี้ไว้ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นแนวคิดดังกล่าว แต่จากการศึกษาถึงหลักไตรลักษณ์และหลักปฏิจจสมุปบาททำให้ได้ข้อสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในโลกที่ว่า สรรพสิ่งต่างมีธรรมชาติความเป็นไปเช่นเดียวกัน และต่างมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน นำไปสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับสรรพสิ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ตั้งอยู่และดับไปเช่นเดียวกัน แนวความคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นเกณฑ์หรือเป็นจุดสำคัญของจริยธรรมสิ่งแวดล้อมในพุทธปรัชญาที่ยอมรับว่า สิ่งแวดล้อมและมนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกันภายใต้กฎไตรลักษณ์อันเป็นกฎสามัญลักษณะของสรรพสิ่ง นั่นคือ การมองโลกแบบองค์รวม (Holistic)
            2. พุทธปรัชญาไม่มีการจัดลำดับความสูงต่ำในเรื่องคุณค่าระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ย้ำว่ามนุษย์พึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์หรือทำลายชีวิตอื่นๆ ควรมีเมตตา กรุณา เป็นต้น เพราะทุกชีวิตต่างก็รักตัวเหมือนกัน อย่างไรก็ดี พุทธปรัชญามีแนวคิดในเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เพิ่มเติมไปอีก นั่นคือการมีทัศนะว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาจิตใจและปัญญาตนเองให้เจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ จนกระทั่งมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นอิสระปราศจากกิเลสพร้อมกับมีปัญญาที่พัฒนาจนเต็มศักยภาพ หรือมีปัญญาที่รู้แจ้งหรือรู้ตามสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่งทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ แต่การมีปัญญานั้นมิได้หมายความว่า มนุษย์จะมีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่นในด้านสัจธรรม  
3. นิเวศวิทยาแนวลึกมองสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายว่ามีคุณค่าในตัว (Intrinsic value)  ซึ่งมนุษย์ไม่อาจวัดได้ด้วยหลักเกณฑ์ของธุรกิจและมูลค่าทางเศรษฐกิจ  พร้อมกันนี้แนวคิดนี้ยอมรับว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่างมีวิญญาณประจำอยู่ในแต่ละสิ่งอยู่แล้ว  จึงถือว่าทุกสิ่งมีคุณค่าเสมอกัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมมีคุณค่าเท่าเทียมกับมนุษย์ทางด้านชีวภาพ คือ เป็นสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ในโลกนี้เหมือนกัน 
            4. นิเวศวิทยาแนวลึกไม่เห็นด้วยกับการที่มนุษย์เข้าไปแทรกแซงมากเกินไปต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะจะทำให้สถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมยิ่งเสื่อมลง มนุษย์ควรดำรงตนเพื่อสนองตอบความจำเป็นขั้นยังชีพเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว


สรุปผลการวิจัย
การวิจัยเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับนิเวศวิทยาแนวลึกของอาร์เน แนสส์  ได้ข้อสรุป ดังนี้
1.   ปัญหาระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากแนวคิดที่ผิดพลาดของมนุษย์ เช่น แนวคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางและการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ   ขณะที่นิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับนิเวศวิทยาแนวลึกได้นำเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์
2.   พุทธปรัชญามองสรรพสิ่งทั่วสากลต่างอาศัยกันและกันแบบองค์รวม (Holistic) ปฏิเสธความมีอยู่ของตัวตนโดยการมองทุกสิ่งในโลกที่บรรยายได้ด้วยกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้น และดับลง อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ มนุษย์ และโลกธรรมชาติ
3.   พุทธปรัชญามองมนุษย์เองไม่ต่างไปจากโลกธรรมชาติ  จะแตกต่างเพียงเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ทุกสิ่งทั่วสากลมีภาพลักษณะร่วมกันคือไตรลักษณ์ อยู่ภายใต้กฎแห่งเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบาท 
4.   นิเวศวิทยาแนวลึกมีสถานภาพเป็นแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนา ทั้งยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่มีจุดเน้นทั้งในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของมนุษย์ในระดับปัจเจกชนและสังคม รวมทั้งเน้นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเพื่อรังสรรค์สังคมที่ยั่งยืนหรือมีดุลยภาพ
5.   ทั้งสองวิถีทรรศน์เสนอว่าความรู้คือคุณธรรมในการทำตนเองให้เกื้อกูล  สนับสนุนต่อสิ่งอื่นในโลก  ความรู้คือการหลุดพ้นจากพันธนาการของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการเอา ฉัน เป็นจุดศูนย์กลาง และนำโลกมารับใช้ตัณหาที่โยงใยกับมายาภาพของ ฉันหรือ อัตตา

ข้อเสนอแนะ
1. ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบนิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับวิทยาแนวลึกของอาร์เน แนสส์   ดังนั้นควรศึกษานิเวศวิทยาในพุทธปรัชญากับวิถีทรรศน์อื่นๆ เช่น วิถีทรรศน์ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) หรือ วิถีทรรศน์ที่ยึดสิ่งมีชีวิตเป็นศูนย์กลาง (Biocentric) หรือเปรียบเทียบวิถีทรรศน์ทางนิเวศวิทยากับศาสนาคริสต์  อิสลาม ฮินดู  เต๋า  ชินโต เป็นต้น เพื่อหาแนวคิดและการประพฤติปฏิบัติที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป
2. ควรศึกษาวิถีทรรศน์ทางนิเวศวิทยาแบบไทยหรือภูมิปัญญาไทย ซึ่งได้นำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติต่างๆ หลายครั้ง อันเป็นทางออกของปัญหานิเวศ  ขณะที่กระแสหลักกำลังทำลายตัวเองอยู่ในขณะนี้







บรรณานุกรม

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ และคณะ. 2534. พระพุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระไตรปิฎกภาษาไทย, ฉบับหลวง. เล่มที่  2, 12, 13, 16, 19,  20, 31. 2514. กรุงเทพฯ:  กรมการศาสนา.
พระเทพเวที (ปยุทธ์ ปยุตโต). 2532. วัฒนธรรมกับการพัฒนา. กรุงเทพ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด.
พระธรรมปิฏก. 2539. การพัฒนาที่ยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
                  .  2540.  คนไทยกับป่า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: สภาวิจัยแห่งชาติ.
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตโต).  2538. ศาสนาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม. วารสารพุทธจักร,49(11),3-13.
พุทธทาสภิกขุ. 2533.  พุทธศาสนิกกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ. กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
วันชัย โพธิ์วิจิตร.  2527.  ฟิสิกส์ยุคใหม่ปริทัศน์.  กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.
สุนทราภรณ์ เตชะโพกุล. 2534. เศรษฐศาสตร์แนวพุทธกับวิถีทางพัฒนาของไทย. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต  คณะเศรษฐศาสตร์,  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Barry Commoner. 1971. The Closing Circle.  London: Knoph.
De Silva, Lily.  1992.  Buddhism and Ecology.  Varanasi: Motilal Banarsidass.
Devall, B. and Session,G. 1985.  Deep Ecology: Living as if Nature Mattered. Layton. UT: Peregrine Smith Books.
                   .1994.  Deep Ecology. In L.P.Pojman (Ed.).  Environmental  Ethics : Reading in Theory
               and Application (pp.113-117). Boston: Jones and Barlett Publishers.
 Grady, C.D. 1995.  A Buddhist Response to Modernization in Thailand (with particular reference to conservationist forest monk). Ph.D. Thesis in Philosophy. University of Hawaii.
Lovelock, J.F.  1988.  The Ages of Gaia: A Biography of Our Living Earth. New York: Norton.
Naess, A.  1966. Ecology, Community and Life Style. Outline of an Ecology.  London: Cambridge
                   University Press.
                                                   ………………


[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น