วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความทุกข์จากการเกิดของทุกชีวิต

ชาติปิทุกขา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาถึงกองทุกข์ต่างๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ คัมภีร์   สารัตถสมุจจัยตอนอธิบายเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (หน้า ๗๘ - ๘๐ )

สรุปได้ว่า            
ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดานั้น ทารกต้องประสบทุกข์อันเกิดจากสถานที่ที่อาศัย คือความคับแคบของมดลูก ทำให้ทารกต้องอยู่ในท่านั่งยองๆ หันหลังให้กับหน้าท้อง หันหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา นั่งทับอาหารเก่า (ลำไส้ใหญ่) ไว้ และทูนอาหารใหม่ของมารดา (ลำไส้เล็ก) ไว้เบื้องบนศีรษะ สองมือกอดเข่าเสมือนหนึ่งวานรนั่งอยู่ในโพรงไม้ยามฝนตก ทั้งยังมีพังผืด คือถุงน้ำคร่ำและรกห่อหุ้มกายทำให้ไม่สามารถเหยียดแขนขาออกไปได้ เมื่อยแสนเมื่อยก็ขยับได้แต่เพียงเล็กน้อยพอให้แม่รู้สึกตัวว่าลูกดิ้น ซึ่งยังความดีใจให้กับมารดาโดยหารู้ไม่ว่า ขณะนั้นลูกรักกำลังเกิดทุกขเวทนาอย่างเหลือล้น และจะต้องทนทุกข์ทรมานเช่นนั้นไปอีกตราบนานเท่านานที่ต้องอยู่ในครรภ์มารดาอันตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอสุภะนั้น ความร้อนอันเกิดจากเตโชธาตุของมารดาที่มีอยู่ตลอดเวลาเป็นประดุจไฟที่คอยเผาทารกน้อยให้ร้อนทุรนทุราย พิจารณาดูแล้วไม่ต่างไปจากก้อนเนื้อที่ถูกนึ่งอยู่ในหม้อ ต้องเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส จัดได้ว่าไม่ต่างไปจากขุมนรกที่มืดมนอนธกาลเท่าใดนัก….นี่คือ ทุกข์ที่ชีวิตพึงได้รับเป็นปฐมจากการที่ต้องอุบัติขึ้นในครรภ์มารดา ชาติทุกข์เช่นนี้มีชื่อว่า คัพโภกันติกมูลกทุกข์

                              ….ยามใดที่มารดาเคลื่อนไหวเดินไปเดินมา หรือจะลุกนั่งกายของทารกนั้นย่อมถูกซัดไปซัดมาซัดขึ้นและซัดลง ไม่สามารถตั้งตรงอยู่ได้ ยังทารกนั้นเสวยทุกขเวทนา ยิ่งมารดาพลาดตกหกล้ม ก็ยิ่งสร้างความสะดุ้งตกใจหวาดหวั่นพรั่นพรึงทั่วสรรพางค์กาย ประดุจลูกทรายอ่อนที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของนักเลงสุรา หรือมิฉะนั้นก็ประดุจงูตัวน้อยที่ต้องตกอยู่ในมือหมองู ยิ่งยามใดที่มารดาดื่มน้ำเย็นจัดเข้าไปทารกก็จะรู้สึกเยือกเย็นสยดสยอง ยามมารดากินของร้อนย่อมยังผลให้ทารกนั้นต้องดิ้นรนประดุจมีห่าฝนอันเป็นถ่านเพลิงมาราดอยู่บนศีรษะ และยามที่มารดารับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนเข้าไปก็ยิ่งเพิ่มความปวดแสบปวดร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย ประดุจถูกแล่เนื้อเอาเกลือทาก็ปานนั้น ทุกขเวทนาที่เกิดจากการบริหารของมารดาเช่นนี้เรียกว่า คัพภปริหารมูลกทุกข์ จัดเป็นทุกข์คำรบสองที่ทารกต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
                              …..ยามที่ทารกนั้นเกิดนอนขวางอยู่ในครรภ์มารดา ไม่สามารถคลอดออกมาได้ นายแพทย์ต้องจัดท่าเพื่อจับเท้าดึงทารกออกมาให้ได้ทุกข์อันแสนสาหัสที่เกิดขึ้นจากการกระทำให้ทารกได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้เรียกว่า คัพภวิปปัตติมูลกทุกข์ จัดเป็นทุกข์คำรบสามที่ทารกต้องประสบ
                              …..เมื่อมีลมกัมมัชวาตพัดกลับให้ทารกกลับตัวเอาหัวลง ในอย่างน่าสะพึงกลัว เพราะอาการไม่ต่างไปจากบุคคลที่ถูกผลักอย่างแรงให้ตกลงสู่เหวลึก และยิ่งขณะที่คลอดผ่านออกทางช่องคลอดที่มีลักษณะเป็นท่อที่แคบๆ นั้น ยิ่งก่อให้เกิดทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสประดุจช้างสารที่ถูกดันออกจากช่องดาน หรือช่องประตูที่แคบ ดูประดุจสัตว์ในสังฆาตะนรกที่ถูกภูเขาบีบให้แหลกเป็นจุณ ทุกข์เช่นนี้เรียกว่า คัพภชายิกมูลกทุกข์ อันเป็นทุกข์คำรบสี่ที่ทารกต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
                              ….แม้เมื่อทารกคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว มีบุคคลอื่นมารับไปอาบล้างขัดสีสิ่งสกปรกออกไป ผิวอันบอบบางที่เต็มไปด้วยกายประสาทและยังไม่เคยถูกต้องสัมผัสมาก่อน ย่อมเกิดความรู้สึกในความแข็งที่มากระทบ ดูไม่ต่างไปจากถูกทิ่งแทงด้วยปลายเข็ม หรือถูกเชือดเฉือนด้วยมีดอันคม ก่อให้เกิดความเจ็บปวดไปทั่วสรรพ์กาย เสียงร้องของทารกที่ยังให้เกิดความดีอกดีใจแก่ญาติมิตร โดยหารู้ไม่ว่า ขณะนั้นทารกกำลังประสบทุกข์อย่างมหันต์ เป็นทุกข์ที่เรียกว่า คัพภนิกขมนมูลกทุกข์ จัดเป็นทุกข์คำรบห้าที่ทารกต้องประสบจากการเกิด

แหล่งที่มา : หนังสือ "ใครให้คุณเกิด" โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น