วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คติธรรมที่ได้จากประเพณีการทำศพ

การตาย  วัฒนธรรมไทยพุทธทุ่งสง    ครูสมเกียรติ  คำแหง
         ประเพณีการตายของชาวไทยพุทธในภาคใต้ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่ก่อนๆ ได้กระทำกันเป็นพิธีรีตองอย่างพิถีพิถันมาก  ผิดกับการกระทำในปัจจุบัน  และแต่ละถิ่นอาจมีส่วนปลีกย่อยต่างกันบ้าง  แต่ส่วนใหญ่จะตรงกัน  เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบต่อกันมาแต่โบราณ
        ถือกันว่าการตายเป็นเรื่องอัปมงคล  เป็นเสนียดจัญไร  ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้มีผีดุร้ายกลับมาอาละวาดหลอกหลอนหรือก่อเหตุร้ายขึ้นได้  ในที่นี้จะกล่าวชี้ให้เห็นว่าแต่ละขั้นตอนกระทำอย่างไรบ้าง  รวมทั้งความเชื่อและเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น
 1.  พิธีดอย                      
                ถ้ามีการตายลง    บ้านเรือนใด   เจ้าภาพต้องเชิญผู้ที่มีความรู้ในทางเวทมนต์หรือหมอผีมาร่ายโองการเสกทำน้ำมนต์ขับไล่ผีสางรังควาน  ประพรมน้ำมนต์ที่ซากศพ  เพื่อป้องกันมิให้ผีดุร้ายอาละวาดหลอกหลอนทำให้เดือดร้อนรำคาญ  เรียกว่าทำ  “พิธีดอย”  พิธีเข้าใจว่าเกิดขึ้นจากความกลัวผี  ด้วยเชื่อกันว่าผีอาจให้คุณให้โทษได้นานาประการ
                  ในบางท้องถิ่นยังเอา  “ลูกพันธุ์”  มาวางไว้ข้างศพเป็นปริศนาธรรม  ดังปรากฏตามหนังสือเฉลยปริศนาธรรมของนายเลียบ  ประพันธ์เป็นคำกลอนว่า  “เมี่อคราวศพหลบหลับอยู่กับที่  ปิดภูษีมิดชิดคิดสงสัย  เอาลูกพันธุ์มาแนบกายผู้วายปราณ  จะบรรหารบอกเล่าให้เข้าใจ  คำว่าพันธุ์นั้นสืบต่อจากพ่อแม่  เป็นเที่ยงแท้มั่นคงไม่สงสัย  ให้ดูข้างพันธุ์พ่อแม่มาแต่ไร  ไม่มีใครรอดพ้นสักคนเลย  แต่ล้วนกายแตกดับจิตกลับหาย  ยังแต่กายตั้งกลิ้งนอนนิ่งเฉย  ไม่มีใครนึกรักสักคนเลย  ตั้งหน้าเฉยเกลียดชังทั้งหญิงชาย  คิดแต่จะให้พาไปป่าเปรว  เป็นคนเหลวทรามใหญ่นึกใจหาย  น่าสมเพชเวทนาแก่ร่างกาย  เกิดมาได้เป็นมนุษย์วิสุทโธ  เพราะมีศีลห้าประจำจึงล้ำเลิศ  ได้มาเกิดเป็นมนุษย์วิสุทธิ์โส  ขณะได้พบลาภยิ่งสิ่งบุญโต  มากลับโซเปื่อยเน่าไม่เข้าการ  ท่านทำมาเพื่อให้รู้อยู่ทั่วกัน  เราเป็นพันธุ์ปลดปลงในสงสาร  ตลอดถึงเผ่าพงศ์ในวงศ์วาน  อยู่ไม่นานถึงตายได้ทุกคน ”  (ดู  ลูกพันธุ์)
  2.  การอาบน้ำศพ
                เมื่อทำพิธีดอยเสร็จแล้วก็อาบน้ำศพ  โดยเอาขมิ้นกับดินเหนียวดำเคล้าให้เข้ากันแล้วเอาน้ำร้อน  น้ำเย็น  น้ำมะพร้าว  มาประสมเพื่ออาบชำระศพให้สะอาด  การอาบต้องทำให้  “ครบสิบสอง”  คือ ครบสิบสองภาชนะที่ตัก  เช่น  ถ้าตักด้วยขันก็ให้ครบสิบสองขัน  การอาบน้ำจะทำเฉพาะลูกหลานเป็นการภายในเท่านั้น  ถ้าลูกหลานจะช่วยขัดถูทำความสะอาดศพก็ทำกันในระหว่างนี้  นอกจากเวลานี้แล้วไม่มีการรดน้ำศพกันอีก
                การที่ต้องเอาขมิ้นมาผสมกับดินและน้ำร้อนน้ำเย็นนั้น  เพื่อแทนธาตุสี่คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  โดยเชื่อว่าตัวเรานี้คือธาตุสี่มีขึ้นก่อนแล้วดวงจิตจรมาอาศัยอยู่  พอร่างกายแตกดับจิตก็จากเร่ร่อนไปตามกรรม  น้ำมะพร้าวจึงเป็นเครื่องแทนจิตที่อาศัยอยู่ในร่าง  ส่วนที่ต้องอาบให้ครบสิบสองนั้น  เล่ากันว่าเป็นปริศนาธรรม  หมายถึง  อายตนะ 12  อันประกอบด้วย  อายตนะภายใน ได้แก่  จักษุ  โสต  ฆาน  ชิวหา  กาย  ใจ  และอายตนะภายนอก ได้แก่  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์  เมื่อทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกได้ประจบกันเป็น 12  ก็จะก่อให้เกิดนาบุญและบ่อบาปติดตัวทุกคนไป  การอาบน้ำสิบสองจึงเป็นการเตือนให้ระลึกถึงหลักธรรมอันนี้
                บางท้องถิ่นเอาใบมะกรูด  ใบมะนาว  และรากสะบ้า  มาตำกับขมิ้นทาศพ  ในแง่หนึ่งก็เพื่อดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคบางอย่าง  เพราะรากสะบ้ามีพิษเมา  (โบราณเอามาตำเพื่อสระผมขจัดรังแคและฆ่าตัวเหาได้)  แต่ในแง่ปริศนาธรรมว่า  รากสะบ้านั้นเป็นนิมิตหมายถึงความหลง  ความไม่รู้จริง  (อวิชชา)  ที่มนุษย์ยึดถือเป็นอุปาทาน  ทำให้หลงใหลเป็นบ้าในอารมณ์  เช่น  หลงในอายตนะภายนอกทั้งปวง  จึงเตือนให้รู้ความจริงข้อนี้
 3.  การป้องกันมิให้ศพเน่าเร็ว  และการตกแต่งศพ
                เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว  ยกศพให้นั่งเงยหน้ากรอกน้ำผึ้งรวงกับการบูรลงไปในท้องมากๆ  (ใช้ยอดกล้วยทำเป็นหลอด)  เพื่อป้องกันมิให้ศพเน่าเร็ว  แล้วจัดการตกแต่งให้แก่ศพ  คือ  หวีผมกลับมาข้างหน้า  เมื่อหวีเสร็จแล้วให้หักหวีทิ้งลงในโลง  การหักหวีก็เพื่อให้ผู้ที่ยังอยู่  คิดหักจิตหักใจ  ไม่ต้องเศร้าโศกอาลัย  ให้ตระหนักว่าเมื่อมีเกิดก็ต้องมีตายเป็นธรรมดา  การหวีผมไปข้างหน้าก็เพื่อให้เห็นว่าเมื่ออยู่กับเมื่อตายแล้วจะมีสภาพเป็นตรงกันข้าม  เป็นอนิจจังทุกขัง  ไม่สวไม่งาม
                วิธีจัดนุ่งห่มให้ซากศพนั้น  โดยมากใช้ผ้าที่ผู้ตายชอบใช้นุ่งห่มประจำ  หรือผ้าขาวก็ได้  ทำชายพกไว้ข้างหลัง  โจงกระเบนไว้ข้างหน้า  หรือนุ่งไม่โจงกระเบนก็ได้  การกระทำเช่นนี้ก็เป็นปริศนาธรรมเช่นเดียวกับหวีผมไปข้างหน้า  บางท้องถิ่นใช้ผ้านุ่งเพียง 1 ศอกปิดไว้เพียงข้างหน้า  ผ้าห่มก็กว้างยาวเพียง 1 ศอกเท่านั้น  เพื่อแสดงว่ามนุษย์นี้เกิดมาแล้วอายุไม่ยืนยาว  อายุสั้นพลันตาย  ควรรีบประกอบกรรมดีไว้ให้มาก  อย่าประมาท
 4.  การผูกศพ
                เมื่อนุ่งห่มให้ซากศพแล้ว  เอาด้ายขาวผูกกรองมือ  กรองเท้าแล้วโยงไปผูกไว้กับคอ  การผูกศพโดยผูกกรองมือเท้าและคอเป็นปริศนาธรรม  หมายถึง   บ่วง  3  ได้แก่  บุตร  ทรัพย์  และภรรยา  ตรงตามคำบาลีว่า  ปุตโต  คีเว  (บุตร  คือ  บ่วงผูกคอ)  ธนัง  ปาเท  (ทรัพย์  คือ  บ่วงผูกเท้า)  ภริยา  หัตเถ  (ภรรยา  คือ  บ่วงผูกมือ)  ตรงกับบทประพันธ์ว่า
               “มีบุตรดุจบ่วงคล้อง            คอกระสัน  อยู่ฮา
         ทรัพย์ผูกบาทาพัน               แน่นไว้
         ภร���ยาเยี่ยงบ่วงขัน              ขึงรัด  มือพ่อ
         ใครตัดสามบ่วงได้               จึ่งพ้น  สงสาร” 
       เอาดอกไม้ธูปเทียน  ซองหมากพลู  ใส่มือให้  เชื่อว่าจะได้นำไปบูชาพระจุฬามณี  อันเป็นพระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุพระพุทธเจ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  หรือเพื่อแสดงว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
                ถ้าเป็นศพคนที่มั่งมีเงินทอง  มักเอาแหวนทองรูปพรรณใส่ปากศพ  หมายถึงว่า  ทรัพย์สมบัติเป็นของกลางสำหรับโลกแม้จะปกครองได้ก็ชั่วคราว  เมื่อตายแล้วใส่ปากให้ก็เอาไปไม่ได้  ติดตัวไปได้ก็แต่บุญกุศลเท่านั้น  (แต่ผู้สาให้เชื่อว่าเอาไปได้)  บางท้องถิ่นใช้ใบพลูปิดหน้าศพ  แต่บางรายที่มีฐานะดีอาจใช้ทองปิดหน้าศพ  โดยนัยธรรมะ  ถือว่าการตายเท่ากับถูกแผ่นดินกลบหน้าให้คนที่ไม่ตายถือเป็นคติรีบสร้างกุศล
                แหวนหรือทองรูปพรรณที่ใส่ปากศพนั้นเป็นของเสียสละเจ้าภาพมิได้คิดเอาคืน  มักตกแก่สัปเหร่อ  สัปเหร่อบางคนควักเอาแหวนจากปากศพแล้วใส่เข้าปากตนทั้งที่มีน้ำเน่าน้ำหนองถือว่าเป็นธรรมเนียมของสัปเหร่อที่ต้องไม่รังเกียจแก่ศพ  หากมิทำเช่นนั้นจะเอาของชิ้นนั้นมิได้   จะเป็นอุบาทว์จัญไร  ทำมาหากินไม่เกิดผล  บางรายอาจนำมาทำความสะอาดแล้วส่งคืนให้เจ้าภาพ  ถ้าเจ้าภาพต้องการจะเอาไว้ก็เอาเงินหรือสิ่งของอย่างอื่นแลกแล้วแต่จะตกลงกัน
 5.  การตราสัง
                เมื่อกรองมือเท้านุ่งห่มเสร็จแล้ว  เอาผ้าขาวห่อศพทบไปมาหลาย ๆ  ชั้น  ผูกตราสังด้วยด้ายขาวเปลาะ ๆ ให้แน่นหนาตั้งแต่หัวจรดเท้า  แล้วจึงนำศพใส่โลง
                การตราสังแน่นหนานั้นเพื่อว่าเมื่อเผาแล้วศพจะได้ไม่อ้ามืออ้าแขนเป็นที่น่ารังเกลียด  นอกจากนั้นบางกลุ่มชนยังเชื่อว่าการตายเหมือนการนอนหลับ  ดวงวิญญาณยังอยู่ในร่างนั้น  อาจจะลุกขึ้นมาหลอกหลอน  จึงได้มัดแข้งมัดขาเพื่อมิให้ลุกขึ้นมาได้  ถ้าเป็นยุคที่นิยมฝังศพ  เมื่อนำไปกลบหรือฝังแล้ว  ก็ยังนำหินก้อนใหญ่ ๆ มากองทับอย่างแน่นหนาจนแน่ใจว่าจะลุกขึ้นไม่ได้ต่อไปอีก
  6.  การทำโลงศพ
                โลงศพทำให้ปากโลงผายกว่าก้นเล็กน้อย  แล้วเอาดินเหนียวมาตำผสมกับใบบอนและใบฝรั่ง  เพื่อให้เหนียว  ยาตามแนวก้นโลงและข้าง ๆ เพื่อกันมิให้น้ำเน่าน้ำหนองไหลซึมออกมาได้  แล้วเอาปูนขาวผสมด้วยสิ่งที่ดูดซึมได้โรยรองไว้อีกทีหนึ่ง  (นิยมใช้ขี้เลื่อยใบฝรั่งตำ  เป็นต้น  ใบฝรั่งจะช่วยแก้กลิ่นเหม็นได้บางส่วน)
                ต่อจากนั้นก็เอาไม้รอด 4 อัน  ตอกตั้งขวางไว้ในโลงบางท้องถิ่นเรียกว่า  “ไม้ก้านดอง”  บางท้องถิ่นเรียกว่า  “ไม้ข้ามเล  (ทะเล)”  ซึ่งหมายถึงเครื่องข้ามโอฆะ  4  อัน  ได้แก่  กามโอฆะ  ภวโอฆะ  ทิษฐิโอฆะ  และอวิชชาโอฆะ  แล้วเอาฟาก  7  ซี่วางลงบนไม้รอด  ฟาก  7  ซี่นั้นต้องถักด้วยเชือกเป็น  3  แห่ง  และจะกรองกลับไปมาเหมือนอย่างที่กรองกันธรรมดาไม่ได้  เชือกที่กรอง  3  เปลาะนั้น  หมายถึง  พระสูตร  พระวินัย  และพระปรมัตถธรรม  รวมความว่าเครื่องเหล่านี้เป็นเครื่องข้ามโอฆะ  ที่ห้ามไม่ให้กรองกรองฟากกลับไปกลับมาก็เพื่อไม่ให้กลับไปเกี่ยวพันกับโลกอีก
                เมื่อเอาศพบรรจุลงในโลงนั้น  ต้องนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมเสีย  1  เตียง  (จบ)  เรียกว่า  “สวดหน้าศพ”  หรือ  “สวดหน้าไม้” 
                 7.  การตั้งศพ - การสวดศพ
                เมื่อเอาศพลงหีบแล้ว  ถ้ามีความประสงค์จะตั้งศพไว้ที่บ้านเพื่อความสะดวกต่อการทำบุญให้ทานต่อหน้าศพ  ก็จัดสถานที่ที่ตั้งศพ  ที่พระสวด  ที่พักพระ  ที่พักแขกไปมาในงาน
                ที่ตั้งศพมีฐานวางศพ  2-3  ชั้น ถ้าเป็นไปได้นิยมจัดให้ศพหันศรีษะไปทางทิศตะวันตก  ถ้าทำไม่ได้อาจหันไปทางทิศอื่น  (แต่จะต้องไม่จัดให้ที่พระนั่งสวดอภิธรรม  โต๊ะหมู่พระพุทธรูป  และที่แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ทางปลายเท้าศพ)  จัดแจกันปักดอกไม้  พานดอกไม้  เชิงเทียน  วางถัดกันไป  ตั้งผ้าโยงที่บูชาพระให้ผู้ตายตรงหน้าศพ  และตั้งโต๊ะหมู่สำหรับพระพุทธรูป
                การตั้งศพทำบุญที่บ้านนั้นโดยมากเป็น  3  วัน  7  วัน  มีเทศน์และสวดพระอภิธรรมในเวลากลางคืน  การนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมจบหนึ่งเรียกว่า  1  เตียง  ถ้าคืนใดสวด  3  จบก็เรียกว่า  3  เตียง  แต่ละเตียงนิมนต์พระภิกษุสามเณร 4 รูป บางถิ่นนิมนต์ชีมาสวดในบางจบหรือบางเตียง และบางทีหลังจากพระสวดแล้วอาจมีฆราวาสสวดคฤหัสถ์ ซึ่งเรียกว่า สวดมาลัย ”  (ดู สวดมาลัย) ในช่วงดึก
   8. การประโคมงาน
                ถ้าจะมีดนตรีประโคมงานศพ ชาวภาคใต้จะใช้ กาหลอ ซึ่งประกอบด้วยกลองแขก 2 ใบ ฆ้องโหม่ง 1 ใบ ปี่ห้อ 1 เลา ใช้ประโคมตั้งแต่คืนแรกจนตลอดงาน โดยปลูกโรงกาหลอให้อยู่เป็นเอกเทศ คณะกาหลอมีคนประจำเครื่อง 3 คน กินอยู่หลับนอนในโรงนั้นเสร็จ  ถ้ามีธุระจำเป็นจะออกจากโรงต้องให้เหลือคนเฝ้าโรงอยู่อย่างน้อย 1 คน จะทิ้งโรงไปหมดไม่ได้ คณะกาหลอมีพิธิรีตองถือครูผี เช่น เริ่มจะลงมือประโคมต้องทำพิธีเบิกปากปีเสียก่อน มีดอกไม้ธูปเทียน หมาก 9 คำ ผ้าขาว 2 ผืน เงิน 6 สลึง เป็นค่าขึ้นครู เมื่อวันจะออกจากโรง (วันแห่ศพไปป่าช้า) ต้องดูทิศทางมิให้ต้องผีหลวงหรือหลาวเหล็ก ห้ามออกทางประตูโรงต้องแหกฝาโรงออกไป
                สมัยก่อนนิยมใช้วงกาหลอกันมาก อาจเพราะค่าแรงถูก (ประเมินกันตามราคาโลงศพที่เจ้าภาพทำ) และมีเสียงโหยหวนคล้ายพิณพาทย์นางหงส์  แต่สมัยปัจจุบันนิยมใช้พิณพาทย์หรือเครื่องดุริยางค์แทน เว้นแต่ชนบทยังใช้กาหลออยู่บ้าง
 9. วันเผาศพ
                การเลือกวันเผาศพ ทางภาคใต้ถือเอาวันขึ้นแรมเป็นสำคัญคือ ข้างขึ้นห้ามเผาวันเลขคี่ ข้างแรมห้ามเผาวันเลขคู่ เช่นวันขึ้น 1 ค่ำ 3 ค่ำ 11 ค่ำ หรือ แรม 2 ค่ำ 6 ค่ำ 6 ค่ำ เหล่านี้จะเผาศพไม่ได้ ถือว่าเป็น วันผีหามคน แต่ถ้าเป็นขึ้น 2 ค่ำ 4 ค่ำ 10 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 3 ค่ำ 5 ค่ำ เป็นต้น เหล่านี้เผาได้ เรียกว่า วันคนหามผี แม้จะตรงกับวันพระหรือวันอาทิตย์ วันศุกร์หรือวันไหนๆ ก็ไม่ห้าม (ต่างกับภาคกลางที่ห้ามเผาศพในวันศุกร์)
 10.  การนำศพไปเผา
                เวลาจะนำศพออกจากบ้านต้องทำ  “ประตูพราง”   คือ  เอาไม้สี่อันทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาบไว้ที่ประตูเรือนข้างนอกที่จะนำศพออกไป  ประตูพรางนี้เมื่อนำศพออกแล้วให้เอาออกทิ้งเสีย
                เมื่อเคลื่อนศพต้องให้ลูกหรือหลานคนสุดท้องของผู้ตายถือ  “ข้าวบอก”  ตามศพไปด้วย  (ดู  ข้าวบอก)  ผู้ถือข้าวบอกต้องนุ่งขาวห่มขาว  ศพที่จะนำออกจากบ้านให้เอาเท้าไปก่อน  และให้กลบลบรอยคนหรามเสียด้วย  ทั้งนี้เพื่อมิให้ผีกลับบ้านถูก  ส่วนบรรดาลูกๆ  หลานๆ  ให้เอาดินหม้อทาหน้า  เพื่อให้ผีเกลียดและจำหน้าไม่ได้
                ต้องมีพระนำศพ  เรียกว่า  “พระเบิกทาง”  เดินนำศพ  (ปัจจุบันอาจนั่งรถนำ)  และมักเลือพระเถระที่ผู้ตายรักใคร่นับถือ  มีข้าวตอกโปรยไปตลอดทางด้วย  เป็นเสมือนว่าโปรยปรายพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้แก่เวไนยสัตว์  (ปัจจุบันเปลี่ยนจากโปรยข้าวตอกมาเป็นถือพระธรรมซึ่งเป็นคัมภีร์ใบลาน)  เพื่อให้คนที่พบเห็นเกิดศรัทธาปสาทะและสำนึกในความตายอันเป็นที่สุดของสังขาร
                มีเครื่องไทยทานสำหรับถวายพระนำศพ  มีเสื่อ  หมอน  มุ้ง  ตะเกียง  ถ้วยน้ำ  คนโท  กระโถน  ถ้วยชาม  ผ้าไตร  มีดพร้า  สิ่ว  ขวาน  เป็นต้น  โดยตั้งใจอุทิศกัลปนาผลให้ผู้ตายได้รับประโยชน์ไปใช้สอยด้วย
                นอกจากนี้เจ้าภาพต้องจัดเตรียมของถวายพระเทศน์  ถวายพระบังสุกุล  ผ้าชักมหาบังสุกุล  ดอกไม้  ธูป  เทียน  เครื่องขมาศพ  หมากพลู  บุหรี่  เครื่องดื่ม  ของต้อนรับแขก  ก็ต้องเตรียมไปพร้อมสรรพ
                เมื่อศพไปถึงป่าช้าแล้ว  จะหามศพเวียนที่เผาเป็นอุตราวรรตคือเวียนซ้าย  3  รอบ  (ตรงข้ามกับเวียนทักษิณาวรรตที่ใช้กับเรื่องที่เป็นมงคล)  จึงยกศพขึ้นตั้งบนที่เผาต้องหันศีรษะของศพไปทิศตะวันตก  บางท่านอธิบายว่าการวางศพนอนหงายแล้วหันไปทางทิศตะวันตก  เป็นนัยว่าเมื่อผู้ตายเกิดใหม่ให้ได้พบกับพระอาทิตย์ในเวลาเช้า  (พบกับแสงสว่างหรือแสงธรรม)  และเกิดเป็นคติว่าคนเป็นไม่ควรนอนหันศีรษะไปทิศตะวันตก  เพราะเป็นทิศของคนตาย
    11.  ที่เผาศพ
                ที่เผาศพเดิมชาวภาคใต้นิยมทำขึ้นเป็นการชั่วคราว  ไม่มีเชิงตระกอนถาวร  ทำโดยปักเสาขึ้น  4  ต้น  มีเพดานดาดบน  เรียกว่า  “สามสร้าง”  หรือ  “สามส้าง”  (ดู  สามส้าง)  การที่เรียกสามส้างมีบางท่านอธิบายว่าเป็นปริศนาธรรม  คือ  เสาทั้ง  3  เสา  แทน  “การสร้าง”  ภพและชาติ  ส่วนที่  4  เป็นเสาพิเศษที่ให้หลุดพ้นจากการสร้าง  กล่าวคือ  เสาที่  1  หมายถึง  กิเลสตัณหา  อุปาทาน  เสาที่ ได้แก่  กรรม  (การกระทำ)  เสาที่  3  ได้แก่  วิบาก  (ผลของกรรม)  ส่วนเสาที่  4  หมายเอาพระนิพพาน  คือผู้ที่หมดกิเลสตัณหา  ลอยบุญลอยบาปได้แล้วเป็นอัพพยากตากรรม  เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
12.  การขอขมาเจ้าป่าช้า
                ข้าวบอกที่ลูกหรือหลานคนสุดท้องถือมานั้นเพื่อใช้เป็นเครื่องสังเวยเจ้าเปรว  (เจ้าป่าช้า)  อันมีชื่อว่า  ยายกาลี  ตากาลา  ที่เรียกว่า  “ข้าวบอก”  ก็เพราะใช้สำหรับบอกกล่าว  ประกอบด้วย  ข้าวปากหม้อ  ปลามีหัวมีหาง  สตางค์เล็ก ๆ  น้อย ๆ  ใสโถหรือถ้วย  เมื่อถึงป่าช้าก็วางไว้ข้างโลงศพ  เวลาเผาศพให้วางไว้บนเชิงตะกอนหรือบนกองฟืน
  13.  การกราบไหว้ขอขมาศพ

                การกราบไหว้ขอขมาศพ  ต้องเอาฝ่ามือออกข้างนอกเอาหลังมือประกบกัน  (ปัจจุบันเคารพกันตามธรรมดา  เว้นแต่ตามชนบทบางแห่งมีไหว้แบบหงายมืออยู่บ้าง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น