วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
เป็นวันที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญ อันเนื่องด้วยพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
เหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า คือบริษัทสี่อันได้แก่
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้น้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในหลักที่สำคัญ
เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจรรโลงให้พระพุทธศาสนา ดำรงคงอยู่สถิตสถาพร
เป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่สัตว์โลกทั้งปวง
ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่เพียงมนุษยชาติเท่านั้น
วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
ตามลำดับความสำคัญ และตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้นคือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา
วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และออกพรรษา
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ(ขึ้น 15 ค่ำ) เดือนหก หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ในห้วงระยะเวลาที่ต่างกันคือ
ครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธธนะ และ พระนาง สิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ โดยประสูติที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดา กับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา
ครั้งที่สอง เกิดเมื่อเจ้าชายสิทธัตถ ออกทรงผนวชได้ 6 ปี พระชนมายุ 35 พรรษา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประเทศมคธ ปัจจุบันคือที่ตั้งพุทธคยา
ครั้งที่สาม เกิดเมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ณ เมืองกุสินารา
เหตุการณ์สำคัญทั้งสามประการนี้ เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน ทางจันทรคติ ซึ่งนับวันขึ้นแรม ตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์ เป็นหลักในการกำหนดวัน เดือน และปีซึ่งยังคงใช้กันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ควบคู่กันไปกับการกำหนดวัน เดือน และปีทางสุริยคติ ซึ่งเป็นไปตามวิถีการโคจรของดวงอาทิตย์ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ ซึ่งยังไม่เคยมีการประจวบกันเช่นนี้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดมาก่อนจนตราบเท่าปัจจุบัน
แต่ความอัศจรรย์ดังกล่าว ก็ยังไม่เทียบเท่ากับการอุบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก และได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งมวล
วันวิสาขบูชาจึงนับว่าเป็นวันสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ก่อให้เกิดพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระธรรมและนำมาสั่งสอนแก่สรรพสัตว์ และพระสงฆ์สาวกผู้สืบพระศาสนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนตร์ตามลำดับดังนี้คือ
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ ด้วยบท " อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ...พุทโธภควาต ิ"
บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ ด้วยบท " สวากขาโต ภควตาธัมโม...วิญญูหิต ิ"
บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท " สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ...โลกัสสาติ "
จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน
จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง
วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ได้บำเพ็ญประโยชน์ตน และสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้ดำรงคงอยู่อย่างถูกต้องตรงทาง เพื่อประโยชน์สุขของตนและของผู้อื่นตลอดชั่วกาลนาน
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง
พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก
หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน
เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี
ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา
ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี
พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ
พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ
ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่
ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว
สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน
วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ 9 เดือน
ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
ประการแรก เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน 1,250 รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
ประการที่สอง พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ประการที่สาม พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ประการที่สี่ วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสองผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันตี คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสุปสมฺปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺต ปริโยทปนํ การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์
เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
อนูปวาโท อนูปฆาโต การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร การสำรวมในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนก็จะไปประกอบศาสนกิจ เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เช่นเดียวกับที่ประพฤติปฏิบัติในวันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา คือ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญ อันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาเป็นต้น และฟังพระธรรมเทศนาการแสดงธรรมในวันนี้ จะแสดงธรรมในเรื่องพระโอวาทปาฏิโมกข์
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วันคือ
วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12
เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
1. เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
6. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
7. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
9. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
หรือว่า
อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
แปลว่า
ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า 3 ครั้ง)
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
วันออกพรรษา
วันออกพรรษา ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 11 เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณา ในหมู่พระภิกษุสงฆคือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ
ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป (กล่าว 3 ครั้ง)
ในวันออกพรรษาตามประวัติกล่าวว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก
สำหรับพิธีตักบาตรเทโวนั้นโดยทั่วไปจะทำกันในบริเวณพระอุโบสถ มีการอัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานบนบุษบกมีล้อเลื่อน มีบาตรตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป แล้วใช้คนลากนำหน้าพระภิกษุสงฆ์จะเดินตามพระพุทธรูป บรรดาพุทธศาสนิกชนจะเรียงรายอยู่เป็นแถวสองข้างทางที่พระพุทธรูปและพระสงฆ์เคลื่อนผ่าน เพื่อตักบาตรอาหารที่นิยม นำมาตักในวันนี้มี ข้าวสุก ข้าวต้มมัดใต้ และข้าวต้มลูกโยน
ในที่บางแห่งมีปูชนียวัตถุ เช่น พระธาตุเจดีย์ สร้างไว้บนภูเขา หรือสิ่งก่อสร้างที่สูงๆ เช่นที่ วัดสังกัส จังหวัดอุทัยธานี วัดเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี และภูเขาทองวัดสระเกศ ที่กรุงเทพ ฯ ก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปลงจากภูเขา บรรดาพุทธศาสนิกชนก็มาคอยตักบาตร โดยตั้งแถวสองแถวเรียงรายรออยู่ที่เชิงเขา เพื่อให้ดูใกล้ความจริงว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากที่สูง
การบำเพ็ญกุศลนอกจากนี้ก็มีการถวาย ผ้าจำนำพรรษา และพิธีทอดกฐิน ซึ่งจะกระทำกันหลังวันออกพรรษาไปได้อีกถึง วันเพ็ญ กลางเดือน 12
*****************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น