วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความเชื่อเรื่องโจ (ภูมิปัญญาชาวบ้าน)

ความเชื่อเรื่อง โจ
ของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
                    คติความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่จะบันดาลให้เกิดผลต่างๆ ต่อมนุษย์นั้นมีมานานแล้ว อาจเรียกว่าควบคู่มากับสังคมมนุษย์ก็ว่าได้ สาเหตุสำคัญอยู่ที่ปัญหาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และมนุษย์ไม่สามารถจะแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการนั้นๆ ได้ จึงพยายามคิดหาวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ แต่ด้วยมนุษย์ยังด้อยประสบการณ์ และด้วยความรู้จึงคาดเดาเอาว่า ตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ผี หรือวิญญาณ ที่มีอิทธิฤทธิ์ ดังนั้น จึงได้อาศัยผี หรือวิญญาณนั้นๆ มาเป็นตัวช่วย เมื่ออาศัยผี หรือวิญญาณ เป็นตัวช่วยมาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี หรือมากกว่า ซึ่งวิธีการนั้นจะช่วยได้หรือไม่ก็ตาม ความเชื่อนั้นก็จะฝังรากหยั่งลึกอยู่ในตัวมนุษย์ แม้การศึกษาจะได้พัฒนาสูงขึ้น วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้น   แต่ด้วยความเชื่อที่ฝังอยู่และสืบต่อกันมานานหลายช่วงอายุคน จึงยากที่จะสลัดให้หมดไปได้ ดังเช่นที่พบเห็นเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน สภาพปัจจุบัน ของคติความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติของคนไทยพบได้ดาษดื่น ทั้งที่พบเห็นเมื่อเราเดินทางไปในท้องที่ ชุมชนต่างๆ จะพบผู้คนวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อถือ เช่น จากต้นไม้ใหญ่ จากจอมปลวก จากเจ้าพ่อ จากเจ้าแม่ จากพระพุทธรูป และแม้แต่ต่อหัวเสือรังใหญ่ก็เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ
                 ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ดึงเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดผลต่อสังคม ทั้งผลดี และผลเสีย ดังได้กล่าวแล้วเป็นเพียงบางปรากฏการณ์เท่านั้น ยังมีอำนาจเหนือธรรมชาติที่อยู่ในรูปอื่นๆ  อีกมากที่คนไทยนำเอามาใช้และยังนิยมกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นควรจะได้ศึกษาหาผลที่เกิดขึ้นอย่างความเชื่อเรื่องโจ ที่ได้นำมากล่าวในที่นี้จากท่านผู้รู้ทั้งเท่าที่จะนำมาเขียนไว้ในบทความนี้
ประวัติ โจ
                    โจมาจากคำว่า จู่โจม การบุกรุก การละเมิดสิทธิของผู้อื่น การใส่โจในท้องที่ภาคใต้ ถือว่าเป็นของขลัง มีความศักดิ์สิทธิ์ให้โทษได้เอามาใช้เป็นเครื่องหมายห้ามคนทำอันตรายต่อทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับพืชผักต้นไม้ การทำโจเป็นของขลังมีวิธีพิสดารแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโจ เช่น โจฝัง โจแขวน โจบอก โจพรก (กะลา)โจตอก โจหลอก เป็นต้น (โจหลอกไม่ได้ทำพิธีกรรม)
                    การใส่โจจะเน้นเรื่องการป้องกันผลไม้มากว่าต้นไม้หรือป่าไม้  แต่อาจมีส่วนเอื้ออำนวยในเชิงอนุรักษ์  และป้องกันการทำลายป่าไม้ได้บ้างในบางกรณี  ส่วนมากชาวบ้านจะใช้เครื่องหมายนี้ในสวนของตนเองป้องกันการลักขโมย  เพราะเชื่อกันว่าใครลักขโมยผลไม้ที่ใส่โจ   จะทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ  หรืออาจถึงตายได้จากอาถรรพณ์เวทมนต์ถาคาที่ลงยันต์ในหนังวัวควายแห้ง  สำหรับต้นไม้ในป่าที่ให้ผล และชาวบ้านบางคนเข้าไปจับจองโดยการปักกำ และยังใส่โจกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งก็มีบ้างเหมือนกัน สำหรับความเชื่อเรื่องโจ ของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโจที่ไว้ป้องกันคนขโมยผลไม้อยู่  2  ชนิด
โจบอก
                     ลักษณะของ โจบอก ที่ชาวบ้านรู้จักและคุ้นเคยโดยทั่วไปนั้น  พระสมปอง โสรโต  กล่าวว่า โจบอกทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ตายพราย คือต้นไม้ไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอ ตัดมาปล้องหนึ่งตัดหัวตัดปลายเอาข้อออกทั้ง 4  ด้าน  โดยรอบ ในกระบอกบรรจุหนังวัวหนังควายแห้งตายบาด มีขนาดกว้าง  1  เซนติเมตร ยาว 5 เชนติเมตรหรือชิ้นใหญ่กว่านั้นใส่ลงไปในกระบอก ก่อนใส่กระบอกได้ลงยันต์เขียนคาถากำกับไว้ที่หนังวัวหนังควายแห้งตายบาด แล้วจึงอธิฐานว่าหากผู้หนึ่งผู้ใดมาเอาสิ่งของนี้ไปกินโดยไม่ได้บอกกล่าว ขอให้ท้องของผู้นั้นพอง บางคนที่เคยเห็นโจบอกได้กล่าวถึงลักษณะของโจว่า  โจบอกทำกับกระบอกไม้ไผ่ มีหมากพลู หรือหนังวัวหนังควายแห้งตายบาดตัดเป็นชิ้นๆ  ใส่ลงในกระบอก สำหรับคาถา แก้โจมีว่าโจเอย โจจอบ มึงออกกูเข้า โจเอยโจเจ้าถ้ามึงเข้ากูออก และอีกคาถาหนึ่งที่ใช้ถอนคุณไสย สะมุหะเนยยะ สะมุหะคะติ สะมุหะคะโต สีมาคะตัง พัทธะ เสมายัง สะมุหะนิตัพโพ เอวัง เอหิ นะเคลื่อนโมคลอน พุทธถอน ธาเลื่อน ยะเลื่อนหลุดลอย เพื่อทำน้ำมนต์ไปประพรมที่ผลไม้ แล้วจึงเอามากินได้  ส่วนพระวันชัย ปภสฺสโร ได้กล่าวถึงวิธีทำโจ อีกลักษณะหนึ่งคือเอาขี้ค้างคาว สิ่งของสกปรก โสโครกใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่  แล้วร่ายคาถาผูกด้วยคำที่เป็นภาษาบาลีมีอักขระ 16 ตัว คือ อุ มิ อะ มิ อาเอสุตัง สุนะพุทธัง  อะสุนะอะ กำกับไว้ที่โจ ซึ่งโจนั้นจะมีผู้แก้ได้เพียงคนเดียวคือผู้ทำโจเท่านั้น สำหรับการแก้โจนั้นจะมีคาถาแก้อีกบทหนึ่งต่างหากโดยบริกรรมภาวนาว่า  นะมะปะทะ นะมิอะอุ  อุ อะมินะ นะโมพุทธายะ ถึงแม้ผู้อื่นจะรู้คาถาบทแก้นี้ ก็ไม่สามารถที่จะนำไปแก้ได้
                    พระปลัดสุชาติ  สุชาโต ได้กล่าวว่า โจเป็นสิ่งป้องกันการลักขโมยที่ชาวสวนนิยมแขวนไว้ตามต้นผลไม้ เช่น ต้นลางสาด เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการหวงห้าม และมีความเชื่อที่ว่าถ้าใครมาเก็บผลไม้ที่แขวนโจนี้ไปกิน จะทำให้มีอาการพุงพองนับว่าเป็นการอำพรางที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาเก็บกิน หากมีผู้ใดโดนเข้าจะมีอาการดังกล่าว จะแก้อาการนั้นได้ต้องแก้ด้วยน้ำมนต์ที่พระเสกแล้วมากิน เพราะคนที่ถูกโจพุงจะพอง มันเป็นไสยศาสตร์ บางทีถึงอาจตายได้
                    พระช่วง สีลสํวโร ได้กล่าวถึงวิธีผูกโจให้เขียนอักขระปัญจตจะกัมมัฏฐาน 5ได้แก่ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ที่หระบอก ก่อนที่จะนำไปแขวนว่า โจเอยโจเจ้าให้เฝ้าไว้กัน ของดึกดำบรรพ ข้านั้นเชื่อถือ ส่วนวิธีแก้โจคือ โจเอยโจบอกมึงออกกูเข้า โจเอยโจเจ้ามึงเข้ากูออก
                    ส่วนพระสวาท เถรธมฺโม ได้กล่าวถึงวิธีการใส่โจที่ต้นผลไม้ว่า ให้เอาไม้ไผ่ตายพราย หนังควายตายบาด ให้ลงคาถาหัวใจเปรตเป็นคาถาผูกโจ และคาถาที่แตกต่างไปจากคนอื่นคือใช้คาถาผูกที่ชื่อว่าคาถาหัวใจเปรตนั้นว่า  ทุ สะ นะ โส และมีบทแก้โจว่า เสกอิติปิโส แบบอนุโลมปฏิโลม ตามกำลังวันที่แก้ คือ วันอาทิตย์มีกำลัง 6วันจันทร์มีกำลัง 15 วันอังคารมีกำลัง 8  วันพุธกำลัง 17 วันพฤหัสบดีกำลัง 19 วันศุกร์มีกำลัง 21 วันเสาร์มีกำลัง 10 และตามด้วยคาถาถอนโบสถ์ว่าดังนี้
                     สุณาตุ เม ภัณเต สังโฆ ยะทิ สัง ฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ  ตัง สีมัง สะมุหะเนยยะ เอสา ญัตติ
                    สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ ยาสา สังเฆนะ สีมาสัมมะตา สะมานะสังวาสา เอกุโปสะถา สังโฆ ตัง สีมัง สะมุหะนะติ ยัสสายัสมะโต ขะมะติ เอติสสา สีมายะ สะมานะสังวาสายะ เอกุโปสถายะ สะมุคฆาโต โสตุณหัสสะ ยัสสะ นักขะมะติ โส ภาเสยยะ  
                    สะมะหะตา สา สีมา สังเฆนะ สะมานะสังวาสา เอกุโปสถา ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสสะมา ตุณณะหี เอวะเมตัง ธาระยามิ.(ว่า 3 จบ)
โจพรก
                    โจพรก ของชาวบ้านตำบลบางศาลานั้น ฟื้นทองสุข บอกว่าลักษณะของโจพรกที่มีอยู่ทั่วไปนั้นจะมีลักษณะทำด้วยกะลามะพร้าวนั่นเอง ซึ่งการทำโจพรก ก็ไม่ยากอะไรเพียงแค่หากะลามะพร้าวที่อยู่ใกล้บ้านและเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย แต่การทำโจด้วยกะลานั้นต้องเลือกฝาของตัวผู้ที่มีขนาดเดียวกันให้ได้ 2 ฝาแล้วก็ประกบให้ติดกัน แล้วร้อยรูทั้ง 2 เข้าด้วยกัน โดยใช้เชือกกล้วยประกอบเข้าด้วยกัน แต่ นิต ทิพยุทธ์ บอกว่าต้องใส่คางคกที่ตายแล้วไว้ข้างในด้วย เพื่อให้คางคกที่ตายได้ส่งกลิ่นเน่าเหม็น เพื่อต้องการให้คนที่คิดจะมาเก็บหรือมาขโมยผลไม้ไปกิน ก็จะทำให้พุงพองถึงขั้นท้องไส้ปั่นป่วนได้ น้อม  แก้วประวัติ บอกว่าโจพรกไม่ต้องใส่อะไรลงไปแต่ที่สำคัญคือเขียนยันต์ข้างกะลามะพร้าวส่วนด้านนอกกะลามะพร้าวใช้ปูนป้ายทำเป็นรูปกากบาทพร้อมกับมีคาถากำกับ เมื่อเสร็จแล้ว ก็นำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ที่ใครไปใครมาก็เห็นได้ชัดเจน   แลบ ทองสุข บอกว่าทำมาจากกะลามะพร้าวร้อยด้วยเชือก  และใช้หนังวัวความตายบาดเหมือนกัน  ขนาดของหนังวัวหนังควายที่ใช้มีความกว้าง  1  เซนติเมตร ยาว 5 เชนติเมตรหรือชิ้นใหญ่กว่านั้นก็ได้  แล้วจึงเขียนยันต์ลงคาถากำกับไว้ที่หนังวัวหนังควายแห้ง   แล้วจึงอธิฐานว่าหากผู้หนึ่งผู้ใดมาเอาสิ่งของนี้ไปกินโดยไม่ได้บอกกล่าว ขอให้ท้องของผู้นั้นพอง   แล้วเอาหนังวัวหนังควายที่เขียนยันต์กำกับด้วยถาคาแล้วพร้อมกับใบของผลไม้ฝังพร้อมกันไปด้วยที่ใต้ต้นของผลไม้นั้น ปลอบ ยงเยื้ยงคง  บอกว่า คาคาผูกใจนั้นไม่ยากอะไร เพียงแต่กล่าวว่า โจเอย โจจอก บอกแล้วให้เข้า โจเอยโจเจ้า เข้าแล้วอย่าออก คาถาแก้โจ ว่าดังนี้ บอกแล้วให้กลับด้วย นะ โมพุทายะ  นะเอ พระเจ้า 5 พระองค์จงมาช่วยปรดให้ดออกละลายด้วยนะโมพุทธายะ
โจหลอก
                    ลักษณะโจหลอกเป็นการขู่ กัน ขโมยมาลักเอาสิ่งของในบริเวณเรือกสวนไร่นาของตนจึงทำโจไปแขวนไว้ที่พืชพันธ์ธัญญาหารของตน  ถ้าโดนโจหลอกถูกแล้วแก้ไม่ได้แม้แต่เจ้าของเองก็โดน มีวิธีป้องกันการถูกโจหลอก คือ สำรวจดูว่าบนต้นไม้มีโจแขวนอยู่หรือเปล่าแล้ว เอามีดตัดโจที่แขวนไว้เอาไปทิ้งให้พ้นจากอาณาบริเวณต้นไม้นั้น แล้วจึงจะมาเก็บเอาสิ่งของเหล่านั้นได้ ลักษณะโจ  โจทำกับกระบอกไม้ไผ่เอาปูนที่กินกับหมากมาทาที่กระบอก โดยทำเครื่อง ต่างๆ เช่น รูปตุ๊กตา กะโหลกไขว้ เป็นต้น  พระครูปลัดทนงค์ ฐิตรํสี   กล่าวว่า โจคล้ายกับการปักกำ หมายถึงการแสดงความเป็นเจ้าของ ป้องกันการรุกรานไม่ให้ผู้อื่นมากินสิ่งของและเป็นการสาปแช่งแก่ผู้มากินสิ่งของ ของทุกอย่างในโลกนี้มีเจ้าของสัตว์ป่าก็เช่นเดียวกันมีเจ้าของคุ้มครองเราเห็นแล้วเกิดความกลัวจนพองสลองเกล้าใจเต้นแรงมักจะบ่นบานกับเจ้าที่เจ้าของป้องกัน สิทธิเจ้าของสังคมเคารพสิทธิของผู้อื่นจะมีอันเป็นไป ถูกฝังหัวมาเรื่อยๆ ถือว่ากันแล้วเป็นเรื่องจริง เอาปูนแดงเพราะเป็นสิ่งหาได้ง่ายยังไม่มีสีใช้อย่างปัจจุบัน  โจ มาจาคำว่า จร ผู้จรมาเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ใครเอามากินทำให้เกิดความกลัว ไม่สามรถพิสูจน์ได้ ถ้าไม่เชื่ออย่าลบลู่ คนโบราณไม่มีสีแดง เอาปูนเขียน ตัดแล้วขาดเอาปูนวงไว้ให้เห็น
                    พระเมธี ธานีรัตน์ กล่าวว่าการทำโจนั้นทำจากกาบหมากม้วนกลมๆ ผูกเชือกเขียนอักระลงที่กาบหมาก  
                    นายเสนียน ทองเหม ได้กล่าวถึงคาถาแก้โจไว้ว่า โจเอยโจหลอก มึงออกกูเข้า โจเอยเจ้ามึงเข้ากูออก
สรุป
                    ความเชื่อเรื่องโจ เป็นความเชื่ออีกมิติหนึ่งที่มีอยู่หลายๆ  ความเชื่อ ที่ฝังลึกในรากฐานของจิตใจชาวบ้านตำบลบางศาลา  อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องโจถือเป็นวิธีคิดที่ฉลาดในเชิงไสยศาสตร์และบวกกับภูมิปัญญาของตนเป็นกุศโลบายเพื่อไว้ป้องกันสิทธิทรัพย์สินของตนเกี่ยวกับพืชผลไม้ เป็นห้ามปรามอันถือวิสาสะเก็บเอาไปกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ  ชาวบ้านตำบลบางศาลานิยมทำโจมีรูปแบบ มี 2  แบบ  ได้แก่  โจบอก  โจพวก  โจทั้งสองชนิดนี้  มีทั้งจริงและโจหลอก  โจจริงมีการทำพิธีกรรม  เขียนยันต์ลงคาถาอาคมแล้วเสก  โจหลอกไม่ทำพิธีกรรม  เพียงทำเพื่อหลอกผู้คนที่มาเอาผลไม้ถือวิสาสะเท่านั้น
                    ชาวบ้านบางศาลา  มีความเชื่อว่าโจ  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แอบแฝงไปด้วยผลร้ายต่อผู้ละเมิดสิทธิทรัพย์สินของผู้อื่น  แต่เป็นวิธีการสอนเตือนสติของผู้คนให้เคารพในสิทธิทรัพย์สินซึ่งกันและกัน  มีสัจจะต่อกันให้ตั้งอยู่ศีลห้าไม่ลักขโมยของผู้อื่นถือเป็นเรื่องสำคัญ
                    การทำโจของชาวบางศาลาไม่ใช้ต้องการทำให้ผู้ลักขโมยถึงกับตาย เพียงแต่ทำให้โทษ ท้องฟอง  ท้องอืด  ปวดท้องเท่านั้น   เมื่อรู้ว่าถูกโจแล้วไปหาเจ้าของขอกินน้ำมนต์ หรือเจ้าของก็มีคาถาถอนพิษโจออกให้ได้   ความเชื่อเรื่องโจของของชาวบ้านบางศาลาดังกล่าวแล้ว  ยังปลูกฝังอยู่ผู้คนในตำบลนี้อยู่ถือว่า  เป็นการนุรักษ์ภูมิปัญญาในเชิงไสยศาสตร์เพื่อมิให้สูญหายต่อไป   

                                                                              บุคคลานุกร

พระสมปองโสรโต ผู้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ สำนักสงฆ์
                ใสเตาอ้อย ตำบลบางขัน อำเภอบางขันจังหวัด นครศรีธรรมราช  30 เมษายน 2551.
พระวันชัย ปภสฺสโร ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ วัดบ้านใหม่บน
                 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช 11 พฤษภาคม 2551
พระปลัดสุชาติ  สุชาโต ผู้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์    ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์
                วัดควนเกย ตำบล  อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัด นครศรีธรรมราช11 พฤษภาคม 2551
พระช่วง สีลสํวโร ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ ที่วัดบ่อล้อ อำเภอเชียรใหญ่  
                จังหวัด นครศรีธรรมราช 11 พฤษภาคม 2551
พระสวาท   ถีรธมฺโม ผู้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์    ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ วัดทุ่งไคร
                ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช 6 พฤษภาคม 2551
พระครูปลัดทนงค์ ฐิตรํสี   ผู้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์    ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์
                วัดชะลอ ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  9  พฤษภาคม 2551
พระเมธี ธานีรัตน์   ผู้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์    ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ วัดชายนา   
                ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช  7  พฤษภาคม 2551
นายเสนียน ทองเหม ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ บ้านบางขลัง
                ตำบลบางตะพง อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช 5 พฤษภาคม 2551
น้อมแก้ว ประวัติ ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ ที่บ้าน บางศาลา
                ตำบล บางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 15 พฤษภาคม 2551
นางนิต ทิพยุทธ์  ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ ที่บ้านบางศาลา
                ตำบลบางบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช 11 พฤษภาคม 2551
นายแลบ ทองสุข ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ ที่บ้านบางศาลา
                ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช 11 พฤษภาคม 2551
นายฟื้นทองสุข ผู้ให้สัมภาษณ์  ,พระบุญส่งไกรวงศ์  เป็นผู้สัมภาษณ์ ที่บ้านบางศาลา
                 ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช 11 พฤษภาคม 2551


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น