วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

พุทธทำนายพระสุบิน (ความฝัน) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล จำนวน 16 ข้อ

พุทธทำนายในที่นี้ จะกล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายพระสุบิน (ความฝัน) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล จำนวน 16 ข้อ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า เหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ศาสนาได้เสื่อมลง ซึ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เนื้อความดังกล่าวปรากฏในอรรถกถาพระไตรปิฎก มหาสุบินชาดก เอกนิบาตชาดก ขุททกนิกาย มีเนื้อความดังต่อไปนี้
                    วันหนึ่งพระเจ้าโกศลมหาราช   เสด็จเข้าสู่นิทรารมย์ในราตรีกาล ในปัจฉิมยามทอดพระเนตรเห็น พระสุบินนิมิตรอันใหญ่หลวง 16 ประการ ทรงตระหนกพระทัยตื่นพระบรรทม ทรงพระดำริว่า เพราะเราเห็นสุบินนิมิตรเหล่านี้ จักมีอะไรแก่เราบ้างหนอ เป็นผู้อันความสะดุ้งต่อมรณภัย คุกคามแล้ว ทรงประทับเหนือพระแท่นที่ไสยาสน์นั้นแล จนล่วงราตรีกาล
                    ครั้นรุ่งเช้า พวกพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้ากราบทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือพระเจ้าข้า ?
                    รับสั่งตอบว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย เราจักมีความสุขได้อย่างไร เมื่อคืนนี้เวลาใกล้รุ่ง เราเห็นสุบินนิมิตร 16 ข้อ ตั้งแต่เห็นสุบินนิมิตรเหล่านั้นแล้ว เราถึงความหวาดกลัวเป็นกำลัง
เมื่อพวกปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า โปรดตรัสเล่าเถิดพระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สดับแล้ว จักทำนายถวายได้
                    จึงตรัสเล่าพระสุบิน ที่ทรงเห็นแล้วให้พวกพราหมณ์ฟัง แล้วตรัสว่า เพราะเหตุเห็นสุบินเหล่านี้ จักมีอะไรแก่เราบ้าง ? พวกพราหมณ์พากันสลัดมือ เมื่อรับสั่งถามว่า เพราะเหตุไรพวกท่านจึงพากันสลัดมือเล่า ?
                    พวกพราหมณ์จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระสุบินทั้งหลายร้ายกาจนัก
รับสั่งถามว่า พระสุบินเหล่านั้นจักมีผลเป็นประการใด ?
                    พวกพราหมณ์จึงพากันกราบทูลว่า จักมีอันตรายใน 3 อย่างเหล่านี้ คือ อันตรายแก่ราชสมบัติ 1 อันตรายคือโรคจะเบียดเบียน 1 อันตรายแก่พระชนม์ 1 อย่างใดอย่างหนึ่ง
                    รับสั่งถามว่า พอจะแก้ไขได้ หรือแก้ไขไม่ได้
                    พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลว่า ขอเดชะ พระสุบินเหล่านี้หมดทางแก้ไขเป็นแน่แท้ เพราะร้ายแรงยิ่งนัก แต่พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย จักกระทำให้พอแก้ไขได้ เมื่อพวกหม่อมฉันไม่สามารถเพื่อจะแก้ไขพระสุบินเหล่านี้ได้แล้ว ขึ้นชื่อว่าความเป็นผู้สำเร็จการศึกษา จักอำนวยประโยชน์อะไร
                    รับสั่งถามว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย จักกระทำอย่างไรเล่า ถึงจักให้คืนคลายได้
พวกพราหมณ์พากันกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ต้องบูชายัญด้วยวัตถุอย่างละ 4 ทุกอย่างพระเจ้าข้า
                    พระราชาทรงสะดุ้งพระทัย ตรัสว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราขอมอบชีวิตไว้ในมือของพวกท่านเถิด พวกท่านรีบกระทำความสวัสดีแก่เราเร็วๆ เถิดพวกพราหมณ์พากันร่าเริงยินดี ว่าพวกเราต้องได้ทรัพย์มาก จักต้องได้ของเคี้ยวกินมามากๆ แล้วพากันกราบทูลปลอบพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า อย่าได้ทรงวิตกเลยพระเจ้าข้า แล้วพากันออกจากราชนิเวศน์ จัดทำหลุมบูชายัญที่นอกพระนคร จับฝูงสัตว์ 4 เท้า มากเหล่ามัดเข้าไว้ที่หลักยัญ รวบรวมฝูงนกเข้าไว้เสร็จแล้ว เที่ยวกันขวักไขว่ไปมา กล่าวว่า เราควรจะได้สิ่งนี้ๆ
                    ครั้งนั้นแล พระนางมัลลิกาเทวี ทรงทราบเหตุนั้น ก็เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกพราหมณ์พากันเที่ยวขวักไขว่ไปมา มีเรื่องอะไรหรือเพคะ ?
                    พระราชาตรัสว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอมัวแต่สุขสบาย จึงไม่รู้ว่าอสรพิษมันสัญจรอยู่ใกล้ๆ หูของพวกเรา
                    พระนางทูลถามว่า ข้าแต่มหาราช เรื่องนั้นคืออะไรเพคะ ?
                    พระราชารับสั่งว่า เราฝันร้ายถึงปานนี้ พวกพราหมณ์พากันทำนายว่า อันตรายใน 3 อย่าง ไม่อย่างใดอย่างหนึ่งก็จักปรากฏ เพื่อบำบัดอันตรายเหล่านั้นต้องบูชายัญ จึงต้องสัญจรไปมาอยู่บ่อยๆ พระนางมัลลิกากราบทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็ผู้ที่เป็นยอดพราหมณ์ในโลกพร้อมทั้ง   เทวโลก ทูลกระหม่อม ได้ทูลถามถึงการแก้ไขพระสุบินแล้วหรือเพคะ ?
                    ทรงรับสั่งถามว่า นางผู้เจริญ พระผู้เป็นยอดพราหมณ์ในโลก พร้อมทั้งเทวโลกนั้น เป็นใครกันเล่า ?
                    พระนางกราบทูลว่า ทูลกระหม่อมไม่ทรงรู้จักมหาพราหมณ์ โคดมผู้ตถาคต หมดกิเลสบริสุทธิ์แล้ว เป็นสัพพัญญู เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดอกหรือเพคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คงทรงทราบเหตุในพระสุบินแน่นอน ขอเชิญทูลกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปกราบทูลถามเถิดเพคะ
                    พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีละเทวี แล้วเสด็จไปยังพระวิหาร ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วประทับนั่งอยู่ พระศาสดาทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ตรัสถามว่า มหาบพิตร เหตุไรเล่าบพิตรจึงเสด็จมา ดุจมีราชกิจด่วน
                    พระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใกล้รุ่งหม่อมฉันเห็นมหาสุบิน 16 ข้อ สะดุ้งกลัว บอกเล่าแก่พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ทำนายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระสุบินร้ายแรงนัก เพื่อระงับสุบินเหล่านั้นต้องบูชายัญ ด้วยยัญญวัตถุอย่างละ 4 ครบทุกอย่าง แล้วพากันเตรียมบูชายัญ ฝูงสัตว์เป็นอันมากถูกมรณภัยคุกคาม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกทั้งเทวโลก เญยยธรรมที่เข้าไปกำหนดอดีต อนาคต ปัจจุบัน ที่ยังมาไม่ถึงซึ่งคัลลองในญาณมุขของพระองค์นั้นมิได้มีเลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดทำนายผลแห่งสุบินของหม่อมฉันเหล่านั้นเถิด พระเจ้าข้า
                    พระศาสดาตรัสว่า ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้นทีเดียวมหาบพิตร ในโลกทั้งเทวโลก เว้นตถาคตเสียแล้ว ผู้อื่นที่จะได้ชื่อว่าสามารถรู้เหตุ หรือผลของสุบินเหล่านี้ไม่มีเลย ตถาคตจักทำนายให้มหาบพิตร ก็แต่ว่ามหาบพิตรจงตรัสบอกพระสุบิน ตามทำนองที่ทรงเห็นนั้นเถิด
                    พระราชาทรงรับพระพุทธดำรัสว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า เริ่มกราบทูลพระสุบิน ตามทำนองที่ทรงเห็นอย่างถี่ถ้วน โดยทรงวางหัวข้อไว้ดังนี้ว่า
โคอุสุภราชทั้งหลาย ๑
ต้นไม้ทั้งหลาย ๑
แม่โคทั้งหลาย ๑
โคทั้งหลาย ๑
ม้า ๑
ถาดทอง ๑
สุนัขจิ้งจอก ๑
หม้อน้ำ ๑
สระโบกขรณี ๑
ข้าวไม่สุก ๑
แก่นจันทน์ ๑
น้ำเต้าจม ๑
ศิลาลอย ๑
เขียดขยอกงู ๑
หงส์ทองล้อมกา ๑
เสือกลัวแพะ ๑
                    สำหรับรายละเอียดของพระสุบิน รวมทั้งพุทธทำนายแต่ละข้อนั้น จะขอแยกกล่าวเป็นเรื่องๆ ต่อไป
                    พระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเลิกบูชายัญ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า เพราะพระสุบินเป็นปัจจัย ภัยยังไม่มีแก่มหาบพิตรดอก มหาบพิตรจงสั่งให้เลิกยัญเสียเถิด พระราชทานชีวิตทานแก่มหาชน
ธัมมโชติ ผู้รวบรวม
11 มิถุนายน 2544

พุทธทำนายข้อที่๑
                 พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นสุบินข้อ 1 อย่างนี้ก่อนว่า โคผู้สีเหมือนดอกอัญชัน 4 ตัว ต่างคิดว่าจักชนกัน พากันวิ่งมาสู่ท้องพระลานหลวงจากทิศทั้ง 4 เมื่อมหาชนประชุมกันคิดว่า พวกเราจักดูโคชนกัน ต่างแสดงท่าทางจะชนกัน บรรลือเสียงคำรามลั่น แล้วไม่ชนกัน ต่างถอยออกไป หม่อมฉันเห็นสุบินนี้เป็นปฐม อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลของสุบินข้อนี้ จักไม่มีในชั่วรัชกาลของมหาบพิตร ในชั่วศาสนาของตถาคต แต่ในอนาคต เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ในรัชกาลของพระราชาผู้กำพร้า ผู้มิได้ครองราชย์โดยธรรม และในกาลของหมู่มนุษย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อกุศลธรรมลดน้อยถอยลง อกุศลธรรมหนาแน่นขึ้น ในกาลที่โลกเสื่อม ฝนจักแล้ง และตีนเมฆจักขาด ข้าวกล้าจักแห้ง ทุพภิกขภัยจักเกิด เมฆทั้งหลายตั้งขึ้นจากทิศทั้ง 4 เหมือนจะย้อยเม็ด พอพวกผู้หญิงรีบเก็บข้าวเปลือก เป็นต้น ที่เอาออกผึ่งแดดไว้เข้าภายในร่ม เพราะกลัวจะเปียก เมื่อพวกผู้ชายต่างถือจอบถือตะกร้าพากันออกไป เพื่อจะก่อคันกั้นน้ำ ก็ตั้งเค้าจะตก ครางกระหึ่ม ฟ้าแลบ แล้วก็ไม่ตกเลย ลอยหายไป เหมือนโคตั้งท่าจะชนกัน แล้วไม่ชนกันฉะนั้น นี้เป็นผลของสุบินนั้น แต่ไม่มีอันตรายไรๆ แก่มหาบพิตร เพราะเรื่องนั้นเป็นปัจจัย มหาบพิตรเห็นสุบินนี้ ปรารภอนาคต ฝ่ายพวกพราหมณ์อาศัยการเลี้ยงชีวิตของตน จึงทำนายดังนี้

พุทธทำนายข้อที่ ๒
                 พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นสุบินข้อที่ 2 อย่างนี้ว่า ต้นไม้เล็กๆ และกอไผ่ แทรกแผ่นดินพอถึงคืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง เพียงแค่นี้ก็ผลิดอกออกผลไปตามๆ กัน นี้เป็นสุบินข้อที่ 2 ที่หม่อมฉันได้เห็น อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ ก็จักมีในกาลที่โลกเสื่อม เวลามนุษย์มีอายุน้อย ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายในอนาคตจักมีราคะกล้า กุมารีมีวัยยังไม่สมบูรณ์ จักสมสู่กะบุรุษอื่น เป็นหญิงมีระดู มีครรภ์ พากันจำเริญด้วยบุตรและธิดา ความที่กุมารีเหล่านั้นมีระดู เปรียบเหมือนต้นไม้เล็กๆ มีดอก กุมารีเหล่านั้นจำเริญด้วยบุตรและธิดา ก็เหมือนต้นไม้เล็กๆ มีผล ภัยแม้มีนิมิตรนี้เป็นเหตุ ไม่มีแก่มหาบพิตรดอก

พุทธทำนายข้อที่ ๓
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นแม่โคใหญ่ๆ พากันดื่มนมของฝูงลูกโคที่เพิ่งเกิดในวันนั้น นี้เป็นสุบินข้อที่ 3 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินนั้น พระเจ้าข้า ?
มหาบพิตร แม้ผลของสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคตเหมือนกัน จักมีผลในเวลาที่มนุษย์ทั้งหลาย พากันละทิ้งเชษฐาปจายิกกรรม คือความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เพราะในอนาคต ฝูงสัตว์จักมิได้ตั้งไว้ซึ่งความยำเกรงในมารดาบิดา หรือในแม่ยายพ่อตา ต่างแสวงหาทรัพย์สินด้วยตนเองทั้งนั้น เมื่อปรารถนาจะให้ของกินของใช้แก่คนแก่ๆ ก็ให้ ไม่ปรารถนาจะให้ก็ไม่ให้ คนแก่ๆ พากันหมดที่พึ่ง หาเลี้ยงตนเองก็ไม่ได้ ต้องง้อพวกเด็กๆ เลี้ยงชีพ เป็นเหมือนแม่โคใหญ่ๆ พากันดื่มนมลูกโคที่เกิดในวันนั้น แม้ภัยมีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ไม่มีแก่มหาบพิตร 


พุทธทำนายข้อที่ ๔
                   พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นฝูงชนไม่เทียมโคใหญ่ๆ ที่เคยพาแอกไป ซึ่งสมบูรณ์ด้วยร่างกายและเรี่ยวแรง เข้าในระเบียบแห่งแอก กลับไปเทียมโครุ่นๆ ที่กำลังฝึกเข้าในแอก โครุ่นๆ เหล่านั้นไม่อาจพาแอกไปได้ ก็พากันสลัดแอกยืนเฉยเสีย เกวียนทั้งหลายก็ไปไม่ได้ นี้เป็นสุบินข้อที่ 4 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลของสุบินแม้ข้อนี้ ก็จักมีในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในภายหน้า พระราชาผู้มีบุญน้อย มิได้ดำรงในธรรม จักไม่พระราชทานยศแก่มหาอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในประเพณี สามารถที่จะยังสรรพกิจให้ลุล่วงไปได้ จักไม่ทรงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในโวหารไว้ในที่วินิจฉัยคดีในโรงศาล แต่พระราชทานยศแก่คนหนุ่มๆ ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วนั้น แต่งตั้งบุคคลเช่นนั้นไว้ในตำแหน่งผู้วินิจฉัยอรรถคดี คนหนุ่มพวกนั้น ไม่รู้ทั่วถึงราชกิจ และการอันควรไม่ควร ไม่อาจดำรงยศนั้นไว้ได้ ทั้งไม่อาจจัดทำราชกิจให้ลุล่วงไปได้ เมื่อไม่อาจก็จักพากันทอดทิ้งธุระการงานเสีย
                    ฝ่ายอำมาตย์ที่เป็นบัณฑิตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อไม่ได้ยศ ถึงจะสามารถที่จะให้กิจทั้งหลายลุล่วงไป ก็จักพากันกล่าวว่า พวกเราต้องการอะไรด้วยเรื่องเหล่านี้ พวกเรากลายเป็นคนภายนอกไปแล้ว พวกเด็กหนุ่มเขาเป็นพวกอยู่วงใน เขาคงรู้ดี แล้วไม่รักษาการงานที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมเท่านั้นจักมีแก่พระราชาเหล่านั้น ด้วยประการทั้งปวง เป็นเสมือนเวลาที่คนจับโครุ่นๆ กำลังฝึก ยังไม่สามารถจะพาแอกไปได้ เทียมไว้ในแอก และเป็นเวลาที่ไม่จับเอาโคใหญ่ๆ ผู้เคยพาแอกไปได้ มาเทียมแอกฉะนั้น แม้ภัยมีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๕
                พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นม้าตัวหนึ่ง มีปากสองข้าง ฝูงชนพากันให้หญ้าที่ปากทั้งสองข้างของมัน มันเคี้ยวกินด้วยปากทั้งสองข้าง นี้เป็นสุบินที่ 5 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลของสุบินแม้นี้ ก็จักมีในรัชกาลของพระราชาผู้ไม่ดำรงในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในกาลภายหน้า พวกพระราชาโง่เขลา ไม่ดำรงธรรม จักทรงแต่งตั้งมนุษย์โลเล ไม่ประกอบด้วยธรรม ไว้ในตำแหน่งวินิจฉัยคดี คนเหล่านั้นเป็นพาล ไม่เอื้อเฟื้อในบาปบุญ พากันนั่งในโรงศาล เมื่อให้คำตัดสิน ก็จักรับสินบนจากมือของคู่คดีทั้งสองฝ่ายมากิน เป็นเหมือนม้ากินหญ้าด้วยปากทั้งสองฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตรดอก



พุทธทำนายข้อที่ ๖
                    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์      ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นมหาชนขัดถูถาดทองราคาตั้งแสนกระษาปณ์ แล้วพากันนำไปให้หมาจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง ด้วยคำว่า เชิญท่านเยี่ยวใส่ในถาดทองนี้เถิด หมาจิ้งจอกแก่นั้นก็ถ่ายปัสสาวะใส่ในถาดทองนั้น นี้เป็นสุบินข้อที่ 6 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลของสุบินนี้ก็จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในกาลภายหน้า พวกพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ทรงรังเกียจกุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเสีย แล้วไม่พระราชทานยศให้ จักพระราชทานให้แก่คนที่ไม่มีสกุลเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สกุลใหญ่ๆ จักพากันตกยาก สกุลเลวๆ จักพากันเป็นใหญ่ ก็เมื่อพวกมีสกุลเหล่านั้น ไม่อาจเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ จักคิดว่า เราต้องอาศัยพวกเหล่านี้เลี้ยงชีวิตสืบไป แล้วก็พากันยกธิดาให้แก่ผู้ไม่มีสกุล การอยู่ร่วมกับคนพวกไม่มีสกุลของกุลธิดาเหล่านั้น ก็จักเป็นเช่นเดียวกับถาดทองรองเยี่ยวหมาจิ้งจอก ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๗
                    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้ บุรุษผู้หนึ่งฟั่นเชือก แล้วหย่อนไปที่ใกล้เท้า แม่หมาจิ้งจอกโซตัวหนึ่ง นอนอยู่ใต้ตั่งที่บุรุษนั่ง กัดกินเชือกนั้น เขาไม่ได้รู้เลยทีเดียว นี้เป็นสุบินข้อที่ 7 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?
    มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ ก็จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในกาลภายหน้า หมู่สตรีจักพากันเหลาะแหละโลเลในบุรุษ ลุ่มหลงในสุรา เอาแต่แต่งตัว ชอบเที่ยวเตร่ตามถนนหนทาง เห็นแก่อามิส เป็นหญิงทุศีล มีความประพฤติชั่วช้า พวกนางจักกลุ้มรุมกันแย่งเอาทรัพย์ที่สามีทำงาน มีกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้น สั่งสมไว้ด้วยยาก ลำบากลำเค็ญ เอาไปซื้อสุราดื่มกับชายชู้ ซื้อดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ มาแต่งตน คอยสอดส่องมองหาชู้ โดยส่วนบนของบ้านที่มิดชิดบ้าง โดยที่ซึ่งลับตาบ้าง แม้ข้าวเปลือกที่เตรียมไว้สำหรับหว่านในวันรุ่งขึ้น ก็เอาไปซ้อม จัดทำเป็นข้าวต้ม ข้าวสวย และของเคี้ยวเป็นต้น มากินกัน เป็นเหมือนนางหมาจิ้งจอกโซ ที่นอนใต้ตั่ง คอยกัดกินเชือกที่เขาฟั่นแล้ว หย่อนลงไว้ใกล้ๆ เท้าฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๘
                    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมลูกใหญ่ใบหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ประตูวัง ล้อมด้วยตุ่มเป็นอันมาก วรรณะทั้ง 4 เอาหม้อตักน้ำมาจากทิศทั้ง 4 และทิศน้อยทั้งหลาย เอามาใส่ลงตุ่มที่เต็มแล้วนั่นแหละ น้ำก็เต็มแล้วเต็มอีก จนไหลล้นไป แม้คนเหล่านั้นก็ยังเทน้ำลงในตุ่มนั้นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่มีผู้ที่จะเหลียวแลดูตุ่มที่ว่างๆ เลย นี้เป็นสุบินข้อที่ 8 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในกาลภายหน้า โลกจักเสื่อม แว่นแคว้นจักหมดความหมาย พระราชาทั้งหลายจักตกยาก เป็นกำพร้า องค์ใดเป็นใหญ่ องค์นั้นจักมีพระราชทรัพย์เพียงแสนกระษาปณ์ในท้องพระคลัง พระราชาเหล่านั้นตกยากถึงอย่างนี้ จักเกณฑ์ให้ชาวชนบททุกคน ทำการเพาะปลูกให้แก่ตน พวกมนุษย์ถูกเบียดเบียน ต้องละทิ้งการงานของตน พากันเพาะปลูกปุพพันพืช (อาหาร มีข้าวสาลี เป็นต้น) แลอปรันพืช (ของว่างหลังอาหาร มีถั่ว งา เป็นต้น) ให้แก่พระราชาทั้งหลายเท่านั้น ต้องช่วยกันเฝ้า ช่วยกันเก็บเกี่ยว ช่วยกันนวด ช่วยกันขน ช่วยกันเคี่ยวน้ำอ้อย เป็นต้น และช่วยกันทำสวนดอกไม้ สวนผลไม้ พากันขนปุพพันพืช เป็นต้น ที่เสร็จแล้ว ในที่นั้นๆ มาบรรจุไว้ในยุ้งฉางของพระราชาเท่านั้น แม้ผู้ที่จะมองดูยุ้งฉางเปล่าๆ ในเรือนทั้งหลายของตน จักไม่มีเลย จักเป็นเช่นกับการเติมน้ำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่เหลียวแลตุ่มเปล่าๆ บ้างเลยนั่นแล ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ จะยังไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๙

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นโบกขรณีสระหนึ่ง ดารดาดไปด้วยปทุม 5 สี ลึก มีท่าขึ้นลงรอบด้าน ฝูงสัตว์ สองเท้า สี่เท้า พากันลงดื่มน้ำในสระนั้นโดยรอบ น้ำที่อยู่ในที่ลึกกลางสระนั้นขุ่นมัว ในที่ซึ่งสัตว์ สองเท้า สี่เท้า พากันย่ำเหยียบ กลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้ นี้เป็นสุบินข้อที่ 9 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในกาลภายหน้า พระราชาทั้งหลาย จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม ลุอคติ (มีความลำเอียง - ธัมมโชติ) ด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น เสวยราชสมบัติ จักไม่ประทานการวินิจฉัยอรรถคดีโดยธรรม มีพระหฤทัยมุ่งแต่สินบน โลเลในทรัพย์ ขึ้นชื่อว่าคุณธรรมคือความอดทน ความเมตตา และความเอ็นดูของพระราชาเหล่านั้น จักไม่มีในหมู่ชาวแว่นแคว้น จักเป็นผู้กักขฬะ หยาบคาย คอยแต่เบียดเบียนหมู่มนุษย์ เหมือนหี้บอ้อยด้วยหี้บยนต์ จักกำหนดให้ส่วยต่างๆ บังเกิดขึ้น เก็บเอาทรัพย์ พวกมนุษย์ถูกรีดส่วยอากรหนักเข้า ไม่สามารถจะให้อะไรๆ ได้ พากันทิ้งคามนิคมเป็นต้นเสีย อพยพไปสู่ปลายแดน ตั้งหลักฐาน ณ ที่นั้น ชนบทศูนย์กลางจักว่างเปล่า ชนบทชายแดนจักเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เหมือนน้ำกลางสระโบกขรณีขุ่น น้ำที่ฝั่งรอบๆ ใส ฉันใด ก็ฉันนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร



พุทธทำนายข้อที่ ๑0
                    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นข้าวสุก ที่คนหุงในหม้อใบเดียวกันแท้ๆ แต่หาสุกทั่วกันไม่ เป็นเหมือนผู้หุงตรวจดูแล้วว่าไม่สุก เลยแยกกันไว้เป็น 3 อย่าง คือ ข้าวหนึ่งแฉะ ข้าวหนึ่งดิบ ข้าวหนึ่งสุกดี นี้เป็นสุบินที่ 10 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในกาลภายหน้า พระราชาทั้งหลายจักไม่ดำรงในธรรม เมื่อพระราชาเหล่านั้นไม่ดำรงในธรรมแล้ว ข้าราชการก็ดี พราหมณ์และคฤหบดีก็ดี ชาวนิคม ชาวชนบทก็ดี รวมถึงมนุษย์ทั้งหมด นับแต่สมณะและพราหมณ์ จักพากันไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้เทวดาทั้งหลายก็จักไม่ทรงธรรม ในรัชกาลแห่งอธัมมิกราชทั้งหลาย ลมทั้งหลายจักพัดไม่สม่ำเสมอ พัดแรงจัด ทำให้วิมานในอากาศของเทวดาสั่นสะเทือน
                    เมื่อวิมานเหล่านั้นถูกลมพัดสั่นสะเทือน ฝูงเทวดาก็พากันโกรธ แล้วจักไม่ให้ฝนตก ถึงจะตกก็จะไม่ตกกระหน่ำทั่วแว่นแคว้น มิฉะนั้น จักไม่ตกให้เป็นอุปการะแก่การใด การหว่านในที่ทั้งปวงจักไม่ตกกระหน่ำทั่วถึง แม้ในชนบท แม้ในบ้าน แม้ในตระพังแห่งหนึ่ง แม้ในสระลูกหนึ่ง เหมือนกันกับในแคว้นฉะนั้น เมื่อตกตอนเหนือของตระพัง ก็จักไม่ตกในตอนใต้ เมื่อตกในตอนใต้ จักไม่ตกในตอนเหนือ ข้าวกล้าในตอนหนึ่งจักเสียเพราะฝนชุก เมื่อฝนไม่ตกในส่วนหนึ่ง ข้าวกล้าจักเหี่ยวแห้ง เมื่อฝนตกดีในส่วนหนึ่ง ข้าวกล้าจักสมบูรณ์ ข้าวกล้าที่หว่านแล้วในขอบขัณฑสีมาของพระราชาพระองค์เดียวกัน จักเป็น 3 สถาน ด้วยประการฉะนี้ เหมือนข้าวสุกในหม้อเดียวมีผลเป็น 3 อย่างฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ จะยังไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๑๑
    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นคนทั้งหลายเอาแก่นจันทน์ มีราคาตั้งแสนกษาปณ์ ขายแลกกับเปรียงเน่า นี้เป็นสุบินข้อที่ 11 ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้เล่า พระเจ้าข้า ?
    มหาบพิตร แม้ผลแห่งสุบินนี้ก็จักมีในอนาคต ในเมื่อศาสนาของตถาคตเสื่อมโทรมนั่นแล ด้วยว่าในกาลภายหน้า พวกภิกษุอลัชชีเห็นแก่ปัจจัย จักมีมาก พวกเหล่านั้น จักพากันแสดงธรรมเทศนา ที่ตถาคตกล่าวติเตียนความละโมภในปัจจัยไว้ แก่ชนเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งปัจจัย 4 มีจีวรเป็นต้น จักไม่สามารถแสดงให้พ้นจากปัจจัยทั้งหลาย แล้วตั้งอยู่ในฝ่ายธรรมนำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ มุ่งตรงสู่พระนิพพาน (ภิกษุจะแสดงธรรมเพราะความอยากได้ลาภจากผู้ฟัง แทนที่จะแสดงธรรมเพราะปรารถนา ให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง คือความพ้นทุกข์ บรรลุมรรคผลนิพพาน และธรรมที่แสดงนั้น ก็จะเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน เช่น ความมักน้อย สันโดษ การให้ทาน เป็นต้น ไม่ใช่ธรรมขั้นสูงที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน - ธัมมโชติ)
ชนทั้งหลายก็จะฟังความสมบูรณ์แห่งบทและพยัญชนะ และสำเนียงอันไพเราะอย่างเดียวเท่านั้น แล้วจักถวายเอง และยังชนเหล่าอื่นให้ถวายซึ่งปัจจัยทั้งหลาย มีจีวรเป็นต้น อันมีค่ามาก ภิกษุทั้งหลายอีกบางพวก จักพากันนั่งในที่ต่างๆ มีท้องถนน สี่แยก และประตูวังเป็นต้น แล้วแสดงธรรมแลกรูปิยะ มีเหรียญกษาปณ์ ครึ่งกษาปณ์ เหรียญบาท เหรียญมาสก เป็นต้น โดยประการฉะนี้ ก็เป็นเอาธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ มีมูลค่าควรแก่พระนิพพาน ไปแสดงแลกปัจจัย 4 และรูปิยะ มีเหรียญกษาปณ์และเหรียญครึ่งกษาปณ์เป็นต้น จักเป็นเหมือนฝูงคนเอาแก่นจันทน์มีราคาตั้งแสน ไปขายแลกเปรียงเน่าฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๑๒
    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นกระโหลกน้ำเต้าจมน้ำได้ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้ก็จักมีในอนาคตกาล เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ในรัชกาลของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ด้วยว่าในครั้งนั้นพระราชาทั้งหลาย จักไม่พระราชทานยศแก่กุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จักพระราชทานแก่ผู้ไม่มีสกุลเท่านั้น พวกนั้นจักเป็นใหญ่ อีกฝ่ายหนึ่งจักยากจน ถ้อยคำของพวกไม่มีสกุล ดุจกระโหลกน้ำเต้า ดูประหนึ่งหยั่งรากลงแน่นในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชาก็ดี ที่ประตูวังก็ดี ที่ประชุมอำมาตย์ก็ดี ที่โรงศาลก็ดี จักเป็นคำไม่โยกโคลง มีหลักฐานแน่นหนาดี
    แม้ในสังฆสันนิบาต (ที่ประชุมสงฆ์) เล่า ในกิจกรรมที่สงฆ์พึงทำและคณะพึงทำก็ดี ทั้งในสถานที่ดำเนินอธิกรณ์เกี่ยวกับบาตร จีวร และบริเวณเป็นต้นก็ดี ถ้อยคำของคนชั่วทุศีลเท่านั้น จักเป็นคำนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ มิใช่ถ้อยคำของภิกษุผู้ลัชชี (ผู้มีความละอายที่จะทำชั่ว คือผู้ไม่กล้าทำชั่วเพราะมีความละอายใจ ที่จะทำเช่นนั้น คือภิกษุที่ดีนั่นเอง - ธัมมโชติ) เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นเหมือนกาลเป็นที่จมลงแห่งกระโหลกน้ำเต้า แม้ด้วยประการทั้งปวง ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร 

พุทธทำนายข้อที่ ๑๓
    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นศิลาแท่งทึบใหญ่ขนาดเรือนยอด ลอยน้ำเหมือนดังเรือ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินแม้นี้ ก็จักมีในกาลเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยว่าในครั้งนั้น พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมทั้งหลาย จักพระราชทานยศแก่คนไม่มีสกุล พวกนั้นจักเป็นใหญ่ พวกมีสกุลจักตกยาก ใครๆ จักไม่ทำความเคารพในพวกมีสกุลนั้น จักกระทำความเคารพในพวกที่เป็นใหญ่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำของกุลบุตรผู้ฉลาดในการวินิจฉัย ผู้หนักแน่น เช่นกับศิลาทึบ จักไม่หยั่งลงดำรงมั่นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระราชา หรือในที่ประชุมอำมาตย์ หรือในโรงศาล เมื่อพวกนั้นกำลังกล่าว พวกนอกนี้จักคอยเยาะเย้ยว่า พวกนี้พูดทำไม แม้ในที่ประชุมภิกษุ พวกภิกษุก็จักไม่เห็นภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้ควรทำความเคารพว่าเป็นสำคัญ ในฐานะต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งถ้อยคำของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่านั้น ก็จักไม่หนักแน่นมั่นคง จักเป็นเหมือนเวลาเป็นที่เลื่อนลอยแห่งศิลาทั้งหลายฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร  สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้อยคำของผู้ที่มีคุณสมบัติที่ควรจะได้รับความเชื่อถือ (ซึ่งถ้อยคำเหล่านั้นควรมีน้ำหนักมากประดุจแท่งหินใหญ่ ซึ่งควรจะจมน้ำ) กลับไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือจากผู้เป็นใหญ่ ประดุจว่าเป็นถ้อยคำที่ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ เหมือนแท่งหินใหญ่ที่ควรจะจมน้ำ แต่กลับถูกมองเหมือนกับว่าไม่มีน้ำหนัก จนลอยน้ำได้ ธัมมโชติ

พุทธทำนายข้อที่ ๑๔
    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นฝูงเขียดตัวเล็กๆ ขนาดดอกมะซาง วิ่งไล่กวดงูเห่าตัวใหญ่ๆ กัดเนื้อขาดเหมือนตัดก้านบัวแล้วกลืนกิน นี้เป็นสุบินข้อที่ 14 อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแห่งแม้สุบินข้อนี้ ก็จักมีในอนาคต ในเมื่อโลกเสื่อมโทรมดุจกัน ด้วยว่าในครั้งนั้น พวกมนุษย์จะมีราคะจริตแรงกล้า ชาติชั่ว ปล่อยตัวปล่อยใจ ตามอำนาจของกิเลส จักต้องเป็นไปในอำนาจแห่งภรรยาเด็กๆ ของตน ผู้คนมีทาสและกรรมกรเป็นต้นก็ดี สัตว์พาหนะมีโคกระบือเป็นต้นก็ดี เงินทองก็ดี บรรดามีในเรือนทุกอย่าง จักต้องอยู่ในครอบครองของพวกนางทั้งนั้น เมื่อพวกสามีถามถึงเงินทองโน้นๆ ว่าอยู่ที่ไหน หรือถามถึงจำนวนสิ่งของว่ามีที่ไหนก็ดี พวกนางจักพากันตอบว่า มันจะอยู่ที่ไหนๆ ก็ช่างเถิด กงการอะไรที่ท่านจะตรวจตราเล่า ท่านเกิดอยากรู้สิ่งที่มีอยู่ และไม่มีอยู่ในเรือนของเราละหรือ แล้วจักด่าด้วยประการต่างๆ ทิ่มตำเอาด้วยหอกคือปาก กดไว้ในอำนาจดังทาสและคนรับใช้ ดำรงความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของตนไว้สืบไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นเหมือนเวลาที่ฝูงเขียดขนาดดอกมะซาง พากันขยอกกินฝูงงูเห่า ซึ่งมีพิษแล่นเร็วฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็จักไม่มีแก่มหาบพิตรดอก

พุทธทำนายข้อที่ ๑๕
                    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นฝูงพญาหงษ์ทอง ที่ได้นามว่าทองเพราะมีขนเป็นสีทอง พากันแวดล้อมกา ผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม 10 ประการ เที่ยวหากินตามบ้าน อะไรเป็นผลแห่งพระสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคต ในรัชกาลของพระราชาผู้ทุรพลนั่นแหละ ด้วยว่าในภายหน้าพระราชาทั้งหลาย จักไม่ฉลาดในศิลปะ มีหัสดีศิลปะเป็นต้น ไม่แกล้วกล้าใน  การยุทธ ท้าวเธอจักไม่พระราชทานความเป็นใหญ่ ให้แก่พวกกุลบุตรที่มีชาติเสมอกัน ผู้รังเกียจความวิบัติแห่งราชสมบัติของพระองค์อยู่ จักพระราชทานแก่พวกพนักงานเครื่องสรงและพวกกัลบกเป็นต้น ซึ่งอยู่ใกล้บาทมูลของพระองค์ พวกกุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติและโคตร เมื่อไม่ได้ที่พึ่งในราชสกุล ก็ไม่สามารถเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ จักพากันปรนนิบัติบำรุงฝูงชนที่ไม่มีสกุล มีชาติและโคตรทราม ผู้ดำรงอิสริยยศ จักเป็นเหมือนฝูงพญาหงษ์ทองแวดล้อมเป็นบริวารกา ฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร

พุทธทำนายข้อที่ ๑๖
    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระสุบินถวายพระพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนๆ เสือเหลืองพากันกัดกินฝูงแกะ แต่หม่อมฉันได้เห็นฝูงแกะพากันไล่กวดฝูงเสือเหลือง กัดกินอยู่มุ่มม่ำๆ ทีนั้นเสืออื่นๆ คือเสือดาว เสือโคร่ง เห็นฝูงแกะอยู่ห่างๆ ก็สะดุ้งกลัว ถึงความสยดสยองพากันวิ่งหนี หลบเข้าพุ่มไม้และป่ารก ซุกซ่อนเพราะกลัวฝูงแกะ หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?
                    มหาบพิตร ผลแห่งสุบินแม้นี้ ก็จักมีในรัชกาลแห่งพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่าในครั้งนั้น พวกไม่มีสกุลจักเป็นราชวัลลภ เป็นใหญ่เป็นโต พวกคนมีสกุลจักอับเฉาตกยาก ราชวัลลภเหล่านั้นพากันยังพระราชาให้ทรงเชื่อถือถ้อยคำของตน มีกำลังในสถานที่ราชการ มีโรงศาลเป็นต้น ก็พากันรุกเอาที่ดินไร่นาเรือกสวนเป็นต้น อันตกทอดสืบมาของพวกมีสกุลทั้งหลายว่า ที่เหล่านี้เป็นของพวกเรา เมื่อพวกผู้มีสกุลเหล่านั้นโต้เถียงว่า ไม่ใช่ของพวกท่าน เป็นของพวกเรา แล้วพากันมาฟ้องร้องยังโรงศาลเป็นต้น พวกราชวัลลภก็พากันบอกให้เฆี่ยนตีด้วยหวายเป็นต้น จับคอไสออกไป พร้อมกับข่มขู่คุกคามว่า พ่อเจ้าไม่รู้ประมาณตน มาหาเรื่องกับพวกเรา เดี๋ยวจักไปทูลพระราชา ให้ลงพระราชอาญาต่างๆ มีตัดตีน ตัดมือ เป็นต้น
พวกผู้มีสกุลกลัวเกรงพวกราชวัลลภ ต่างก็ยินยอมให้ที่ทางที่เป็นของตน ว่า ที่ทางเหล่านี้ ถ้าเป็นของท่าน ก็เชิญครอบครองเถิด แล้วพากันกลับบ้านเรือนของตนนอนหวาดผวาไปตามๆ กัน แม้ภิกษุผู้ชั่วช้าทั้งหลายเล่า ก็จักพากันเบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักตามชอบใจ พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่านั้น ไม่ได้ที่พำนัก ก็พากันเข้าป่า แอบแฝงอยู่ในที่รกๆ ข้อที่กุลบุตรผู้มีชาติสกุลทั้งหลาย และภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักทั้งหลาย ถูกคนชาติชั่ว และถูกภิกษุผู้ลามกทั้งหลาย เข้าไปประทุษร้ายอย่างนี้ จักเป็นเหมือนกาลที่พวกเสือดาว และเสือโคร่งทั้งหลาย พากันหลบหนีเพราะกลัวฝูงแกะฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร ด้วยสุบินนี้ที่มหาบพิตรเห็นแล้ว ปรารภอนาคตทั้งนั้น แต่พวกพราหมณ์มิได้ทำนายสุบินนั้นด้วยความจงรักภักดีในพระองค์โดยถูกต้องเท่าที่ถูกที่ควร ทำนายไปเพราะอาศัยการเลี้ยงชีพ เพราะเห็นแก่อามิสว่า พวกเราจักได้ทรัพย์กันมากๆ
                    พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เลิกบูชายัญ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า เพราะพระสุบินเป็นปัจจัย ภัยยังไม่มีแก่มหาบพิตรดอก มหาบพิตรจงสั่งให้เลิกยัญเสียเถิด พระราชทานชีวิตทานแก่มหาชน.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น