วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัติวัดท้าวโคตร

ประวัติวัดท้าวโคตร                                                               
วัดท้าวโคตรเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1861 ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา สถานที่ตั้งวัดนี้เคยเป็นนิวาสสถานของพราหมณ์มาก่อน เท่าที่พอสืบค้นได้ปรากฏว่าแต่เดิมในบริเวณนี้วัดตั้งอยู่หลายวัด กล่าวคือ
วัดประตูทอง อยู่ทางด้านหลังสุดติดกับถนนพัฒนาการทุ่งปรังและวัดชายนา (ในปัจจุบันนี้)
2. วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) อยู่ทางด้านทิศเหนือ
3. วัดวา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดประตูทอง และทางทิศใต้ของวัดธาราวดี
4. วัดศรภเดิม หรือวัดศรภ อยู่ทางทิศใต้บริเวณรอบ ๆ เจดีย์
5. วัดท้าวโคตร
โดยวัดเหล่านี้ในภายหลังได้กลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด และมีผู้สันนิษฐานว่าในปี พ.ศ. 2452หรือประมาณ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453) พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากทรงนมัสการพระบรมธาตุฯแล้ว ทรงทราบเรื่องเทวาลัยที่วัดท้าวโคตรจึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวาลัยที่ยังเป็นหลักฐานอยู่ และในวโรกาสนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณที่ใกล้ ๆ กับวัดท้าวโคตรนั้น มีวัดเล็กวัดน้อยตั้งเรียงรายอยู่หลายวัดย่อมไม่สะดวกต่อการปกครองของคณะสงฆ์ และคงไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ จึงทรงรับสั่งให้ยุบวัดทั้งหลายรวมกันกับวัดท้าวโคตรเดิมให้เป็นวัดเดียวกันเสีย เรียกว่า วัดท้าวโคตรและทางราชการได้ออก ส.ค. 1 และโฉนดที่ดิน เลขที่ 9868 (พ.ศ. 2518) เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิ์ถือครอง (น้อม อุปรมัย, 2526) คำว่า วัดท้าวโคตรนั้น น้อม อุปรมัย ได้ให้ความเห็นว่า เป็นชื่อที่ประชาชนเรียกกันเองในฐานะเป็นกษัตริย์พระองค์แรก แต่ชื่อที่ปรากฏต่อมาที่นักประวัติศาสตร์เรียกตามพราหมณ์ในอินเดีย….ส่วนชื่อ วัดศรภนั้น คงสืบเนื่องมาจากการถวายพระเพลิงศพ พญาศรีธรรมโศกราชที่ 1 (น้อม อุปรมัย, 2526) ชื่อของพญาศรีธรรมโศกราชนั้นเป็นชื่อของกษัตริย์ที่สร้างเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
 สำหรับ วัดศภเดิมนั้น จากตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับชื่อนี้ว่า “…..อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อ สัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยพระยามหาเถรพรหมสุโยขอที่ตั้งเขตอาราม ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามระญาอุทิศถวายไว้นั้นได้ชื่อว่า วัดศรภเดิม”… และอีกตอนหนึ่งว่า “….อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรมศักราช 186 ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมาเป็นศรีมหาราชา แต่งพระธรรมศาลาทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัดศรภ มีพระบัณทุรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานสกา ศรีราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัดศรภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม 9 ยอด” (ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช)
เรื่องเล่าความเป็นมาของ วัดท้าวโคตรนั้น ราษฎรในบริเวณใกล้เคียงมีความเชื่อว่าเกี่ยวพันกับพระยาศรีธรรมาโศกราชและนางเลือดขาวซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในตำนานและนิทานพื้นบ้านของชาวใต้ สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับวัดท้าวโคตร เฉลียว เรืองเดช ได้เรียบเรียงไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 4 ดังนี้ พระยาศรีธรรมาโศกราชที่ 1 หรือชาวบ้านเรียกกันในฐานกษัตริย์ซึ่งทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพระองค์แรกว่า ท้าวโคตรได้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบเมือง มุมกำแพงทุกมุม ให้ตั้งตุ่มใบใหญ่ใส่น้ำเต็มตุ่มอยู่มิได้ขาด กันข้าวยากหมากแพง ฝังหลักเมืองไว้ในบริเวณดังกล่าว สำหรับเทวสถานและเทวลัยได้สร้างขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ตรงที่เรียกว่า วัดท้าวโคตรปัจจุบันไว้สำหรับประกอบศาสนกิจ ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ เทวาลัยที่ท้าวโคตรสร้างขึ้นนี้มีรูปพรรณสันฐานคล้ายปล้องกลมก่อด้วยอิฐโดยรอบ เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประยาวประมาณ 5 วา สูง 8 วา ตอนบนสุดไม่มียอด แต่มีฐานแยกขึ้นเป็นแท่นทางทิศตะวันออก สูงประมาณ 2 ศอก กว้างประมาณ 1 วา ตอนหน้าแท่นมีหินสีขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ 2 ศอก ยาวประมาณ 3 ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน ซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำที่พระพรหมบนสรวงสวรรค์ประทานลงมา ตรงกลางปล้องมีช่องกลมเล็กขึ้นไปจากฐาน มีบันไดอิฐจากฐานขึ้นถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6 ตารางวา ส่วนเหนือจากที่ทำเป็นแท่นกลายเป็นที่ว่าง ต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของท้าวโคตร เทวาลัยดังกล่าวยังปรากฏให้เห็น เมื่อถวายพระเพลิงแล้วบริเวณนั้นก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างมีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ ตัวเมืองแต่ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ เพียงแต่เว้นเป็นช่องทางเดินเข้าออกที่จะไปประกอบพิธีบนเทวาลัยเท่านั้นประมาณ พ.ศ. 1535 – 1592 ศาสนาพราหมณ์เสื่อมลงศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่บริเวณรอบ ๆ เทวสถานที่ไม่สำคัญก็ถูกชาวบ้านบุกรุกที่ทำกินและสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ส่วนเทวาลัยที่สำคัญๆ ชาวบ้านไม่กล้าแตะต้องดังนั้นศาสนาพุทธที่กำลังขยายตัวอย่างแรงกล้าก็เข้ามาแทนที่ ผู้เป็นหัวแรงในการสร้างกุฏิ วิหาร โรงธรรม อุโบสถ ขึ้นแทนตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่า คือ นางเลือดขาว นางได้ร่วมกับพุทธสนิกชน เป็นผู้สร้าง สถานที่ของศาสนาพราหมณ์ จึงกลายเป็นสถานที่ของศาสนาพุทธเกือบทั้งหมดแม้แต่เทวสถาน เทวาลัยที่วัดท้าวโคตรก็กลายเป็นวัด เรียกว่า วัดท้าวโคตรมีพระสงฆ์จำพรรษาและสร้างอุโบสถวิหารขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาส่วนเทวสถานที่ทำด้วยอิฐที่รูปเป็นปล้องสูง ดังกล่าวก็ยังเหลือให้เห็นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนที่ตั้งเป็นวัดท้าวโคตรก็อยู่ในวงแคบ คืออยู่ตรงบริเวณตอนหน้าและตอนหลังของเทวลัยที่เป็นปล้องสูงส่วนบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นส่วนของเทวสถานพราหมณ์ ชาวพุทธก็ชวนกันเข้าตั้งวัดกันเป็นการใหญ่อีกหลายวัด คือ วัดวา วัดประตูทอง วัดธาราวดี หรือ วัดไฟไหม้ที่ดินที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวาลัยกับบริเวณทางทิศเหนือเทวาลัยรวมกันเป็น วัดศรภเดิมใช้ที่ว่างตอนหลังเทวาลัยไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งวังของ นางเลือดขาวเจ้าแม่อยู่แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดศรภ” (สืบเนืองมาตั้งแต่มีการถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมโศกราชที่ 1) เมื่อนางเลือดขาวได้สร้างวัดพุทธสำเร็จ นางก็ลาจากวัดศรภไปเพื่อสร้างวัด และสาธารณสถานในที่อื่นอีก ก่อนออกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปนางให้รวมที่ตั้งวัดกับบริเวณวังเข้าเป็นสถานที่แห่งเดียวกันแล้วตั้งชื่อว่า วัดท้าวโคตรเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กษัตริย์ปฐมวงศ์ คือพญาศรีธรรมาโศกราชที่ 1 (ท้าวโคตร) ดังกล่าวแล้ว (เฉลียว เรืองเดช, 2529)
ในวรรณกรรมมุขปาฐะบางบท ได้ให้ภาพลักษณ์ของวัดสบที่แตกต่างไปจากในปัจจุบัน
เมืองคอนเหอ ใครห่อนเที่ยวจบ                     ปากตูวัดศรภ มีช้างล่อหัว
แก้มตูทาชาด หลังคาคาดกัว                              มีช้างล่อหัว ชะบุญ สมภารท่าน เหอ….
 จากการสัมภาษณ์ ดิเรก พรตะเสน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคดีชนวิทยา ได้ความว่าแต่เดิมนั้นในบริเวณวัดท้าวโคตรจะมีกำแพงอิฐอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และวิหาร โดยมีประตูอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และตกแต่งโดยทำเป็นรูปช้างโผล่หัวออกมาจากซุ้ม ต่อมาได้รื้อกำแพงดังกล่าวลงแล้วก่อเป็นกำแพงวัดใหม่ดังปรากฏในปัจจุบัน
หลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้แต่เดิมคงรู้จักกันในนามว่า วัดศรภเดิมโดยอาศัยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมวัดเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนเป็น วัดท้าวโคตรโดยโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ที่ปรากฏภายในเขตวัดมีการยืนยันวาเป็นของวัดสบเดิม อาทิ ชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี ได้อ้างถึงการสมภาษณ์กระจ่าง โชติกูล ว่าองค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่เป็นของวัดสบเดิม (ชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี, 2509 ) วิเชียร ณ นคร และคณะก็ได้กล่าวถึง องค์เจดีย์ในบริเวณวัดศรภนี้ ว่ารวมอยู่ในเขตวัดท้าวโคตรเช่นกัน (วิเชียว ณ นคร และคณะ, 2521)
โบราณวัตถุสถานที่สำคัญของวัดท้าวโคตร
ที่ตั้งแหล่งโบราณคดีวัดท้าวโคตร ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลักษณะและสภาพของโบราณคดีแห่งนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองโบราณนครศรีธรรมราช กับเมืองโบราณพระเวียง โดยตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณทั้งสองแต่เพียงเล็กน้อย ทางด้านทิศเหนือมีคลองสำคัญไหลผ่านคือคลองป่าเหล้า และทางด้านทิศไต้มีคลองสวนหลวงไหลผ่าน แต่เดิมในบริเวณนี้มีอยู่ 6 วัด คือ วัดศรภเดิม วัดวา วัดธาราวดี วัดประตูทอง และวัดท้าวโคตร จนในที่สุดจึงมีการรวมเป็นวัดเดียวกัน คือวัดท้าวโคตรในปัจจุบัน
การดำเนินงานทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เมื่อปี 2509 รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้นำนักศึกษาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาสำรวจในโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เช่นเดียวกัน
หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายอย่างคือ
1. สถูป มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า สถูปวัดศรภเดิมหรือ สถูปวัดท้าวโคตรหรือ เจดีย์วัดท้าวโคตรในขั้นต้นฐานของพระปรางค์ชำรุด คือเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมทุกด้าน ขนาดกว้าง 13.30 เมตร ยาว 13.30 เมตร เฉพาะทางด้านทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกไปประมาณ 5 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดพระมหาธาตุ วัดเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แต่ตอนบนของฐาน ของพระปรางค์ ในวัดท้าวโคตรแห่งนี้ ได้ปรากฏร่องรอยว่ามีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นในองค์ระฆังของสถูปทรงกลม ก่ออิฐ รอบ ๆ สถูปหรือเจดีย์องค์นี้มีเจดีย์บริวารอยู่ 4 องค์ แต่มีผู้ได้ขุดทำลายเสียหาย ภายหลังกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเจดีย์เหล่านี้ได้พบพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากในเจดีย์เหล่านั้น สถูปองค์นี้มีอายุระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 19
พระพิมพ์ ที่พบจากกรุพระเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงคล้ายแบบศรีวิชัย พระพิมพ์ของวัดท้าวโคตรที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายคือ พระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอด ลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นแผ่นค่อนข้างบาง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้วใต้ปรกโพธิ์ มีพระโมคคัลลานและสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวาพนมมือแสดงคารวะ ใต้อาสนะมีรากษสแบกฐาน 3 ตน ขอบด้านขวามีต้นไม้ 2 ต้น ด้านซ้าย 1 ต้น อีกแบบหนึ่งเป็นพระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอดเช่นเดียวกัน ผิวแตกระเบิด ทำเป็นองค์เดียว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฐานราบลงทองล่องชาด อยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดตรีศูล พระพิมพ์กรุวัดท้าวโคตรทั้ง 2 แบบนี้เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช
2. อุโบสถ หลังเก่าซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 แต่สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นในสมัยหลังทั้งสิ้น ทั้งกำแพง ผนังและโครงสร้างหลังคา คงมีแต่พระพุทธรูปปางมารวิชัยและใบเสมาเก่ารอบอุโบสถเท่านั้น ที่พอจะยืนยันถึงอายุสมัยได้ว่าคงสร้างขึ้นราวสมัยรัตนโกสินทร์ต้อนต้นหรือสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือขององค์เจดีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอุโบสถหลังหนึ่งที่มีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงคงจะยังเหลืออยู่เฉพาะส่วนฐานของพระอุโบสถที่มีอิฐวางเรียงรายออกพ้นมาจากตัวอาคาร จึงได้มีการสร้างหลังคาไม้และผนังก่ออิฐขึ้นมาใหม่ลงบนอุโบสถเดิม อุโบสถหลังเดิมน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
ลักษณะของอุโบสถเป็นเนินดินสูงกว่าระดับข้างเคียง 1 เมตร เป็นอาคารทรงไทย ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 23 เมตร 33 เซนติเมตร ภายในมีขนาด 7 ห้อง มีเสาภายใน 5 คู่ ด้านหน้า 2 ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ 2 เมตร ช่องบนเป็นเสาขึ้นรับเชิงชาย ระหว่างเปิดผนังมีช่อง มีบานเหลือไม้กั้นเป็นช่องลม หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลม
ด้านหน้ามีประตู 4 บาน สร้างซุ้มประตูเป็นทรงโค้งครึ่งวงกลมมีเสาประดับกรอบประตู คล้ายประตูกำแพง ด้านข้างทิศเหนือใกล้องค์พระประธานมีประตู 1 บาน ด้านหลังพระประธานไม่มีประตู ก่อเป็นผนังทึบไปถึงเชิงชายด้านบน
พระพุทธรูปในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยซึ่งเป็นองค์พระประธานในอุโบสถหลังนี้ มีขนาดหน้าตัก 183 นิ้ว สูงประมาณ 195 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ คงจะสร้างพระพุทธรูปพร้อมกันกับการสร้างอุโบสถขึ้นเป็นครั้งแรก มีการบูรณะเพียงเล็กน้อยที่องค์พระ พระพุทธรูปองค์พระประธานองค์นี้เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช มีลักษณะพระพักต์คล้ายกันกับพระประธานที่วิหารวัดสบเดิม และที่วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุฯ มีอายุอยู่ระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
3. จิตรกรรม เป็นภาพจิตรกรรมที่ได้สร้างสรรค์เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เขียนลงบนไม้กระดานคอสอง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ขนาดภาพกว้าง 37 เซนติเมตร ยาว 56 เซนติเมตร ประดับไว้ที่เสายาวข้างละ 5 ต้น ด้านซ้ายและด้านขวาของด้านหน้าพระประธานในอุโบสถสูงจากพื้นประมาณ 3 เมตร เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาดก จำนวน 40 ภาพ คงจะได้รับการสร้างสรรค์เขียนขึ้นในคราวที่มีการสร้างหลังคาของอุโบสถแทนของเดิมที่ปรักหักพังลงไป อายุประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมา4. ใบเสมา ทางด้านนอกของอุโบสถ มีใบเสมาตั้งอยู่บนฐานทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาสูงประมาณ 140 เซนติเมตร ในเสมาเหล่านี้สลักด้วยหินทราย สลักด้วยแบบเดียวกันทั้งสองด้าน ส่วนฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมพื้นผ้า ถัดจากฐานขึ้นไปมีลักษณะคอดกิ่ว แล้วค่อย ๆ ผายออกทางด้านบน แล้วค่อย ๆ โค้งมนเป็นส่วนยอดที่มีปลายแหลมคล้ายใบโพธิ์ ภายในสลักด้วยลวดลายพรรณพฤกษา อาจจะศึกษาเปรียบเทียบกันได้กับใบเสมาในศิลปะอู่ทองที่ค้นพบในภาคกลางของประเทศไทยและกำหนดให้มีอายุอยู่ในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
5. เนินโบราณสถานด้านหน้าองค์สถูปหรือเจดีย์ (วิหาร) บริเวณเนินโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์เจดีย์ (ทางทิศตะวันออก) ไม่ทราบขนาดที่แน่นอน วิหารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในครั้งแรกในคราวที่นางเลือดขาวสร้างวัดศภเดิม(วัดศรภเดิม) ภายในวิหารหลังนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประทับนั่ง 3 องค์ องค์พระประธานมีหน้าตักกว้าง 81 นิ้ว สูง 103 นิ้วและองค์พระพุทธรูปทั้งสองข้าง มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 26 นิ้ว วิหารหลังเก่าได้พังทลายลงไป และได้มีการวิหารขึ้นมาหลายครั้งด้วยกัน วิหารหลังปัจจุบันนี้ชาวพุทธได้รวบรวมเงินสร้างขึ้นมามีขนาดกว้าง 4.10 เมตร ยาว 5 เมตร อายุพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยทั้ง 3 องค์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
6. ระฆัง เป็นระฆังโบราณของวัดท้าวโคตร มีอายุประมาณ 463 ปี ระฆังใบนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2083 วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเททองหล่อพระพุทธรูป 30 องค์ ที่วัดศรภเดิมหรือวัดท้าวโคตรในปัจจุบันนี้
ขนาดของระฆังโบราณใบนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 51 เซนติเมตร สูง 91 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 4 - 5 คนยก เนื้อสำริดระฆังโบราณใบนี้เป็นระฆังประจำวัดท้าวโคตร ใช้ตีบอกสัญญาณเวลาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น สวดมนต์ทำวัตรเช้า สวดมนต์ทำวัตรเย็น และพิธีกรรมอื่น ๆ ของวัด ระฆังโบราณใบนี้ไม่ทราบว่าหอระฆังเดิมทีนั้นตั้งอยู่ที่ตรงไหนของวัดท้าวโคตรนี้ แต่มีเรื่องเล่าว่ามีโจรมาขโมยระฆังโบราณใบนี้หลายครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถนำเอาระฆังโบราณใบนี้ไปได้ ครั้งหลังสุดได้มีคนมาขโมยระฆังโบราณอีก ปรากฏว่าระฆังใบนี้ตกใส่เท้าได้รับบาดเจ็บก็ไม่สามารถนำเอาระฆังโบราณใบนี้ไปได้อีก ต่อมาพระครูอุดมสมถกิจอดีตเจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร ได้นำเอาระฆังใบนี้มาไว้ในกุฏิเจ้าอาวาสจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ลำดับเจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร มีดังนี้
1. …………………………………………………
2. …………………………………………………
3. …………………………………………………
4. …………………………………………………
5. พระปลัดแป้น เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. ……ถึง พ.ศ. 2480
6. พระครูอุดมสมถกิจ เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2523
7. พระครูวิจิตรบุญสาร เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2539
8. พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2539 ถึง ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น