วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อานิสงส์ของปัญญา


อานิสงส์ของปัญญา
ปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาที่ในโลกุตตรจิต ซึ่งมีอานิสงส์ ดังต่อไปนี้
๑. กำจัดกิเลสต่าง ๆ ให้เป็นสมุจเฉทได้โดยสิ้นเชิง
๒. เสวยรสแห่งอริยผล คือ ตั้งอยู่ในผลสมาบัติได้
๓. เข้านิโรธสมาบัติ คือ ดับจิตและเจตสิกได้
๔. ควรแก่การต้อนรับ บูชา ของมนุษย์และเทวดา
๑. กำจัดกิเลส อะไรได้บ้างนั้น ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้ว ในที่นี้จะขอกล่าวเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า การกำจัดกิเลสจนเป็นสมุจเฉทนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของมัคคญาณ คือ ปัญญาในมัคคจิตโดยเฉพาะ แต่ว่าได้เริ่มกำจัดหรือเริ่มประหาณกิเลสเรื่อยมาตั้งแต่ภังคญาณอันเป็นญาณที่ ๕ แห่งโสฬสญาณนั้นแล้ว กิเลสต่าง ๆ ก็เริ่มอ่อนกำลังลงตามลำดับ ครั้นมาถึง มัคคจิต กิเลสนั้น ๆ จึงดับสนิทพอดี มัคคจิตจะปรากฏขึ้นมาก็ด้วยอำนาจแห่งญาณต่าง ๆ เป็นปัจจัย ญาณต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นได้ เพราะ
การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นหัวใจให้ถึงมัคคถึงผล
การเจริญสติปัฏฐานก็เพื่อให้สติตั้งมั่นในอารมณ์กัมมัฏฐาน ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันนั้น ไม่คิดย้อนหลังไปถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่คิดล่วงหน้าไปถึงอารมณ์ที่ยังไม่มีมา อันจะเป็นเหตุให้เกิด อภิชฌา และโทมนัส ผู้ปฏิบัติจึงจะต้องระวังให้จงหนัก อย่าให้อภิชฌา และโทมนัส อาศัยเกิดขึ้นในอารมณ์เหล่านั้นได้ เช่นเกิดมีธรรมที่ไม่ดีไม่ชอบใจมาปรากฏขึ้น ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะพยายามไม่รับอารมณ์นั้น เพราะอยากจะรับแต่อารมณ์ที่ดีที่ชอบใจ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีมาถึงเลย ครั้นเมื่ออารมณ์ที่ดีที่ชอบใจเกิดขึ้น ก็พยายามที่จะรักษาอารมณ์นั้นไว้ อย่างนี้ไม่ชื่อ
ว่าเข้าถึงสติปัฏฐาน เพราะยังมีความยินดียินร้ายอยู่ คือยังมีอภิชฌาและโทมนัสอยู่ จึงยังไม่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา ข้อสำคัญ ต้องมีสติกำหนดอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า คือ ในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น จึงจะปิดกั้นอภิชฌาและโทมนัสได้ เมื่ออารมณ์อะไรปรากฏขึ้น ก็กำหนดเพ่งเฉพาะอารมณ์นั้น จนกว่าจะเกิดปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นรูป เป็นนาม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในการที่ไม่เห็นว่ารูปนามเป็นอนิจจังนั้น ก็เพราะสันตติปิดบังไว้ ที่ไม่เห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์ก็เพราะว่าอิริยาบถปิดบังไว้ ที่ไม่เห็นว่ารูปนามเป็นอนัตตา
ก็เพราะว่าฆนสัญญา ความที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนปิดบังไว้ จึงสำคัญไปว่า เป็นตัวเป็นตนขึ้น คือ มีสักกายทิฏฐินี้แหละที่เป็นพืชพันธุ์ให้เกิดมิจฉาทิฏฐิอื่น ๆ อีกมากมาย
 ๒. การเสวยรสแห่งอริยผล คือ ตั้งอยู่ในผลสมาบัติได้ เป็นการเข้าอยู่ในอารมณ์พระนิพพาน ที่ได้มาจากอริยผลญาณอันบังเกิดแล้วแก่ตน เพื่อเสวยโลกุตตรสุข ซึ่งเป็นความสงบสุขที่พึงประจักษ์ได้ในปัจจุบัน อันมี
ความหมายดังนี้
(๑) ปรารภจะเสวยซึ่งความสงบสุขในผลสมาบัติ
(๒) ไม่มีนิมิต รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์
(๓) ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์แต่อย่างเดียว
(๔) กำหนดเวลาเข้า เวลาออก ด้วยการอธิฏฐาน
(๕) เมื่อยังไม่ครบกำหนดเวลาออก ก็คงตั้งอยู่ในผลสมาบัติ
(๖) เวลาเข้าก็เจริญวิปัสสนา เริ่มแต่อุทยัพพยญาณ จนอนุโลมญาณ ดับอารมณ์จากโลกีย์แล้วถึงผลญาณได้พระนิพพาน เป็นอารมณ์ตลอดไปจนครบกำหนดเวลาออก ตามที่ได้อธิษฐานไว้ ที่มัคคจิตไม่เกิด ก็เพราะเหตุว่า แรงอธิฏฐานน้อยไปในผลสมาบัติ ปรารถนาทิฏฐธัมมสุขวิหาร อยู่ในธรรมที่สงบสุขในปัจจุบันชาตินี้
บุคคลที่เข้าผลสมาบัติได้ต้องเป็นพระอริยเจ้า คือเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ส่วนปุถุชนจะเข้าผลสมาบัติไม่ได้เลยเป็นอันขาด พระอริยเจ้าที่เข้าผลสมาบัติ ก็เข้าได้เฉพาะอริยผลที่ตนได้ตนถึงครั้งสุดท้ายเท่านั้น แม้อริยผลที่ตนได้และผ่านพ้นเลยมาแล้ว ก็ไม่สามารถจะเข้าได้ กล่าวคือ พระโสดาบัน เข้าผลสมาบัติได้เฉพาะ โสดาปัตติผล พระสกทาคามี เข้าผลสมาบัติได้เฉพาะ สกทาคามิผลเท่านั้น จะเข้าโสดาปัตติผลที่ตนเคยได้เคยผ่านพ้นมาแล้วนั้น ก็หาได้ไม่
ในทำนองเดียวกัน พระอนาคามี ก็เข้าผลสมาบัติได้เฉพาะ อนาคามิผลอย่างเดียว พระอรหันต์ ก็เข้าผลสมาบัติได้แต่อรหัตตผลโดยเฉพาะ เช่นเดียวกัน

พระอริยสุกขวิปัสสกเข้าผลสมาบัติได้หรือไม่
ได้เกิดปัญหาว่า ผู้ที่ได้มัคคผลคือพระอริยบุคคลนั้น สามารถเข้าสมาบัติได้ทุกท่านหรือหาไม่ หรือว่าเข้าผลสมาบัติได้เฉพาะพระอริยบุคคลผู้ที่ได้ฌานด้วยเท่านั้น มีหลักฐานแสดงไว้ใน ปัญญาภาวนานิสังสนิทเทส แห่ง วิสุทธิมัคคปกรณ์ ว่า
๑. สพฺเพปิ ปุถุชฺชนา น สมาปชฺชนฺติ กสฺมา อนธิคตตฺตา ฯ
ปุถุชนแม้ทั้งหมดเข้าผลสมาบัติไม่ได้ เพราะเหตุว่า ปุถุชนเหล่านั้น ไมได้บรรลุ มรรค ผล
๒. อริยา ปน สพฺเพปิ สมาปชฺชนฺติ กสฺมา อธิคตตฺตา ฯ
ส่วนพระอริยบุคคล แม้ทั้งหมด ย่อมเข้าผลสมาบัติได้ เพราะเหตุว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้น บรรลุ มรรค ผลแล้ว
ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ก็มี ในวิสุทธิมัคค ก็มีว่า
กา ผลสมาปตฺตีติ ยา อริยผลสฺส นิโรเธ อปฺปนา
อัปปนาในเพราะความดับแห่งอริยผลอันใด อันนั้นแหละเรียกว่า ผลสมาบัติ
เก ตํ สมาปชฺชนฺต พวกไหนเข้าได้ เข้าได้เพราะเหตุใด
เก น สมาปชฺชนฺติ พวกไหนเข้าไม่ได้ เข้าไม่ได้เพราะใด
อริยา ปน สพฺพปิ สมาปชฺชนฺติ พระอริยเข้าได้ทุกจำพวก เพราะท่านได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานแล้ว
สพฺเพปิ ปุถุชฺชนา น สมาปชฺชนฺติ ปุถุชนทุกจำพวกเข้าไม่ได้ เพราะตนไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน การเข้าผลสมาบัตินั้นจะต้องเข้าด้วยกำลังของวิปัสสนาปัญญา ลำพังแต่สมถะอย่างเดียวก็เข้าผลสมาบัติ
ไม่ได้ เข้าได้แต่ฌานสมาบัติอย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้นการเข้าผลสมาบัติ จึงต้องเป็นผู้ที่เคยได้ฌานมาแล้ว และทั้งเป็นผู้ที่เคยได้วสีมาแล้วในการเข้าฌานสมาบัติ แล้วมาเจริญวิปัสสนาได้สำเร็จมัคคผล ซึ่งเรียกว่า
โลกุตตรธรรมนั้น แล้วจึงเข้าสมาบัติด้วยผลจิตได้
แม้จะถือหลักว่า พระอริยผู้นั้นจะต้องเคยได้ฌานมาแล้ว เป็นประการสำคัญ จึงจะเข้าผลสมาบัติได้ก็ดี ก็คงเห็นว่า ลงได้เป็นพระอริยแล้ว ก็เข้าผลสมาบัติได้ทั้งนั้น เพราะแม้ว่าพระอริยผู้นั้นจะไม่ได้เจริญสมถภาวนา
มาก่อน ไม่เคยได้ฌานมาก่อนก็ตามที แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาจนถึงมัคคญาณ มัคคจิตนั้นต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นองค์ของปฐมฌานโดยบริบูรณ์อย่างพร้อมมูลเสมอไป เหตุนี้โลกุตตรจิต จึงย่อมประกอบด้วยปฐมฌานอย่างแน่นอน ดังมีหลักฐานใน อัฏฐสาลินีอรรถกถา ซึ่งได้อ้างมาข้างต้นครั้งหนึ่งแล้วว่า
วิปสฺสนานิยาเมน สุกฺขวิปสฺสกสฺส อุปฺปนฺนมคฺโคปิ ปฐมชฺฌานิโก โหติ ฯ
ตามธรรมเนียมของวิปัสสนา มีหลักอยู่ว่า มัคคที่เกิดขึ้นแก่ท่านที่เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ ก็ย่อมประกอบด้วยปฐมฌานฯ
อนึ่งตามนัยแห่งอริยสัจจ ๔ ตอนที่แสดงมัคคอริยสัจจก็กล่าวไว้ว่า อริยมัคคนั้นเป็นสมถะด้วยเป็น
วิปัสสนาด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ๒ องค์นี้ สงเคราะห์ด้วยวิปัสสนา ยาน(พาหนะ)เครื่องนำไปคือวิปัสสนาที่เหลืออีก ๖ องค์ อันได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
และสัมมาสมาธิ นั้นสงเคราะห์ด้วยสมถะ ยาน(พาหนะ)เครื่องนำไปคือสมถะ พระอริยสาวกท่านเว้นส่วน ๒ คือ เว้นกามสุขัลลิกานุโยค ด้วยวิปัสสนายาน และเว้นอัตตกิลมถานุโยค ด้วยสมถยาน ดำเนินไปไต่ไปยัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น