วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคและวิธีการเผยแผ่ธรรมะที่แท้จริง

เทคนิคและวิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้ากับบทบาทพุทธทาสภิกขุในการสืบทอดพระศาสนา

                               นับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมนาสัมพุทธเจ้า จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2,600 ปี ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีของการตรัสรู้ในปี 2555     หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์หาได้เสื่อมสูญหรือผุกร่อนไปตามกาลเวลาเหมือนกับสังขารหรือสรรพสิ่งใดๆที่มีเกิดมีดับเป็นอนิจจัง
               นี่ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นนิรันดร์แห่งสัจจธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งอยู่เหนือกาล เวลา ไม่มีเก่า ไม่มีล้าสมัย ไม่ว่าวันเดือนปีจะล่วงผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
              ไม่น่าเชื่อว่า กาลอดีตเมื่อ 2,600 กว่าปีที่ยุคสมัยนั้น สังคมโลกยังไม่ได้เจริญทางด้านวัตถุ เทคโนโลยี สาธารณูปโภค รวมทั้งองค์ความรู้ว่าด้วยศาสตร์ทั้งหลาย ก็ยังไม่มีนักคิด นักเขียน นักทฤษฎี ตลอดจนอุปกรณ์การศึกษา สมุด ดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ ก็ไม่มีใครประดิษฐ์คิดค้นจัดทำขึ้นมา แต่ผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นศาสดาของชาวพุทธกลับมีสติปัญญา มีพระปรีชาญาณอันล้ำลึกเหนือคำบรรยาย สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งอันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์
               หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนพระธรรมอย่างไร?
               เป็นคำถามที่ชาวพุทธและชาวโลกที่มิได้นับถือศาสนาพุทธต่างก็อยากจะรู้
               พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต)ได้ศึกษาค้นคว้าจนพบคำตอบและได้นำมาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ เทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า จัดพิมพ์โดยมูลนิธิพุทธธรรม ปี 2531
               รายละเอียดที่สำคัญ มีดังนี้
                เทคนิคและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมอันหลากหลายของพระพุทธเจ้า กระทำผ่านการตรัสสอน ดังนี้

1.จุดมุ่งหมายในการสอนของพระพุทธเจ้า มี 3 ประการ คือ   

2
              
              1.ทรงสอนให้ผู้ฟัง รู้ยิ่งเห็นจริง ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น หมายความว่า ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงเฉพาะเท่าที่จำเป็นสำหรับสาวกนั้นๆ สิ่งใดที่ทรงรู้แล้ว แต่เห็นว่าไม่จำเป็นสำหรับผู้ฟัง หรือผู้รับการสอน ก็ไม่สอนสิ่งนั้น ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงเฉพาะเท่าที่รู้และจำเป็นเท่านั้น
               2.ทรงสั่งสอนให้ผู้ฟังตรองตามเห็นจริงได้ ทรงแสดงธรรมอย่างมีเหตุผลที่ผู้ฟังพอไตร่ตรองตามให้เห็นด้วยตนเอง
               3.ทรงสอนให้ผู้ฟังได้รับผลตามสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติของตน ทรงแสดงธรรมะมีคุณเป็นอัศจรรย์ สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผลตามสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติตน

2.หลักการสอนของพระพุทธเจ้า
               พระพุทธเจ้า พระองค์จะทรงสอนใคร ทรงดูว่าบุคคลแต่ละคนนั้นอยู่ในระดับไหน ทรงคำนึงถึงบุคคล 4 ประเภท คือ
              1.ผู้สามารถรู้ได้อย่างฉับพลัน เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดงก็อาจรู้ได้ทันที
              2.ผู้สามารถรู้ได้เมื่อ อธิบายความอย่างละเอียดแล้วซักถามทบทวน
              3.ผู้สามารถเข้าใจได้ เมื่ออธิบายความอย่างละเอียดแล้วซักถามทบทวน
              4.ผู้ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ที่ลึกซึ้ง และมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง
              ในการแสดงธรรม พระองค์จึงทรงใช้หลักการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลประเภทต่างๆ โดยคำนึงถึงตัวผู้เรียนและเนื้อหา หรือเรื่องที่สอนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับหลักการทั่วๆไป

3.เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่ทรงสอนของพระพุทธเจ้า
                 ในการสอนแต่ละครั้ง นอกจากพระองค์จะทรงดูนิสัย หรือระดับภูมิปัญญาแล้ว เนื้อหาหรือเรื่องที่จะทรงสอนนั้นก็ต้องคำนึงด้วย ซึ่งเนื้อหาที่จะทรงสอนนั้น พระองค์มีหลัก 7 ประการ คือ
                 1. สอนจากสิ่งที่รู้เห็น เข้าใจง่าย หรือรู้เห็น เข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่รู้เห็น หรือเข้าใจยากหรือยังไม่รู้เห็น ไม่เข้าใจ
                2. สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และความต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป
                3. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ พึงสอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเอง อย่างที่เรียกว่าประสบ การณ์โดยตรง
                4.สอนตรงเนื้อหา ตามเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกอนกเรื่องโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเนื้อหา
                5. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่า สนิทาน

3
                 
                  6.สอนเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล  ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่า ผู้สอนมีความรู้มาก
                 7.สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง

4.เกี่ยวกับตัวผู้เรียน
                 เกี่ยวกับตัวผู้เรียนนี้คล้ายกับเนื้อหา หรือเรื่องที่พระองค์ทรงสอน พระองค์จะสอนใครนั้น ต้องดูก่อนว่า มีความพร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ หรือคนไหนมีความรู้ระดับไหน พระองค์ก็จะปรับความยากง่ายให้เข้ากับบุคคลนั้น พระองค์จะรู้ว่าบุคคลนั้นมีนิสัย หรือจริตในทางใด (รู้ด้วยทศพลญาณ) พระองค์ก็จะสอนตามนั้น
                 เกี่ยวกับตัวผู้เรียน แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้คือ
                 1.รู้ คำนึงถึง และสอนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น บุคคล 4 ประเภท เป็นต้น
                 2.ปรับวิธีสอน ผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี
                 3.นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ หรือญาณ ที่บาลีเรียกว่า ปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นรายๆไปด้วย
                 4.สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจชัดเจน แม่นยำและได้ผลจริง
                  5.การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่า ผู้เรียนกับผู้สอนมีบทบาทร่วมกันในการแสวงหาความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบโดยเสรี หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญาซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่า ตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง
                  6.เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆไป ตามสมควรแก่กาลเทศะ และเหตุการณ์
                 7.ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่ไม่มีปัญญา เช่นเรื่อง จูฬปันกถะ

5.เกี่ยวกับตัวผู้สอน
                
4
                
                  ภาพรวมของผู้สอนซึ่งหมายถึงนักเผยแผ่พุทธธรรมทุกรูป และก็รวมไปถึงการสอนของพระพุทธเจ้าด้วย ในการสอนหรือเผยแผ่ธรรมทุกครั้ง ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงผู้สอนในฐานะ ผู้นำเสนอและผู้เรียนตามหลัก 5 ประการ ดังนี้ คือ
                  1.ในการสอนนั้น การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจ และนำเข้าสู่เนื้อหาได้
                  2.สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว
                  3 สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งนกตน ไม่มุ่งเสียดสีใครๆ
                  4.สอนโดยเคารพ คือตั้งใจสอน ทำจริง ด้วยความรู้สึกว่า เป็นสิ่งมีคุณค่า มองเห็นความสำคัญของผู้เรียน และงานสั่งสอนนั้นไม่ใช่สักว่าทำ หรือเห็นผู้เรียนโง่เขลา หรือเห็นเป็นคนชั้นต่ำๆ
                 5.ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจ สละสลวย เข้าใจง่าย

6.ลีลาการสอนของพระพุทธเจ้า
             การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้งมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่า เป็นลีลาในการสอน มี 4 ประการ ดังนี้คือ
            1.อธิบายให้เห็นชัดเจน แจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดู เห็นกับตา
            2.ชักจูงใจให้เห็นจริง ด้วยชวนให้คล้อยตามจนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ
             3.เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จ ทนต่อความเหนื่อยยาก
             4.ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะเห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ

7.วิธีการสอนแบบต่างๆของพระพุทธเจ้า
                  วิธีการสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายวิธี แต่ที่พบบ่อยได้แก่วิธีต่อไปนี้
                   1.แบบสากัจฉา หรือสนทนาโดยใช้วิธีถามคู่สนทนาเข้าสู่ความเข้าใจธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาในที่สุด
                    2.แบบบรรยายธรรม จะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งจะมีประชาชนหรือพระสาวกเป็นจำนวนมาก
5

                    3.แบบตอบปัญหา ในการตอบปัญหา พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหาและใช้วิธีตอบให้เหมาะกัน
                   4.การวางกฎข้อบังคับ โดยใช้วิธีการกำหนดหลักเกณฑ์ กฎ และข้อบังคับให้พระสาวก หรือสงฆ์ปฏิบัติ หรือยึดถือตัวด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน

8.เทคนิคและวิธีการสอนของพระพุทธองค์
                  จากการศึกษารวรวมจากเอกสารหรือหนังสือต่างๆ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้สรุปเทคนิคและวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้ คือ
                  1.การยกอุทาหรณ์และการเล่านิทานประกอบ การยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน
                  2.การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปไมย ทำให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยากปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น
                 3.การใช้สื่อธรรมชาติใกล้ตัว ทำให้รู้จัก เข้าใจง่ายเป็นอุปกรณ์การสอน
                  4.การทำเป็นตัวอย่างหรือสาธิตให้ดู วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง
                  5.การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถในโวหารธรรมหรือการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ไหวพริบ   
                  6.อุบายการเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้แก่การเริ่มต้นที่บุคคลซึ่งเป็นประมุข หรือหัวหน้าของชุมชนนั้นๆซึ่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะไม่ทอดทิ้งคนส่วนมาก ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ในการฟังธรรมตามกำลังของตน
                 7.การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้สอนต้องรู้จักใช้จังหวะและและโอกาสเพื่อรอความพร้อมของผู้รับฟังทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสอนธรรมะอย่างได้ผล
                 8.การยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ลดละตัณหา มานะทิฎฐิเสียให้น้อยที่สุด ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ มีการทั้งการยกย่อง การข่ม กการปลอบประโลมหรือโอนอ่อนผ่อนตาม ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “เราย่อมฝนด้วยวิธีอ่อนละมุนละไมและทั้งรุนแรงปนกันไปบ้าง”
                  9.การลงโทษและการให้รางวัล การลงโทษในที่นี้คือ การลงโทษตนเองซึ่งมีทั้งในทางธรรมและวินัยอยู่แล้ว มีบทบัญญัติความประพฤติอยู่แล้ว การให้รางวัล คือการแสดงธรรมไม่กระทบกระทั่ง ไม่รุกรานใคร เป็นต้น

6
                
                 10.กลวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นต่างครั้งต่างคราว ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปไม่มีที่สิ้นสุด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมต้องอาศัยปฎิภาณ ไหวพริบ คือความสามารถในการประยุกต์หลัก วิธีการ และเทคนิควิธีการต่างๆมาใช้ให้เหมาะสม เป็นเรื่องเฉพาะคราวไป
                 สรุปได้ว่า หลักนิเทศศาสตร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้สอดคล้องกับเทคนิคและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ จะทรงตั้งจุดมุ่งหมายในการสอนว่า ทรงกำหนดจุดมุ่งหมายแต่ละครั้งเพื่อ
อะไร แล้วก็ทรงเตรียมเนื้อหาหรือเรื่องเรื่องที่จะทรงสอนไปตามลำดับความยากง่ายไปพร้อมๆกับ ทรงคำนึงถึงตัวผู้รับการสอน หรือผู้รับสารด้วยว่า เขาจะสามารถเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้และสนใจเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น
              ทั้งนี้ เทคนิคและวิธีการสอนก็หลากหลายรูปแบบและวิธีการดังกล่าวแล้ว จึงทำให้ในระยะแรกที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนานั้น มีบุคคลในทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสศรัทธาอุปสมบทตาม และสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จำนวนมาก ดังที่ปรากฏในพุทธประวัติแล้ว ถึงแม้บางคนจะมิได้อุปสมบทก็ตาม แต่ก็ได้น้อมนำหลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตที่สุขสงบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวมาสู่ชุมชนและสังคม ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรตลอดมา

พุทธทาสภิกขุ : บุคคลสำคัญของโลก
                   สำหรับประเทศไทย เมื่อย้อนหลังกลับไปก่อนปี 2482 ประเทศไทยชื่อว่าสยาม เป็นดินแดนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับนับถือศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติมาช้านานนับแต่กรุงสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
                 ในบรรดาภิกษุทั้งหลาย ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาที่มีจำนวนมากนั้น พระธรรมโกศาจารย์ หรืออีกนามหนึ่ง พุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลารามที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้มีบท บาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญและโดดเด่นที่สุด
ประวัติพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )
               พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) รู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ  (   27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 – 8 กรกฎาคม พ.ศ.2536) เป็นชาวอำเภอไชย เกิดเมื่อปี  พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานครจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เลย    ท่านจึงตัดสินใจหัน
7

หลังกลับ มาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง     พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด
                 การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
                 ระยะต้น หมายถึงระยะที่ได้เข้ามาอุปสมบท ได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางด้านภาษาบาลีจนได้เปรียญธรรม 3 ประโยคและเข้าไปอยู่สวนโมกข์ ( พุมเรียง ) ระหว่าง พ.ศ. 2496 – 2485
                 ระยะกลาง  หมายถึงระยะที่ได้ย้ายจากสวนโมกข์( พุมเรียง )และเข้าไปอยู่สวนโมกข์ ( ไชยา )ระหว่างพ.ศ.2486 - 2529
                 ระยะปลาย ระยะที่ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกศาจารย์ ( เจ้าคุณชั้นธรรม ) จนกระทั่งมรณ ภาพ ระหว่างพ.ศ. 2530 - 2536
                 พระไพโรจน์ อตุโล (สมหมาย) แห่งวัดน้ำตก ตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำแหน่งปัจจุบัน ครูสอนพระปริยัติธรรม ครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์บทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)ซึ่งเป็นงานวิชาการที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยการศึกษาค้นคว้า ได้ใช้ข้อมูลจากพระไตรปิฎก เทปบรรยายธรรม เอกสาร สิ่งพิมพ์ บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
               
                รายละเอียดของงานวิชาการที่น่าสนใจ ขอนำเสนอบางส่วน ดังนี้
                  พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสพภิกขุ) ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลารามที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่มีบาทในการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ท่านได้กล่าวถึงเหตุที่ก่อตั้งไว้ว่า
                 “การตั้งสวนโมกขพลารามไม่มีอะไรมาก เพียงแต่มองเห็นว่า ควรปรับปรุงการปฏิบัติธรรมเท่านั้น โดยการกลับไปหาของเดิมว่าการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นอย่างไร เพื่อรื้อฟื้นพระพุทธศาสนากลับมาสู่สภาพเดิมเหมือนครั้งพุทธกาล”
                   จินดา  จันทร์แก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาไว้เมื่อปี 2533 ว่า “ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปี ท่านได้มีบทบาทในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมให้คล้ายกับสมัยพุทธกาล เช่น จัดสถานที่ให้ร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นลานหินโค้ง โบสถ์บนยอดภูเขาพุทธทอง หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นๆ จะใช้เป็นอุปกรณ์การสอนธรรมะได้ทั้งสิ้น และได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาออกเผยแผ่มากมาย เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้ชาวโลกได้รู้จัก       และนำไปปฏิบัติ
8

ผลงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ได้จัดพิมพ์เผยแพร่มีมากมาย เช่น ชุดธรรมโฆษณ์ จำนวน 50 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือในลักษณะสารานุกรม มีเนื้อครอบคลุมเรื่องปรมัตถธรรม
                  ส่วนธรรมปราโมทย์เขียนในหนังสือ ตามรอยพุทธทาสภาคผลงานเมื่อปี 2549 ว่า “พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ)ได้สร้างคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย ผลงานของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น ลาว ศรีลังกา ธิเบต โดยเฉพาะส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ มีมากกว่า 20 เรื่อง เช่น คู่มือมนุษย์ ภาษาคน – ภาษาธรรม วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมได้ถูกนำไปตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ wcstminster ประเทศสหรัฐอเมริกา”
                 ในขณะที่พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมมจิตโต)เขียนในหนังสือ พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ) บุคคลสำคัญของโลก ปี 2549 ว่า  “  หนังสือเรื่อง “แก่นพุทธศาสน์” ที่พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ)ได้แสดงปาฐกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม ( ศิริราช ) ในอุปการะของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2504  ได้รับรางวัลชนะเลิศ “หนังสือดีประจำปี 2508” จากองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เป็นผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ international understanding ที่สำคัญคือ เป็นไปเพื่อสันติภาพของโลก จึงมีคำประกาศเกียรติคุณยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) เป็นบุคคลสำคัญของโลก”
                      
ข้อวัตรปฏิบัติของพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )
                    พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) มีวัตรปฏิบัติเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยึดหลักที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ คือ การหนุนหมอนไม้ ท่านได้ปฏิบัติและเชิญชวนพระภิกษุตลอดเวลา เพื่อเป็นเครื่องปฏิบัติโดยถือหลัก ชาคริยานุโยค เป็นการปฏิบัติเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านให้ความสำคัญในพุทธวจนะที่ว่า “กลิงค รูปทาน ภิกขเว วิหารถ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีท่อนไม้เป็นหมอนเถิด เมื่อมีต้นไม้เป็นหมอน มารจักไม่เปิดโอกาส” เรื่องของการเป็นอยู่ในการปฏิบัติธรรมในเรื่องอื่นๆ ท่านยังเน้นความเป็นอยู่ที่ให้เข้ากันได้กับธรรมชาติที่ว่า “กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง”

แนวคิดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                   พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )มุ่งเน้นปณิธาน 3 ประการเป็นหลักในการปฏิบัติงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ
9
1.        การทำให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติดีและตรง เป็นธรรม
สมควรแก่การหลุดพ้น เพื่อสนองพุทธประสงค์โดยตรงอย่างแท้จริง
2.        การทำความเข้าใจระหว่างศาสนานี้เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะโลกนี้มีมากศาสนา
เท่ากับขณะของคนในโลกเพื่อจะอยู่ร่วมโลกกันได้โดยสันติ และทุกศาสนาล้วนแล้วแต่สอนความไม่เห็นแก่ตัว จะต่างกันบ้างก็แต่วิธีการเท่านั้น
3.        การทำโลกให้ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม หรือรสอันเกิดจากวัตถุนิยมทางเนื้อ
หนังนั้น ควรเป็นกิจกรรมแบบสหกรณ์ของคนทุกคนในโลกและทุกศาสนา เพื่อโลกจะเป็นโลกสะอาด สว่าง สงบ จากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน     

บทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา   
                 การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบอย่างจริงจัง  โดยพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข โดยการแนะนำแนวทางการดำเนินชีวิตที่มีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เช่น       การให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติธรรมด้วยการทำงานตามหน้าที่มีอยู่ตามสถานภาพทางสังคม ท่านจะเน้นให้คนรักษาธรรมเอาไว้ เพราะธรรมเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของทุกๆอิริยาบถ ถ้าทำถูกต้องแล้ว   จะไม่ถูกความทุกข์ขบและกัด ท่านจะใช้คำว่า ไม่กัดเจ้าของ ซึ่งคำที่ท่านจะเน้นมากที่สุดคือ การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม
                    การตั้งโรงเรียนพุทธนิคมเมื่อปี 2479 เกิดขึ้นจากดำริของพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )ให้คณะธรรมทานไชยา และธรรมทาส จัดให้มีกิจกรรมโรงเรียนสายสามัญขึ้น เนื่องจากที่ตลาดเมืองไชยายังขาดโรงเรียนเด็กเล็กชั้นประถม ต้องไปเรียนที่สารภีอุทิศ ท่าโพธิ์ หรือที่โรงเรียนวัดพระธาตุ เป็นระยะทางถึง 2 กิโลเมตร จึงให้มีการจัดตั้งขึ้นที่บ้านธรรมทาน หมู่ที่ 3 ตำบลพุมเรียง โดยมุ่งหมายจะปลูกฝังนิสัยแห่งธรรมในจิตใจของยุวชน ดังคำกล่าว ของพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )ที่ว่า ศีลธรรมของยุวชน คือสันติภาพของโลก
   
เทคนิคและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                    การอบรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) ท่านได้นำเอาสื่อต่างๆมาปรับปรุงให้น้อมเข้ามามองตัวเองก่อนจะไปมองสื่ออย่างอื่น ดังตัวอย่าง การสร้างสื่อทางธรรมะ คือโรงมหรสพทางวิญญาณ แต่ละภาพจะใช้ความคิดของตัวเองเป็นหลักในการตีความหมาย เป็นการศึกษาธรรมะด้วยตัวเองโดยไม่รู้ตัว และสิ่งที่เป็นเครื่องศึกษาธรรมมากมายที่สวนโมกขพลารามล้วนมาจากความคิดของท่านที่ต้องการสื่อธรรมให้คนได้มาศึกษากลับไปอย่างคนได้ดวงตาที่สว่างทั้ง 9 ตา คือตาแห่งปัญญา

10
                     
                    นอกจากนี้ยังเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเที่ยวเทศนาสั่งสอน การใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อศิลปะ สื่อเอกสาร สิ่งพิมพ์ ฯลฯ
                     
บทบาทด้านกลุ่มบุคคลในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                   1.การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศ
                     การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศนั้น พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )จะใช้สวนโมกข์นานาชาติให้เป็นการอบรมซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนกับสวนโมกขพลาราม ภายในจัดสถานที่ไว้เหมาะสมและมีธารน้ำรอนสำหรับใช้ชำระร่างกาย การอบรมชาวต่างชาติจะอบรมทุกวันที่ 1-10 ของทุกเดือน โดยจะมีพระภิกษุ และฆราวาสที่ประจำอยู่ที่สวนโมกขพลารามรับผิดชอบกันไปในแต่ละช่วง
                   2. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวไทย
                   สำหรับที่เป็นพระภิกษุมีการอบรมปานาสติภาวนาในค่ายลูกเสือในช่วงต้นเดือนของทุกเดือน เว้นในช่วงเข้าพรรษา ส่วนอุบาสก อุบาสิกาไปอบรมที่ธรรมมาตา แต่ต้องมีการคัดเลือกด้วยในการอบรมแต่ละครั้ง ซึ่งจะอบรมทุกวันที่ 20 - 26 ของทุกเดือนเพื่อชี้หลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาตามที่พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )ได้วางหลักไว้
                   3. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามโครงการขององค์กร
 แบ่งเป็นการอบรมระยะสั้น คือ การอบรมธรรมที่มีเวลาเพียง 1 – 2 วัน กิจกรรมที่สวนโมกข
พลารามจัดให้หน่วยงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการฟังธรรมบรรยายที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งผู้เข้าอบรมมีเวลาน้อย แต่จะได้ความรู้มาก ที่โรงมหรสพทางวิญญาณมีพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบบรรยายภาพปริศนาธรรมให้เชื่อมโยงกับหลักธรรม  การอบรมระยะยาว จะจัดการให้กับหน่วยงานที่แจ้งความประสงค์ขอเข้ารับการอบรมธรรมะ โดยที่หน่วยงานมีเวลาไม่ต่ำกว่า 5 วัน ทางสวนโมกขพลารามจะจัดอบรมให้ตามโครงการของสวนโมกขพลาราม คือการอบรมปานาสติภาวนา
               4.การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามโครงการพระธรรมทูต
โครงการอบรมพระธรรมทูตจะจัดขึ้นที่สวนโมกข์นานาชาติเป็นรุ่นๆ ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสามเณร
และบุคคลทั่วไป ในสมัยที่พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะอบรมด้วยตัวท่านเอง และจะใช้สถานที่ของค่ายธรรมบุตร คือค่ายลูกเสือในการอบรมแต่ละรุ่น ปัจจุบันเปิดสวนโมกขพลารามธรรมาศรมนานาชาติขึ้นอีก 1 แห่ง คือที่บ้านดอนเคี่ยม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับอบรมเฉพาะชาวต่างชาติโดยตรง โดยมีพระสันติกโร ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวเยอรมันที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
11

ผลของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                    1.ผลต่อบุคคลและกลุ่มบุคคล
                      พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) ในตอนที่ท่านเป็นฆราวาส มีความสนใจในธรรมะมาก่อน เรียกว่า นักเลงธรรมะ เพราะท่านได้กัลยาณมิตรที่ดี คือพระลัด ทุ่ม อินทโชโต เป็นเจ้าอาวาสวัดนอก พระครูศักดิ์ ธมมรกขิโต เจ้าอาวาสวัดหัวคู ( วินัย ) ท่านพระปลัด ครูศักดิ์เป็นพระ แต่เป็นที่นับถือของโยมมารดา ท่านได้คอยให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทางอยู่ตลอดเวลา ประคับประคองจนกระทั่ง พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )ที่เมื่อก่อนคิดจะสึก แต่สุดท้ายสามารถอยู่ในเพศบรรพชิต ทำหน้าที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาต่อไป
                     2.ผลต่อสังคม
                     พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) เป็นนักคิดอัจฉริยะของไทย มีผลงานด้านตำรามากมายให้ชาวไทยและชาวโลกได้ศึกษา ท่านตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าให้สอดคล้องกับคนร่วมสมัย ด้วยปรัชญาและความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณของท่าน ระบบความคิดของพระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ )เด่นชัดและสอดคล้องกับศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต ญาณทัศนะวิทยาและจริยธรรม ท่านเป็นปัจเจกบุคคลอยู่ในโลก โดยไม่หลีกเร้นจากโลก แต่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
                    3.ผลต่อพระพุทธศาสนา
                     สวนโมกขพลารามเป็นสถานที่สร้างพระภิกษุที่อยู่ในระเบียบของพระธรรมวินัย อยู่อย่างสงบ มีความสันโดษ ในสวนป่าที่เป็นกำลังแห่งการหลุดพ้น นอกจากนี้สวนโมกขพลารามยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา เช่น  การสวดมนต์ภาวนา การฝึกสมาธิ การกินอาหาร รวมถึงการทำงานตามหน้าที่ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นแห่งสภาวะของการมีตัวตน
                   สรุป จากบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และการเป็นผู้ที่รอบรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งยากที่จะมีพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือน พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) จึงมิได้เป็นเพียงปูชนียบุคคลของไทยเท่านั้น หากยังเป็นปูชนียบุคคลของโลกอีกด้วย สังคมตะวันตกยกย่องท่านเป็นดั่งประทีปแห่งเอเชีย

                 พระธรรมโกศาจารย์ ( พุทธทาสภิกขุ ) เป็นบุคคลสำคัญของโลกตามที่องค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติยกย่อง แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วเมื่อปี 2536 แต่บทบาทในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและ ผลงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมากมาย  นามนี้จึงอยู่ในใจของชาวพุทธไปตราบนานเท่านาน